‘Kowloon Walled City’ อดีตสลัมลอยฟ้า - Urban Creature

The City of Darkness ดินแดนสนธยาแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่แออัดยัดเยียดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้กำแพงตึกสูงกว่า 14 ชั้น กลายเป็นแหล่งซุกซ่อนความลึกลับน่ากลัวเอาไว้มากว่า 27 ปี แต่ผู้คนในเมืองนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น เมื่อเรื่องราวของ Kowloon Walled City ถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ฮ่องกงไปตลอดกาล เหมือนเป็นการเซ่นไหว้ให้กับความเจริญที่กำลังคืบคลานเข้ามาพร้อมการปรับภูมิทัศน์ประเทศครั้งใหญ่ราวกับว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่

ปัญหาแหล่งอาศัยที่สวนทางกับประชากร

‘ฮ่องกง’ หนึ่งในประเทศมหาอำนาจแห่งภูมิภาคเอเชียที่มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และขึ้นชื่อในเรื่องค่าครองชีพที่แพงหูฉี่ติดอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและเหมือนจะหยั่งรากลึกจนเกินจะถอนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ด้วยประเทศฮ่องกงมีพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,100 ตารางกิโลเมตร แต่กลับมีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยเพียงแค่ 77 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับ 1 คน ต่อ 10 ตารางกิโลเมตร จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 7.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากและคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตอีกด้วย ซ้ำร้ายอัตราค่าเช่าก็ดันสวนทางกันกับขนาดของพื้นที่อยู่อาศัย ด้วยราคาที่ดินและอสังหาฯ ของประเทศนี้พุ่งทะยานสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีชาวฮ่องกงน้อยมากที่จะสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้

เพราะประชากร 1 ใน 5 ของประชากรฮ่องกงมีฐานะที่ค่อนข้างยากจน คนกลุ่มนี้จึงเหมือนถูกกดหัวให้เป็นแค่พวกชายขอบที่ไม่มีใครสนใจ จึงเป็นที่มาของเรื่องราวในอดีตของ ‘Kowloon Walled City’ สลัมลอยฟ้าชื่อดังกระฉ่อนของฮ่องกง พื้นที่ซึ่งมีความแออัดของประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

จบปัญหาข้อพิพาททางใครทางมัน

ประวัติศาสตร์ของ ‘Kowloon Walled City’ มีมาอย่างยาวนานเริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ราว ค.ศ. 960 – 1297 โดยเรื่องราวของปัญหาความยุ่งยากของที่นี่เกิดขึ้นหลังจากการลงนามสนธิสัญญานานกิงและข้อตกลงปักกิ่ง สืบเนื่องมาจากจีนได้พ่ายแพ้ ‘สงครามฝิ่น’ จึงเกิดเป็นข้อตกลงหวังว่าจะยุติสงครามกับทางอังกฤษได้โดยง่าย ทั้งการยอมจ่ายค่าชดใช้ต่างๆ ไปจนถึงการเปิดเมืองท่า แล้วยังต้องยินยอมให้เกาะฮ่องกงทั้งหมดกลายเป็นเขตเช่าของอังกฤษยาวนานถึง 99 ปี แต่ ‘Kowloon Walled City’ นี้เป็นเพียงส่วนเดียวที่ทางการจีนไม่ยอมยกให้กับประเทศอังกฤษ โดยจีนก็ยังอ้างสิทธิ์ในการถือครองพื้นที่แห่งนี้อยู่เสมอ เหมือนเป็นการหยามหน้าอังกฤษว่า “ต่อให้ได้พื้นที่เกาะฮ่องกงไปแต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด”

จึงส่งผลระยะยาวจนเป็นข้อพิพาทที่ไม่มีวันจบสิ้น สุดท้าย ‘Kowloon Walled City’ กลายเป็นพื้นที่เหนือกรรมสิทธิ์ของทั้งสองประเทศ ทั้งยังถูกแยกออกมาเป็นเอกเทศใจกลางเนินเขาอันแสนโดดเดี่ยว ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีใครเข้าไปสนใจจึงถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างไปช่วงเวลาหนึ่ง

สถาปัตยกรรมที่สถาปนิกไม่ได้ออกแบบ

หลังจากนั้นไม่นาน ที่ตั้งของเมือง ‘Kowloon Walled City’ ก็พบจุดเปลี่ยนอีกครั้งในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามายึดครองฮ่องกงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาได้ทำการรื้อถอนกำแพงเมืองเก่าออกไปเพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการสร้างสนามบินไขตั๊ก (Kai Tak Airport) ซึ่งหลังจากสงครามจบลงทำให้มีผู้อพยพจากจีนหลั่งไหลเข้ามามากมายเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะค่าเช่าของพื้นที่นี้อยู่ในระดับต่ำมาก และไม่จำเป็นต้องถือวีซ่า ไม่มีกฎหมาย ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือใบมีอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น

