เรียนรู้จากพระราชพิธีพระบรมศพ โบราณราชประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา - Urban Creature

เวลาคือหนึ่งสิ่งที่ไม่สามารถถูกหยุดเอาไว้หรือย้อนกลับไปได้ แต่เวลาสามารถถูกเก็บเอาไว้ได้ เก็บเอาไว้ด้วยรูปภาพ ข้อความ และความทรงจำ และสำหรับประเทศที่มีรากเหง้ามาช้านานอย่างประเทศไทยเรานั้น เวลาถูกรักษาเอาไว้ด้วย “ประเพณี”

ประเพณีก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ย่อมแปรผันไปตามกาลเวลา บางอย่างก็ยังคงเดิม แต่บางอย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย ไม่เว้นแม้แต่โบราณราชประเพณี ประเพณีที่ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาสำหรับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยโบราณกาล ที่วันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนเช่นกัน ซึ่งเราได้เรียนรู้และตระหนักถึงวันเวลาที่เปลี่ยนไปของประเทศไทยผ่านงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพเป็นราชประเพณีที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพที่อวตารลงมายังโลกมนุษย์เพื่อคุ้มครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์เมื่อสวรรคต. งานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นไปตามโบราณราชประเพณีตั้งแต่สมัยอยุธยา หากแต่มีการปรับเปลี่ยนและลดทอนบางอย่างลงตามกาลเวลาและความเหมาะสม รวมถึงการสุกำพระบรมศพ (การห่อและมัดตราสังข์) และการสร้างพระเมรุมาศ

ตามโบราณราชพิธีแล้ว พระบรมศพจะต้องถูกบรรจุในพระบรมโกศ. พระบรมโกศ พระโกศ คือที่ใส่พระบรมศพ และพระศพเจ้านาย ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ ตามคตินิยมของพราหมณ์ที่เชื่อว่า ต้องตั้งพระศพในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งพระศพและพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ แต่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโบราณราชประเพณีนี้ ท่านทรงมีพระกระแสรับสั่ง ว่าท่านทรงมีพระประสงค์มิลงประทับในพระบรมโกศ เนื่องจากในคราเมื่อท่านทำพิธีสรงน้ำพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 7 ท่านได้ทรงอยู่ทอดพระเนตร และได้ทรงเห็นพิธีสุกำหรือการมัดพระบรมศพอันเชิญลงในพระโกศ ซึ่งเป็นไปด้วยความทุลักทุเลอย่างมาก ท่านทรงตรัสสั่งออกมาว่า

“อย่าทำกับฉันอย่างนี้ อึดอัดแย่”

เมื่อคราที่ท่านเสด็จสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประทับในหีบพระศพ เช่นเดียวกันกับ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ก็เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ ที่จะทรงประทับยังพระหีบ มิได้ลงประทับลงพระบรมโกศเฉกเช่นเดียวกันกับพระมารดา

พระโกศทองใหญ่ (รัชกาลที่ 5)
พิธีสรงน้ำพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 7

การสร้างพระเมรุมาศก็เช่นกัน ในสมัยโบราณนั้นนิยมสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่โตเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย พระเมรุมาศหรือพระเมรุใหญ่ ครอบด้านนอกและพระเมรุทองหรือพระเมรุน้อย อยู่ด้านใน สำหรับพระเมรุมาศที่ทำสถิติสูงที่สุด ได้แก่ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดารสมัยอยุธยาว่า
ขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา (๑๔ เมตร) ๒ ศอก (๑ เมตร) โดยสูง ๒ เส้น (๘๐ เมตร) ๑๑ วาศอกคืบ (๒๓ เมตร) มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่าง  สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง  (หมายเหตุ : 1 วา เท่ากับ 2 เมตร)

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

ต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคน และเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ ว่าผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร  ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งขนาดของพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 5 ก็ได้ถูกลดทอนลงไปตามพระราชประสงค์ จากพระเมรุมาศสูงใหญ่ทรงปราสาทซึ่งยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสิทนร์ในรัชกาลที่ 1-4 มาเป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกซึ่งมีแค่ชั้นเดียว ไม่ได้ถูกครอบด้วยพระเมรุมาศทรงปราสาทด้านนอกอีกต่อไป และพระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเพณีที่ต้องให้ประชาชนทั่วแผ่นดินโกนหัวไว้อาลัยยามที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จสวรรคตอีกด้วย สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถือได้ว่า เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณีเดิม ส่วนพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกตามแบบโบราณราชประเพณีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

งานพระราชพิธีพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นไปแบบครบสูตรตามโบราณราชประเพณีที่ถูกปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาและยุคสมัย ด้วยพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดอันสมพระเกียรติแก่พระองค์ท่าน โดยมีองค์ประกอบครบถ้วนตามสมควร แต่ไม่ได้มีรูปทรงและขนาดใหญ่มโหฬารเหมือนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตามความเหมาะสม และยังคงครบถ้วนด้วยโบราณราชประเพณีในพระราชพิธี แม้กระทั่งพระโกศในพระราชพิธีที่ยังคงเดิม เพียงแค่ไม่ได้บรรจุพระบรมศพไว้ภายในดั่งในอดีต ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน สำหรับงานพระราชพิธีพระบรมศพแล้ว ประชาชนชาวไทยและต่างชาติได้เห็นถึงความวิจิตรและละเอียดอ่อนของประเพณีไทยโบราณอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ยังคงองค์ประกอบที่สำคัญต่อประเพณี ความรู้สึก คุณค่าของจิตใจ และความหมายที่พระมหากษัตริย์มีต่อประชาชนไว้คงเดิม กับรายละเอียดบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนไปได้ตามพระราชประสงค์และยุคสมัย เมื่อมองลึกลงไปจากพระราชพิธีนี้ก็ได้เห็นว่าประเทศของเรานั้นยังสามารถเก็บรักษารากอันสวยงามผ่านประเพณีได้โดยไม่ต้องหยุดนิ่งและเดินหน้าไปได้พร้อมๆ กับกาลเวลา

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Photo Credits:
www.pantip.com
www.oknation.tv

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.