13 มิถุนายน 2563 คือวันที่ ซาร่า เฮกาซี่ (Sarah Hegazi) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ LGBTQ ชาวอียิปต์ ตัดสินใจจบชีวิต เพียงเพราะเธอโบกธงสีรุ้งในคอนเสิร์ต
ถึงญาติพี่น้องของฉัน ฉันพยายามหาหนทางเพื่อหลุดพ้นแล้ว แต่ฉันล้มเหลว อภัยให้ฉันเถอะ
ถึงเพื่อนของฉัน เส้นทางนี้มันช่างโหดร้ายและฉันก็อ่อนแอเกินกว่าจะสู้ อภัยให้ฉันเถอะ
ถึงโลกใบนี้ คุณช่างโหดร้ายและน่ากลัว แต่ฉันให้อภัย
ข้อความข้างต้น เป็นข้อความในจดหมายของ Sarah Hegazi นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว LGBTQ+ ชาวอียิปต์ ที่ถูกจับกุมและทรมานนับหลายเดือน สาเหตุเพียงเพราะ เธอโบกสะบัดธงสีรุ้งในงานคอนเสิร์ตที่สื่อความหมายถึง LGBTQ+ เพื่อแสดงความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ ในงานคอนเสิร์ต Mashrou ‘Leila วงดนตรีจากเลบานอน ที่จัดขึ้นกลางกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
ปี 2017 ตำรวจอียิปต์ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี ‘Abdel Fattah al-Sisi’ จับกุมชาว LGBTQ+ ราวสิบคน ด้วยข้อหา “เข้าร่วมกลุ่มที่ผิดกฎหมาย ส่งเสริมยุยงความคิดค่านิยมที่ผิดกฎหมาย” และ “ส่งเสริมการเบี่ยงเบนทางเพศ พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม”
ในช่วงที่ซาร่าถูกจับ เธอทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในอียิปต์ โดยเธอบอกว่า เจ้านายของเธอได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคง บังคับให้ไล่เธอออกทันที เพราะใครก็ตามที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนกับความมั่นคงแห่งชาติ พวกเขาจะทำลายชีวิตคนนั้นจนสิ้นซาก
“พวกเราภูมิใจที่ได้โบกสะบัดธงสีรุ้ง โดยที่คาดไม่ถึงเลยว่า ปฏิกิริยาจากสังคมและทางภาครัฐจะมองว่าฉันเป็นอาชญากร… เป็นคนที่พยายามทำลายโครงสร้างศีลธรรมของสังคม”
“ฉันออกจากเรือนจำพร้อมกับอาการสภาวะป่วยทางจิตใจอย่างรุนแรง เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือน (Post-Traumatic Stress Disorder) คุกได้ฆ่าฉันตายไปแล้ว ทำลายฉันจนสิ้นซาก”
ซาร่าได้ให้สัมภาษณ์กับ NPR สื่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในร้านกาแฟกลางเมืองไคโร เธอก้มหน้าลงตลอดเวลาและไม่กล้าสบตาใคร เธอยิ้มให้เห็นอยู่แค่ครั้งเดียวคือตอนถ่ายรูปเท่านั้น ซาร่าเสริมอีกว่าอาการทางจิตใจของเธอแย่มาก บางครั้งเห็นภาพหลอนของคนที่สามารถพูดคุยกับเธอในเรื่องต่างๆ และไม่ทำร้ายเธอ ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังกล่าวถึงการพยายามจบชีวิตของเธออีกด้วย
ซาร่าได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ madamasr.com บอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายระหว่างและหลังจากถูกปล่อยออกจากเรือนจำ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าคนไหนก็ตาม และเราอยากขอให้ทุกคนใช้วิจารณาญาณในการอ่านข้อความต่อจากนี้
ซาร่าถูกทรมานด้วยการช็อตไฟฟ้า และถูกขู่ว่าจะทำร้ายครอบครัวของเธอหากเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปบอกคนอื่น…
เธอถูกช็อตไฟฟ้าหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นที่สาแก่ใจสำหรับผู้คุม เธอทั้งถูกข่มขืน โดนทำร้ายร่างกายและจิตใจ โดนถ้อยคำฉีกกระชากจิตวิญญาณทั้งเป็น
เธอถูกขังในห้องขังเดียวนานหลายวัน หลังจากนั้นก็ถูกนำไปขังในห้องขังกับผู้หญิงอีกสองคน โดยผู้หญิงสองคนนั้นถูกสั่งไม่ให้คุยกับเธอและเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมกลางแจ้งใดๆ ทั้งสิ้น เธอไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันเลยตั้งแต่ย่างก้าวเข้ามาในคุก จนเธอสูญเสียความสามารถในการสบตาผู้คน
“ในระหว่างที่ถูกสอบสวน ปรัศนีบอกให้ฉันยืนยันด้วยหลักฐานว่า เพศสภาพที่ฉันเป็นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโรค ทนายของฉันก็ต้องวิ่งเต้นไปยัง WHO ซึ่งทาง WHO ก็ออกบันทึกเพื่อชี้แจงมาให้ว่า เพศสภาพของฉันไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะโรคร้ายใดๆ รวมไปถึง United Nation ที่ออกบันทึกมาให้ด้วยว่า การเคารพความพึงพอใจทางเพศถือเป็นสิทธิมนุษยชน แต่พวกเขาไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ซ้ำยังมีคำถามแปลกๆ อีกว่า
ฉันยังบริสุทธิ์อยู่หรือเปล่า ?
