ก.มุยกี่ ร้านชาเยาวราช อบใบชาด้วยเตาถ่าน - Urban Creature

ตอนเด็กๆ เวลาดูหนังจีนย้อนยุค มักจะมีคำถามในใจอยู่เสมอว่า “คนจีนเขาไม่ดื่มน้ำเปล่ากันหรือไง เห็นเรื่องไหนๆ ก็ดื่มแต่ชา!” จนเมื่อโตขึ้นถึงได้รู้ว่า อ๋อ…ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีคนบริโภคมากที่สุดในโลกรองจากน้ำ มีหลักฐานบอกว่า การดื่มชาได้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน คาดว่าไม่น้อยกว่า 2,167 ปีก่อนคริสตกาล โดยในอดีต ‘ชา’ มีสถานะเป็นยารักษาโรค แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ชาก็ได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่คนทั่วโลกดื่มเพื่อความรื่นรมย์แทน ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เวลาดูหนังจีนย้อนยุคเรื่องไหนๆ แล้วจะเห็นฉากดื่มชา

แม้ทุกวันนี้ชาจะถูกเผยแพร่นำไปปลูกในประเทศต่างๆ แต่ภาพจำของชากับคนจีนก็ยังถือเป็นของคู่กัน กลายเป็นเอกลักษณ์ที่แยกจากกันไม่ขาดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ดังเช่นอากงของ ‘เฮียณฐพล หิรัญสาโรจน์’ ซึ่งอพยพลี้ภัยสงครามและความยากลำบากมายังประเทศไทย ก่อนปักหลักทำมาหากินด้วยการเปิด ‘ร้านใบชา ก.มุยกี่’ (美记茶行) ร้านขายใบชาเล็กๆ ในเยาวราช ซึ่งว่ากันว่าเหลืออยู่ร้านเดียวแล้วทั้งกรุงเทพฯ ที่ยังคงอบชาด้วยเตาถ่าน กรรมวิธีโบราณที่สร้างชารสเลิศอันเป็นเอกลักษณ์ของร้านให้ลูกค้าดื่มมานานกว่า 100 ปี

ร้านใบชา ก.มุยกี่ (美记茶行) 

| หอบเสื่อผืนหมอนใบ โล้สำเภาเข้ามาประเทศไทย

บรรพบุรุษของครอบครัวเฮียณฐพลเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แต่เนื่องจากตอนนั้นจีนมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งสงครามกลางเมือง ความยากจนข้นแค้น ชาวจีนส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจออกเดินทางมาแสวงโชคในดินแดนใหม่ ไปทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และส่วนหนึ่งมาตั้งหลักกันที่ประเทศไทยรวมถึงอากงของเฮียณฐพลด้วย

“ที่อากงตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทย เพราะมีญาติเดินทางมาก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อท่านมาถึงจึงไปทำงานเป็นลูกจ้างในสวนให้ครอบครัวของอาคนเล็กที่จังหวัดราชบุรี ทำได้ประมาณสองสามปี ก็เริ่มมีความคิดอยากจะตั้งตัว อากงจึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำ”

เนื่องจากตระกูลเดิมของเฮียณฐพลอาศัยอยู่ที่เขตภูเขาเฟิ่งหวง ที่เราต่างรู้กันดีว่าเป็นแหล่งปลูกชาชื่อดังของเมืองจีน ทำให้อากงมีความรู้เรื่องชาติดตัวมาอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเมื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ จึงไปเป็นลูกจ้างร้านขายใบชา เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และตักตวงความรู้ให้มากขึ้น หลังจากนั้น 2 ปี อากงก็ตัดสินใจออกมาทำร้านของตัวเอง

ตาชั่งใบชาเก่า สมัยที่อากงยังหาบชาขาย

“เริ่มแรกอากงรับใบชาที่คั่วแล้วจากร้านใหญ่มาแบ่งขายเป็นห่อๆ ใส่ถังสองใบหาบขายตามสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่รอบๆ พระราชวัง เพราะแถวนั้นคนเยอะ คึกคักกันเป็นที่สุด คนในวังก็นิยมออกมานั่งดื่มชาหรือซื้อใบชากลับไปเป็นประจำ ต่อมาเมื่อเริ่มสะสมเงินทองได้จึงตัดสินใจเปิดร้านขายใบชาขึ้นที่เยาวราช บริเวณถนนพระราม 4 ซึ่งก็คือที่ตั้งของร้านปัจจุบันนั่นเอง”

เมื่อกิจการเริ่มขยับขยาย อากงก็ตัดสินใจสั่งชาจากเมืองจีนเข้ามาอบจำหน่ายเสียเอง เพื่อลดต้นทุน และเป็นการปรุงชาให้ตรงกับความนิยมของลูกค้าอีกด้วย

