Kotcher แบรนด์ผ้าไทยอีสานผสมผสานแฟชั่นสตรีทแวร์ - Urban Creature

Kotcher (ก้ชเช่อร์) คือแบรนด์สตรีทแวร์จาก ‘ผ้าไทยทอมือ’ ของ ‘อาย-กชกร สาระกุมาร’ สาวสารคามที่บอกกับเราว่า

“เสน่ห์ของผ้าไทยคือการที่คนหยิบขึ้นมาใส่” 

สิบโม่งเซ่าในวันจันทร์ ที่ร้านกาแฟ จังหวัดขอนแก่น เสื้อสีเขียวนีออนมองเห็นมาแต่ไกล พร้อมรอยยิ้มหยีสดใส นั่นคือการมาถึงของ ‘อาย’ เจ้าของแบรนด์ ดีไซเนอร์ มาร์เก็ตติง ประสานงาน คนขาย เรียกง่ายๆ ว่า อายเป็นทุกอย่างของ Kotcher แล้ว อายหยิบชุดผ้าไทยสตรีทแวร์ที่เธอภูมิใจขึ้นมาโชว์ ก่อนเล่าเรื่องราวของแบรนด์ตั้งแต่เริ่มคิด เริ่มออกเดินทางไปหาผ้าฝ้ายทอมือที่ชุมชนท่าแร่ จังหวัดมหาสารคาม ไปจนถึงขั้นตอนการดีไซน์เป็นแฟชั่นสตรีทแวร์ที่เก๋ ชิก แบบฉบับพี่ไทยให้ฟัง

ชอบผ้าไทย คลั่งสตรีทแวร์ และต้องแตกต่าง | จุดเริ่มต้นของ Kotcher 

อาย : ปัจจุบันมีแบรนด์ที่นำผ้าไทยมาประยุกต์เยอะมาก ถ้าสังเกตตามโซเชียล ส่วนมากเราจะเห็นผ้าไทยในรูปแบบของการใส่ไปทำงานหรือใส่บางโอกาส เพราะบางองค์กรจะรีเควสให้พนักงานแต่งกายด้วยผ้าไทยไปทำงานเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งน่าจะมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ตรงนี้เยอะ หรืออีกทางก็เป็นชุดที่ใส่สบาย น่ารักๆ ไปเลย แต่แบรนด์ผ้าไทยในรูปแบบสตรีทแวร์ยังเห็นได้น้อย บวกกับเราเป็นคนชอบผ้าไทย และชอบสไตล์ที่เป็นสตรีทแวร์อยู่แล้ว เลยหยิบสองอย่างนี้มาผสมกัน คือมันเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างแบรนด์ที่มันแตกต่าง เกิดเป็น Kotcher ขึ้นมา

ซึ่งแม้เราจะจบออกแบบนิเทศศิลป์ แต่ก็ได้เรียนการออกแบบทุกแขนง อย่างอาจารย์จะให้เราทำโปรเจกต์ตอนเรียน ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไร ด้วยความชอบผ้าไทยเนอะ เราก็จะเอาผ้าไทยมาปรับใช้ด้วยตลอด ตอนทำธีสิสเราก็ทำผ้าไทย คือของเราเรียนเป็นนิทรรศการกับแพ็กเกจจิ้ง อาจารย์ก็จะเน้นให้ทำนิทรรศการกับแพ็กเกจจิ้งเลย แต่ว่าเราอยากทำแฟชั่นไง ก็เลยทำทั้งหมดเลย แพ็กเกจจิ้งด้วย นิทรรศการด้วย แฟชั่นด้วย ก็คือสู้ตายไปเลยขอให้ได้ทำ (หัวเราะ) อาจารย์ก็ค้านอยู่นะ แต่เราไม่ฟัง บอกไปว่า หนูขอทำแฟชั่นเป็นองค์ประกอบเล็กๆ แล้วกันค่ะ แต่สุดท้ายคือมีเดินแฟชั่นแบบอลังการ เป็นแนวสตรีทแวร์ ไปลงชุมชนหาผ้าเต็มที่

Kotcher | ชื่อที่มาจากตัวตน

อาย : Kotcher (ก้ชเช่อร์) เป็นคำดัดแปลงที่มาจากชื่อของเราเอง คือ Kotchakorn ซึ่งอยากให้ง่ายต่อการเรียกจึงตัดบางคำออกแล้วเติมอีกคำลงไป เกิดเป็นคำใหม่ เราใช้ชื่อแบรนด์ไว้แทนกลุ่มคนที่แต่งตัวในสไตล์ Feminine Street ที่ยังคงใช้ผ้าไทยเป็น Material

ก้ชเช่อร์เป็นสาวที่ชอบแต่งตัว มีความหวานซ่อนเปรี้ยว น่ารักๆ

ลักษณะของโลโก้เป็นรูปสี่เหลี่ยมไว้แทนผ้าไทยหนึ่งผืน มี Kotcher อยู่ที่มุมของผืนผ้า สื่อถึงมุมที่เราขอเป็นมุมเล็กๆ ที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ผ้าไทยผืนนี้ต่อไป 

