ประเทศเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศเอเชียที่มีขนาดประมาณหนึ่งแสนตารางกิโลเมตร มีขนบธรรมเนียมละม้ายคล้ายคลึงกับประเทศในเอเชียตะวันออกทั่วไป แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบเกาหลี มีความเข้มแข็งและน่าจดจำหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพทางเทคโนโลยี ภาพลักษณ์วัฒนธรรม ความสามารถด้านกีฬา สื่อ ภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
รวมไปถึงบทบาทด้านกองทัพของเกาหลีใต้ก็มีประสิทธิภาพระดับสากล เป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธที่่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังพลกว่าห้าแสนนายซึ่งพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทันที งบประมาณด้านการป้องกันก็สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับกองทัพที่มีประสิทธิภาพระดับโลกคือ ‘สายการบังคับบัญชา’ เมื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องการให้คุณไปประจำอยู่ที่ชายแดนประเทศ ผู้บังคับบัญชาคงไม่โทรหาคุณโดยตรง แต่จะโทรหากระทรวงกลาโหม หลังจากนั้นกระทรวงก็จะโทรมาที่เลขานุการกองทัพ และต่อลงมาเรื่อยๆ จนถึงตัวคุณ
เมื่อทหารอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือจากผู้อาวุโสถือเป็นคำขาด หน้าที่ของยศชั้นผู้น้อยคือทำตามคำสั่งทันทีที่ได้รับ หลายท่านคงเคยได้ยินวาทกรรมแบบฉบับทหารอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อกำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์คับขัน การตั้งข้อสงสัย ลังเลในคำสั่ง แม้เสี้ยววินาทีก็สามารถทำให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของสถานการณ์
แล้วถ้าเกิดคำสั่งของผู้อาวุโสเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักจริยธรรม สิทธิพื้นฐาน หรือเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมกับตัวเรา การขัดขืนต่อระบบอาวุโสจะถูกมองว่าเป็นคนไร้มารยาท เป็นพลทหารที่บกพร่องในหน้าที่ หรือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญที่ยืนหยัดบนหลักของความถูกต้องกันแน่
ดังเช่นกรณีของ ‘บยอน ฮุย ซู’ ทหารที่ถูกปลดออกจากราชการทหาร เพราะเขา ‘แปลงเพศ’ ยกประเด็นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เที่ยงธรรมต่อบุคคลที่มีเพศสภาพอื่น โดยประเด็นนี้สามารถแยกออกมา และตั้งคำถามไปยังเหล่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้อาวุโสในกองทัพได้อีกว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับทหารที่มีเพศสภาพอื่น ?
กองทัพเกาหลีใต้แบ่งแยกกลุ่ม LGBTQ+ อย่างชัดเจน ผู้ที่มีเพศสภาพอื่นนอกจากเพศชายหรือหญิงจะถูกปฏิบัติแตกต่างออกไป ในมุมมองของกองทัพ ผู้ที่อายุถึงเกณฑ์และต้องมารายงานตัวกับกองทัพแต่ว่าหากเป็น LGBTQ+ จะถูกจัดอยู่ในประเภท ‘พิการทางจิต’ หรือ ‘ผิดปกติทางบุคลิกภาพ’
ภายใต้มาตรา 92-6 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของทหารระบุอย่างชัดเจนว่า การกระทำทางเพศทั้งหมดของบุคคลที่มีเพศสภาพอื่นจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘การข่มขืน และ/หรือ ล่วงละเมิดทางเพศ’ ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และบทลงโทษคือจำคุกอย่างน้อย 2 ปี และสำหรับบุคลากรทางทหารที่มีความสัมพันธ์ในเพศเดียวกันจะถูกปลดออกจากตำแหน่งทันที มุมมองของกองทัพนั้นชัดเจน ไม่อ้อมค้อม และเป็นไปได้ค่อนข้างยากที่ผู้อาวุโสจะยอมอ่อนข้อให้ การตั้งคำถามของ บยอน ฮุย ซู นั้นสามารถมองไปในมุมก้าวร้าว และไร้มารยาทในสายตาเบื้องบน
“เมื่อกองทัพมีอคติ อีกทั้งกฎหมายยังเลือกปฏิบัติที่ชัดเจนขนาดนี้ คำถามก็คือนี่คือความยุติธรรมต่อ บยอง ฮุย ซู จริงหรือ ?”