“การสั่งชาสมัยก่อนจะมีล้งหรือบริษัทกลางรับใบชาเข้ามาเป็นจำนวนมาก แล้วค่อยกระจายสินค้าไปตามร้านต่างๆ หรือบางตัวเราไม่ต้องการสั่งเยอะก็จะเลือกใช้วิธีไปโป๊วหรือซื้อชาจากร้านอื่นมาแทน แต่ปัจจุบันแต่ละร้านก็ต่างคนต่างสั่ง ระบบการขายมันเปลี่ยนไปแล้ว เดี๋ยวนี้สามารถสั่งผ่านตัวแทนจำหน่ายได้ ไม่ต้องสั่งทีละมากๆ เหมือนเมื่อก่อน”

การอบชาด้วยเตาถ่าน

| อบชาด้วยถ่าน เคล็ดลับมัดใจลูกค้า

นอกจากคัดสรรใบชาคุณภาพดีมาขายแล้ว หนึ่งกลเม็ดที่ร้านใบชา ก.มุยกี่ ใช้เป็นหมัดเด็ดมัดใจลูกค้าคือ ‘การอบชา’ วิธีการถนอมอาหาร ปรับแต่งกลิ่น และรสชาติของคนโบราณ ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีเทคนิคและรายละเอียดแตกต่างกันไปยากที่จะเลียนแบบกันได้ เพื่อให้ได้รสชาติชาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างชาของอากงที่ทำให้คนติดอกติดใจ ไม่เพียงรสชาติถูกปาก แต่ชาของที่นี่ยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากควันไฟอีกด้วย

การอบชาของ ก.มุยกี่ จะใช้ถ่านบดที่ทำจากไม้โกงกาง เพราะกำลังไฟดีและให้ความร้อนสม่ำเสมอ จากนั้นจะนำใบชาประมาณ 3 กิโลกรัมมาเกลี่ยลงบนกระจาดไม้ไผ่ทรงสูงแล้วตั้งบนเตา ซึ่งในการอบชาจากเตาถ่านจะต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก เพราะต้องรู้ว่าตอนนี้อุณหภูมิของไฟประมาณเท่าไร ใช้ชาตัวไหนลงไปอบก่อนหลัง เพราะใบชาแต่ละชนิดใช้อุณหภูมิแตกต่างกัน อย่าง ‘ชาซุ่ยเซียน’ ใช้เวลาอบประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง หรือถ้าอบ ‘ชาทิกวนอิมสด’ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ไฟต้องไม่แรงมากเพราะไม่งั้นกลิ่นหอมธรรมชาติของชาชนิดนี้จะหายไป 

“เปิดเตาครั้งหนึ่งใช้เวลาเป็นสิบวัน เปิดทีเดียวสองหัวพร้อมกัน เพราะต้องเร่งอบชาเพื่อส่งให้ภัตตาคารอาหารจีน แต่ปัจจุบันเปิดทีละเตาสลับกันไป ไม่เปิดทีเดียวเพราะว่ามันร้อนมาก อีกทั้งเดี๋ยวนี้เราไม่ได้ส่งชาให้ภัตตาคารที่ไหนแล้ว ขายแค่หน้าร้านอย่างเดียวจึงไม่จำเป็นต้องอบทีละมากๆ”

กรรมวิธีโบราณเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ร้านขายใบชาเล็กๆ อยู่มานานจนถึงปัจจุบัน ถึงวันที่เฮียณฐพล มารับช่วงต่อ เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านใบชา ก.มุยกี่

| คนเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยน

หลังจากอากงเปิดร้านชาจนกลายเป็นที่รู้จักของเยาวราช ก็รามือและส่งต่อให้เตี่ยของเฮียณฐพล จนมาถึงการรับช่วงต่อของทายาทรุ่นที่ 3 จากพนักงานขายที่ได้เงินเดือนเป็นแสน จากคนที่เดินทางขึ้นเหนือลงใต้ตลอด พอถึงจุดหนึ่งในชีวิตอะไรที่ทำให้เฮียณฐพลตัดสินใจกลับมาสานต่อกิจการครอบครัว 

“ที่บ้านมีพี่น้องสามคน ผมเป็นลูกคนเล็ก ตอนเด็กๆ เขาก็ยังไม่ได้บังคับอะไรมาก เพราะที่บ้านมีพี่สาวคอยช่วยคุณแม่กับเตี่ยขายของอยู่ ส่วนผมกับพี่ชายก็ออกไปทำงานข้างนอกไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทีนี้เมื่อเตี่ยทำไม่ไหว เขาอยากให้ลูกชายมาสืบทอดกิจการต่อ แต่ตอนนั้นถ้าเทียบกันพี่ชายเงินเดือนมากกว่า ดังนั้นคนที่ลาออกจึงเป็นผม”

เฮียณฐพล บอกต่อว่า แรกๆ ยังยึกยักกว่าจะยอมลาออกจริงๆ ก็ใช้เวลาหลายปี จนกระทั่งรู้สึกอิ่มตัวจากรูปแบบการทำงานในบริษัทที่เริ่มเปลี่ยนไป เจเนอเรชันใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็เลยถอยออกมาปล่อยให้เด็กๆ พัฒนาบริษัทต่อไป