‘ผ้าฝ้ายทอมือสตรีทแวร์’ | คอลเลกชันแรกของ Kotcher

อาย : เราอยากทำให้มีความเป็นไทย แต่ไม่ได้ดูเป็นไทยจ๋า จริงๆ มันดูไม่ออกเลยนะว่าเป็นไทยตรงไหน ซึ่งถ้าได้ดูเรื่องกลิ่นกาสะลอง สตรีสมัยยุค ร.5 เขาจะใส่เสื้อทรงหมูแฮมกับซิ่น ชาวอีสานก็คล้ายกัน แต่ซิ่นของเราจะต่างกันเนาะ ซิ่นเขาจะเป็นตีนจก ส่วนของเราจะเป็นซิ่นมัดหมี่ ซิ่นไรไป เราได้แรงบันดาลใจจากตรงนั้น เลยหยิบผ้าขาวม้าซึ่งเป็นผ้าฝ้ายที่เราไปหาเส้นด้ายฝ้ายมา แล้วทอออกมาเป็นลายขาวม้ามาดัดแปลงเป็นแฟชั่นสตรีทแวร์

Photo Credit : Kotcher

ส่วนเรื่องเฉดสีเขียวนีออน ปีที่แล้วสีนี้ยังไม่มา เราก็กล้าที่จะให้คุณแม่ที่ชุมชนท่าแร่ทอ ตอนแรกเราบอกเพื่อนว่าจะทอสีนี้ เพื่อนยังทักเลยว่า ทำสีอะไรออกมา มันจะขายได้เหรอ แต่เราดูตามเทรนด์แล้ว ดูแนวโน้มว่าสีนี้มันต้องมาแน่ๆ ในปี 2019 และมันก็มาจริงๆ

Photo Credit : Kotcher

ในคอลเลกชันเราจะมีสีเขียวเลมอน สีแสด สีม่วงอัญชัน ซึ่งสีเขียวเลมอนขายดีที่สุดเลย ส่วนสีแสดเราทอด้วยด้ายสองสี มีสีแดงกับสีส้ม มันก็จะออกมาเป็นสีแสด คนที่ซื้อแบรนด์เราอาจต้องมีความกล้านิดหนึ่ง (หัวเราะ) มีฝรั่งทักมาด้วยนะ ซึ่งเราว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ผ้าฝ้ายจากชุมชนท่าแร่ | มหาสารคาม

อาย : ผ้าไทยมีเยอะมาก แต่หลักๆ จะเป็นผ้าฝ้ายกับผ้าไหม เราเลือกใช้ผ้าฝ้ายเพราะว่ามันเข้าถึงง่ายมากกว่าผ้าไหม ส่วนชุมชนท่าแร่ เราไปเจอโดยบังเอิญมากๆ คือเราทำแบรนด์กับคุณแม่ คุณแม่จะรู้จักว่าบ้านไหน ชุมชนไหนเขาทอผ้าบ้าง ตอนแรกไปชุมชนที่ใกล้บ้านมากที่สุด พอเราไปถึง ส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เขาก็ “โอย ยายทำไม่ได้หรอก สายตายายสั้นแล้ว” เลยให้เราไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งหาไม่เจอ ก็ย้ายไปอีกหมู่บ้าน แต่ที่นี่เน้นทอผ้าไหม เลยแนะนำอีกหมู่บ้านมา ซึ่งหมู่บ้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าขาวม้า ติดระดับ 4 ดาว หรือ 5 ดาว คือไปมา 4 หมู่บ้าน กว่าจะได้ชุมชนบ้านท่าแร่ เรียกได้ว่าเหมือนพรหมลิขิต (หัวเราะ) เจอคุณแม่ต๊ะที่น่ารักมากๆ มีความสามารถในการทอ ในการต่อลาย เป็นคนที่เก่งมากๆ เลย

กวัก ค้น สืบ | กว่าจะเป็นผืนผ้าฝ้าย

อาย : ก่อนที่จะเข้า 3 ขั้นตอน ‘กวัก ค้น สืบ’ เราต้องไปหาฝ้ายก่อน ต้องบอกก่อนว่าผ้าฝ้ายเราไม่ใช่ผ้าฝ้ายเข็นมือ เป็นผ้าฝ้ายที่เป็นฝ้ายระหันโรงงาน ที่ขายผ่านแม่บ้านในชุมชน เราไปถึงจังหวัดกาฬสินธุ์กับคุณแม่ แล้วก็คุณแม่ต๊ะ ไปหาเส้นด้ายระหันที่หมู่บ้านดอนหัน เพื่อเลือกฝ้ายมาแมตช์สี