บยอน ฮุย ซูนั้นตั้งใจที่จะเป็นทหารมาตั้งแต่แรกเพราะเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก หลังจากที่ได้เข้ากองทัพก็ไม่เคยวางแผนที่จะแปลงเพศมาก่อน แต่ว่าตัวของเธอนั้นมีปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่าง หนึ่งในปัญหาทางจิตคือสภาวะที่ไม่มีความสุขต่อเพศสภาพของตัวเอง ทำให้เกิดความกังวลอย่างหนัก จนเกิดความสับสนความขัดแย้งในเพศสภาพ และอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เธอได้เข้าไปปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลทหาร และได้คำแนะนำให้ไปผ่าตัดแปลงเพศและเมื่อผ่าตัดเสร็จเธอก็วางแผนที่จะกลับมารับใช้ราชการทหารในฐานะทหารหญิง แต่แล้วผลลัพธ์ที่กองทัพปฏิบัติกับเธอก็เป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า การสูญเสียอวัยวะเพศชายจะถูกจำแนกเป็นผู้พิการทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สุดท้ายก็เป็นเรื่องราวฟ้องร้องกันเกิดขึ้น
ประเทศเกาหลีใต้นั้นยังห่างไกลกับประเทศในอุดมคติของชาว LGBTQ+ ทัศนคติของประชาชนในประเทศนี้ยังเสียงแตกอย่างชัดเจน การรักร่วมเพศหรือกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนเพศสภาพของตัวเองนั้นยังถูกมองเป็นเรื่องวิกลจริต และไม่เป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ควรจะเป็น ผู้ที่นับถือศาสนาก็จะมองว่าเป็นเรื่องบาป และกฎหมายก็ยังไม่รับรองการสมรสของเพศเดียวกันอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น สายรุ้งแห่งความหวังยังสามารถผลิบานและส่งต่อไปได้ถึงแม้จะมีแค่เศษเสี้ยวก็ตาม
ปัจจุบันการจัดกิจกรรมของชาว LGBTQ นั้นถือว่าไม่ผิดกฎหมายและเริ่มมีอัตราขยายตัวมากขึ้น การเดินพาเหรดของ LGBTQ เป็นการแสดงถึงความหวังที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมไปถึงมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้ามาช่วยเหลือ บยอน ฮุย ซู ถึงแม้จะถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสื่อมเสียให้แก่กองทัพก็ตาม…กาลเวลากำลังเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวเกาหลีใต้
ความกล้าหาญในสายตาชาวเสรีนิยมของ บยอน ฮุย ซู ที่กล้าตั้งคำถามต่อความยุติธรรมที่ตัวเขาควรจะได้รับกำลังเป็นจุดสนใจของชาวโลกว่า เหตุการณ์นี้สามารถเป็นตัวจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และคำตัดสินของกองทัพนั้นเป็นการตัดสินที่ยุติธรรมแล้วจริงหรือ ?
ความยุติธรรมมันไม่เรียบง่ายเหมือนกฎในหนังสือ
จะไม่มีความยุติธรรมหากกฎหมายไม่มีความยืดหยุ่น
แม้การดำรงชีวิตของเราเองก็ยังมีข้อยกเว้น
___________________________________________________________________________________
Sources :
https://www.bbc.com/thai/international-51212383
https://www.latimes.com/world-nation/story/2020-01-22/south-korea-orders-dismissal-of-transgender-soldier
https://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_orientation_and_gender_identity_in_the_South_Korean_military