จนทำให้ที่นี่กลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่มีผู้อยู่อาศัยมากถึง 2,000 คน ส่งผลให้ความสูงของเมือง ‘Kowloon Walled City’ สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงที่พีกที่สุดก็น่าจะเป็นในช่วง ค.ศ. 1980 สถานที่แห่งนี้เริ่มทวีคูณความแออัดขึ้นทั้งจำนวนประชากรและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีการซอยห้องเช่าเล็กๆ ราคาเริ่มต้น 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อห้องขนาด 3.7 ตารางเมตร เพื่อให้คนเข้าอยู่อาศัยมากถึง 35,000 – 50,000 คนเลยทีเดียว

จนชาวเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ที่นี่มันช่างคับแคบและวุ่นวาย เบียดเสียดกันมากเกินไปจนในบางช่วงตึกไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้เลยก็มี” เพราะด้วยความอิสระ ใครจะต่อเติมอาคารส่วนไหนก็ทำได้ตามใจชอบ ไม่จำเป็นต้องจ้างสถาปนิกที่ไหนมาออกแบบให้ แต่ที่นี่มีกฎอยู่เพียงข้อเดียวคือ ความสูงของตึกที่ห้ามเกิน 14 ชั้น เพราะด้วยที่ตั้งนั้นอยู่ใกล้กับสนามบินไขตั๊ก จึงส่งผลให้ตัวอาคารที่เห็นจะกินพื้นที่ด้านข้างให้มากที่สุดเท่าที่จะขยายได้

เมื่ออันธพาลครองเมือง

ด้วยสภาพแวดล้อมที่จำกัดและอยู่เหนือกฎหมายไปซะทุกอย่าง จึงเอื้อประโยชน์ไปถึงเหล่าขบวนการอาชญากรรมที่เห็นช่องทาง และเลือกใช้ในการซ่องสุมกำลังพล ไปจนถึงแหล่งผลิตเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งคนที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังของเมืองนี้คือกลุ่มอาชญากรระดับโลก ที่มีเครือข่ายครอบคลุมหลายประเทศทั่วทุกสารทิศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามามีอำนาจ กลุ่มนักเลงก็เข้าสู่ยุคทรงอิทธิพลใน Kowloon Walled City ที่ไม่มีใครทัดทานได้ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากตำรวจหรือนักการเมืองบางกลุ่ม ที่คอยส่งส่วยยื่นหมูยื่นแมวกันอย่างอิ่มเอมใจ ซึ่งก้อนเงินเหล่านั้นมาจากการค้ายาเสพติดจำพวกเฮโรอีนหรือโรงงานฝิ่นที่มีฐานการผลิตลับๆ อยู่ใจกลางเมืองนี้ มันมากพอที่จะทำให้หลายฝ่ายปิดหูปิดตาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปได้ นี่ยังไม่รวมรายได้จากการค้ากาม ค้ามนุษย์ บ่อนการพนันอีกมากมาย จนเรียกได้ว่า อยากได้อบายมุขในรูปแบบใดก็มีครบจบที่ Kowloon Walled city ซึ่งมันร้ายแรงจนถึงขั้นที่ชาวฮ่องกงมักจะบอกลูกบอกหลานอยู่เสมอว่า “ห้ามเข้าไปใกล้บริเวณนั้นเด็ดขาดถ้ายังอยากมีชีวิตอยู่”

ระบบสาธารณูปโภคชวนขนลุก

เมื่อเลือกที่จะตัดขาดจากโลกภายนอก ก็ลืมไปได้เลยว่าสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการทางด้านสังคมคืออะไร

ไฟฟ้าริบหรี่ ระบบประปาขัดสน

สำหรับเมืองนี้ ระบบไฟฟ้าที่มีไม่ทั่วถึงบางจุดไม่มีเลย บางจุดก็ต้องปั่นกระแสไฟใช้เอง พีกที่สุดคือคนที่อยู่ชั้นล่างสุดอย่าหวังว่าจะเห็นเดือนเห็นตะวันกับเขาเลย ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงแน่นอน รวมไปถึงสายไฟระโยงระยางชำรุดเสียหายมีให้เห็นจนชินตากันในเมืองนี้ มาถึงระบบประปาล้วนอยู่หลายจุดมีสนิมเกรอะกรัง บางตึกในชั้นสูงๆ ไม่มีน้ำใช้แม้แต่หยดเดียว ต้องอาศัยการต่อสายยางหรือหอบน้ำขึ้นไปเท่านั้น