พวกรักร่วมเพศนี่เป็นเหมือนกับคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ?
พวกรักร่วมเพศนี่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก กับสัตว์อะไรพวกนี้ใช่ไหม ?
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมความคิดของคนเหล่านี้ถึงมีกรอบจำกัด คนเหล่านี้คงคิดว่าโลกกำลังวางแผนต่อต้านอียิปต์ หรือเพศทางเลือกเป็นเหมือนศาสนาที่มีลักษณะชวนผู้คนเพื่อเข้าร่วม”
ผลกระทบจากการถูกทรมานและถูกขังคุกนั้นเกินกว่าจะรับไหว ความกลัวได้แทรกซึมเข้าสู่จิตใจของซาร่าแบบชนิดที่ว่าตัดไม่ขาด ซาร่าเขียนในบทความของเธอว่า เธอกลัวไปหมดทุกอย่างหลังจากที่ถูกปล่อยออกจากเรือนจำ กลัวผู้คนทุกคนแม้กระทั่งครอบครัวและเพื่อนๆ ของตัวเอง กลัวถนนหนทาง ความกลัวจะนำหน้าเธอตลอดเวลา ทั้งยังมีอาการติดอ่าง ไม่กล้าออกจากห้อง ไม่อยากพบปะผู้คน และความทรงจำของเธอก็แย่ลงไปอีก
นี่คือผลลัพธ์จากความรุนแรงที่ทางภาครัฐอียิปต์กระทำต่อซาร่าโดยมีความเชื่อทางศาสนาเป็นที่ตั้งของสังคม ท้ายที่สุดเธอก็จบชีวิตของตัวเองลงเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2020 พร้อมกับจดหมายลาตายที่เขียนไว้ข้างต้น…
“The sky is sweeter than the earth! And I want the sky, not earth”
ข้อความก่อนจบชีวิตที่ซาร่าลงเป็นแคปชันคู่กับภาพสุดท้ายในอินสตาแกรม
ท้องฟ้านั้นหอมหวานกว่าพื้นดิน และฉันต้องการขึ้นไปอยู่บนฟ้ามากกว่ายืนบนพื้น
อิสรภาพในการแสดงออกทางเพศในประเทศอียิปต์ยังคลุมเครือ อียิปต์ไม่ได้มีกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องของเพศ แต่ชุมชุน LGBTQ+ นั้นถูกกระทำและถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง โดยใช้ศาสนา ศีลธรรม เป็นข้ออ้าง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า วิธีการละเมิดสิทธิของประธานาธิบดี Abdel Fattah al-Sissi นั้นเลวร้ายและป่าเถื่อนที่สุดในรอบหลายสิบปี รัฐบาลชุดนี้ได้จับกุมชาวอียิปต์ไปกว่าหมื่นคน บ้างถูกคุมขัง บ้างก็หายสาบสูญ บ้างก็ถูกบังคับให้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเฉกเช่นกรณีของ Sarah Hegazi
“ฉันจะไม่มีวันลืมความอยุติธรรมที่ฝังลึกในจิตใจ หลุมดำกลางจิตวิญญาณที่นองไปด้วยเลือด หลุมที่ไม่มีหมอคนไหนสามารถรักษาได้”
Sources : english.alaraby.co.uk
npr.org
reddit.com
madamasr.com