ต่อมาสู่ขั้นตอนก่อนทอ คือ 3 ขั้นตอน ‘กวัก ค้น สืบ’ กวัก คือการกวักด้าย หรือการกรอด้าย จะใช้เครื่องกรอด้ายทรงกลมๆ เป็นซี่ๆ กรอด้ายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบจำนวนที่เราต้องการ ต่อไป ค้น หรือค้นหูก จะเป็นหลักเผีย ซึ่งคือการเรียงเส้นด้าย เตรียมเส้นด้าย เส้นยืน ต่อไปคือขั้นตอนการ สืบ คือเอาฟืมทอผ้ามาแล้วเอาด้ายต่อทีละเส้นเพื่อเอาเข้ากี่ทอ ก่อนจะทอออกมาเป็นผืน เราจะทอทั้งผ้าพื้นที่เป็นสีล้วนและผ้าขาวม้า ซึ่งในทีมคุณแม่ต๊ะจะมีอยู่ประมาณ 4 คน คุณแม่ต๊ะแกจะชำนาญในเรื่องของการทอผ้าขาวม้า แกก็จะรับหน้าที่นี้ไป แล้วแกจะส่งผ้าพื้นให้คนอื่นทอ

อัดกาว | จุดที่ยากที่สุดของการตัดเย็บผ้าฝ้าย

อาย : ผ้าฝ้ายที่เราเลือกใช้เป็นด้ายระหัน ซึ่งมันบางมาก เพราะคุณสมบัติมันระบายอากาศได้ดี เราเลยต้องอัดผ้ากาว คือการทำให้มันอยู่ทรง มันเลยต้องใช้ความชำนาญมากในการตัดเย็บ เลยไปหาช่างที่ชุมชนบ้านลาดพัฒนา จังหวัดมหาสารคาม แกเป็นช่างฝีมือที่ทุกคนมาตัดด้วยหมดเลย คิวเยอะมาก แล้วก็ต้องไปต่อคิวกับคุณครูโรงเรียนประจำจังหวัด (หัวเราะ) คือแกจะมีวิธีอัดผ้ากาวยังไงไม่ให้ผ้าหด ซึ่งมันยากตรงนี้ เพราะจะทำให้คนซื้อไปแล้วมันอยู่ทรง ซักแล้วไม่หดทีหลัง

เรื่องน่ารัก | จากท่าแร่

อาย : ความน่ารักอยู่ที่แม่ต๊ะจะมีทีมอยู่ 4 คนใช่ไหม แต่มีครั้งหนึ่งแกไปไว้ใจให้อีกบ้านหนึ่งทำ แล้วทอออกมาไม่ดี มันมีปมด้าย ผ้ามันไม่เรียบ แม่ต๊ะก็ไม่ส่งต่อให้เรา ยอมขาดทุนทำใหม่ ซึ่งเราประทับใจตรงนี้ที่แม่จริงจังกับงานมากๆ

ก้าวต่อไปของ | Kotcher 

อาย : Kotcher ไม่ได้ทำแค่ผ้าฝ้ายหรือผ้าขาวม้าอย่างเดียว เรามีความตั้งใจที่จะนำผ้าทั่วประเทศมาประยุกต์กับสตรีทแวร์ แต่ที่เริ่มจากภาคอีสานก่อน เพราะเราเป็นคนอีสาน มันง่ายต่อการที่จะทำ ถ้าในอนาคตมีโอกาส เราก็สนใจผ้าในภาคเหนือ ผ้าชาวดอยที่เป็นผ้าถักก็สวย หรือผ้าปาเต๊ะของภาคใต้ก็สวยมากเหมือนกัน เราอยากเอามาทำเป็นสตรีทแวร์ให้คนได้ใส่ผ้าไทยเยอะๆ

ซึ่งคอลเลกชันต่อไป เราจะดรอปสีให้มันเป็นโมโนโทนมากขึ้น เพราะคอลเลกชัน ‘ผ้าฝ้ายทอมือสตรีทแวร์’ เราเน้นสีสันเยอะมาก เพื่อเป็นการเปิดแบรนด์ให้คนจำภาพลักษณ์เราได้ว่ามาแนวนี้ จะเลือกสีเอิร์ทโทน สีน้ำตาล มาตัดกับสีเขียวของเราเหมือนเดิม เพราะเราชอบสีเขียว แต่จะเป็นเขียวนีออนเฉดใหม่ อาจจะมีเบลเซอร์หรือแนวที่วัยทำงานเขาใส่กัน แล้วก็เพิ่มกิมมิกอย่างเกาะอกข้างในเข้าไป ให้มันยังมีความเปรี้ยวเหมือนเดิมตามคอนเซปต์

และเรายังคงทำงานร่วมกับชุมชนต่อไป อาจจะเป็นชุมชนใหม่หรือท่าแร่เหมือนเดิมหากหาไม่ได้ แล้วค่อยแบ่งงานไปให้ชุมชนอื่น จะได้การกระจายรายได้ให้ชุมชนอื่นด้วยเนาะ เราคิดว่าตรงนี้มันดี

“เราทำ Kotcher ผลพลอยได้คือได้ช่วยชาวบ้าน กระจายรายได้ให้กับชุมชน ต่อยอดเทคนิค และรักษาความรู้เรื่องทอผ้าให้คงอยู่


อัปเดตคอลเลกชันใหม่ๆ ของ Kotcher ได้ที่ : facebook.com/Kotcher.official

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.