ขยะล้น ขยะรก แหล่งเชื้อโรค

เมื่อคนมากปัญหาขยะก็มากตามไปด้วย นี่ยังไม่รวมขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัสดุจำพวกเหล็กกล้าหรือโรงงานอีกมากมายที่คิดไม่ถึงว่าจะมีอยู่ที่นี่ อย่าหวังว่าจะมีใครจัดการเรื่องขยะ เพราะทุกคนเป็นอิสระ ใครอยากทิ้งตรงไหนก็ทิ้งจนเกิดปัญหาขยะล้นเมือง หมักหมม นำมาซึ่งแหล่งรวมความสกปรกและเป็นที่อยู่ของสัตว์พาหะนำโรคอีกนานาชนิด

เมนูลับเหนือความคาดหมาย

ใครจะเชื่อว่าที่นี่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของชาวฮ่องกง เพราะเป็นฐานการผลิตเมนูเด็ดมากมายทั้งหมูหัน เป็ดปักกิ่ง เส้นบะหมี่พร้อมลูกชิ้นปลาเลิศรส ที่ส่งออกขายกระจายทั่วไปบนเกาะฮ่องกง ส่วนพิเศษสุดเห็นทีจะเป็นภัตตาคารจีนวัตถุดิบลับ อย่างซุปเนื้อลูกสุนัขอายุไม่เกิน 6 เดือนที่ขึ้นชื่อลือชาเสียจนประเทศอังกฤษรับไม่ได้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินของชาวจีนถึงกับประกาศสั่งแบนไปเลย

โรงพยาบาลคนเถื่อน

เจ็บป่วยก็มีโรงพยาบาลส่วนตัว แต่โรงพยาบาลนี้ไม่รับประกันความปลอดภัย เพราะไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนจีนหรือแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งนั้น แต่น่าตกใจตรงที่มีธุรกิจการทำคลอดเพื่อค้าทารกส่งไปยังต่างประเทศด้วย

ภาพลักษณ์ใหม่ไม่สามารถลบล้างอดีตได้

ในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกพิพากษาให้จบสภาพความเป็นเมืองลงเมื่อ ค.ศ. 1987 เมื่อรัฐบาลจีนร่วมมือกับทางอังกฤษ ประกาศให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด หลังจากกระบวนการขับไล่ที่มีมาอย่างยาวนานและเป็นไปอย่างยากลำบากต้องใช้เวลาอีกกว่าเกือบ 10 ปีในการกวาดต้อนชาวเมืองออกไปอย่างไม่เต็มใจ เกิดการประท้วงตามมาอีกหลายระลอก

การรื้อถอนก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อชาวเมืองกลุ่มสุดท้ายได้ตัดสินใจย้ายออกไป ตึกทั้งหมดถูกทุบราบเป็นหน้ากลอง ต่อมาใน ค.ศ. 1995 สวนสาธารณะ Kowloon Walled City Park ก็ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันชาวเมืองบางส่วนยังไม่ได้รับเงินชดเชยเลย บ้างก็ได้รับแต่ก็เป็นเงินจำนวนน้อยนิด ไม่เพียงพอแก่การหาที่อยู่ใหม่ได้ แม้ได้เงินชดเชย เงินส่วนนี้ก็สามารถใช้จ่ายค่าเช่าได้เพียงไม่กี่เดือนในโลกภายนอก ผู้คนต่างระหกระเหินออกไปด้วยความสิ้นหวังเมื่อทุกอย่างพังลง เพราะชาวเมืองนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน ด้วยปัจจัยทางสังคมและชนชั้นหลายอย่างกดดันให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยความจำเป็น แม้ว่าจะมีความหวังว่าสักวันหนึ่งคงจะลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่แคล้วจะถูกบีบอยู่ในกำมือของเหล่านายทุนและผู้มีอิทธิพลที่รุมทึ้งจิกกินผลประโยชน์จากเมืองนี้ทั้งสิ้น

จึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ หากรัฐบาลจีนมีความเด็ดขาดตั้งแต่แรก ไม่เล่นเกมการเมืองกับอังกฤษ หรือซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรมมาอย่างยาวนาน พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้บนเกาะฮ่องกงก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดประชาชนก็เป็นเพียงแค่หมากตัวหนึ่งในเกมนี้ที่ต้องคอยก้มหน้ารับกรรมกันไปเท่านั้นเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.