“ช่วงแรกๆ ก็ทำเพราะหน้าที่ มีเบื่อบ้าง แต่พอได้เห็นลูกค้ามีความสุขเวลาได้ใบชาดีๆ กลับไปชงดื่มในขณะที่เราก็ค้าขายได้เงินทองก็วินวินทั้งสองฝ่าย แต่ประมาณสิบปีที่แล้ว รู้สึกเหนื่อยไม่อยากเปิดร้านต่อ เพราะคิดว่าคนดื่มชาน้อยลง คนไม่ดื่มชากันแล้ว จนตอนหลังได้เจอกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักการดื่มชา รวมตัวกันจนเกิดเป็นสมาคมผู้รักชาและวัฒนธรรมจีน โดยในกลุ่มก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และแบ่งปันแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับชา ทำให้เรารู้ว่าตลาดข้างนอกมันกว้างมาก มีคนรุ่นใหม่มากมายสนใจดื่มชาเพิ่มขึ้นเพียงแต่เราไม่รู้ พอได้พูดคุยก็เริ่มมีความหวังที่จะทำธุรกิจต่อไป

ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคนี้ก็ต้องรู้จักปรับตัว

สมัยก่อนต้องบอกว่าร้านใบชา ก.มุยกี่ ขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว ทำให้ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะหน้าเดิมๆ ต่อมาลูกสาวของเฮียณฐพล เห็นว่าทุกวันนี้สื่อมันเปลี่ยนแปลงไปมาก มีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมายหลายแพลตฟอร์ม อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ก็เลยทำให้เพิ่มช่องทางการขายโดยเน้นไปที่ออนไลน์

“เราสร้างเพจร้านขึ้นมาเริ่มทำคอนเทนต์แปลกใหม่ จากที่เคยโพสต์ขายแต่สินค้า เราก็นำเสนอวิธีการอบชาแบบดั้งเดิมให้คนได้เห็น เน้นการพูดคุยกับลูกค้าทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อแสดงถึงความตั้งใจและใส่ใจที่อยากให้ทุกคนได้ดื่มชารสชาติดีๆ ซึ่งทำให้เราขยายฐานลูกค้าใหม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ปีที่ผ่านมาการค้าเงียบลงไปมาก ลูกค้าที่มาท่องเที่ยวช่วงปลายปีก็หายไป รวมถึงลูกค้าคนจีนและฝรั่งก็หายไปด้วย”

| ชาที่ดี คือชาที่ถูกใจคนกิน 

สำหรับชาขึ้นชื่อของ ก.มุยกี่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในแวดวงขาประจำเลยก็คือ ‘ชาสุ่ยเซียน’ จัดเป็นอู่หลงชนิดหนึ่ง แต่จะเป็นคนละแบบกับอู่หลงไต้หวัน มีรสหวาน หอมกลิ่นควันจางๆ สามารถชงน้ำได้หลายครั้ง ส่วนอีกตัวคือ ‘ชาทิกวนอิม’ เป็นชาอู่หลงเช่นกัน รสชาติเข้มข้น ดื่มแล้วชุ่มคอ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์

นอกจากชาสองชนิดนี้ ภายในร้านก็ยังมีอีกหลายชนิด ทั้งชาขาว ชาเขียว ชาแดง ชาดำ ก.มุยกี่ ยังมีสินค้าอื่นๆ ให้เหล่าคอชาเลือกซื้อเลือกหามากมาย ทั้งถ่านหนำเลี้ยบ เตาดิน กาต้มน้ำ ป้านชา โถใส่ชา กระบอกชงชา แก้วพักชา ไปจนถึงถาดชงชา เอาเป็นว่าถ้ามาร้านนี้ได้อุปกรณ์ครบจบในทีเดียวแน่นอน

นอกจากกรรมวิธีอบชาแบบดั้งเดิมที่รักษาไว้ ก.มุยกี่ ยังอนุรักษ์วิธีการห่อใบชาด้วยกระดาษ ในขณะเดียวกันก็ออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่ เปลี่ยนมาใส่กล่องเหล็ก พร้อมพิมพ์ลายเพิ่มสีสันให้สวยงาม เหมาะสำหรับซื้อไปเป็นของขวัญ​ ของฝาก​ให้ผู้ใหญ่และมิตรสหาย​ในช่วงเทศกาลต่างๆ

ในฐานะคอชามือใหม่ ก่อนจากลาเราก็ไม่ลืมอุดหนุนชาเพื่อนำกลับมาลองชงเองที่บ้าน ถึงแม้ไม่มีอุปกรณ์ครบครันอย่างที่เฮียทำให้ แต่ขอรับรองว่าชาที่ชงหอม อร่อย และถูกปากไม่แพ้กัน หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ถ้ามีโอกาสเราอยากแนะนำให้คุณไปลองสักครั้ง เผื่อได้ลองแล้วคุณจะติดใจเหมือนเรา


| ร้านใบชา ก.มุยกี่
พิกัด : 122 ถนนพระราม 4 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ 
เปิดทุกวันจันทร์-เสาร์ 9.00 – 18.00 น. (หยุดวันอาทิตย์)
โทร. 08-1627-3168

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.