พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงในใจของพวกเราชาวไทยทุกคนนั้น ทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นแบบอย่างการเรียนรู้ การศึกษา และเป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวไทยเราทุกคน
พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงพระปรีชามาสารถทางด้านจิตรกรรมมาก แม้จะไม่ได้ทรงเริ่มฝึกหัดตั้งแต่ยังเยาว์วัย ทรงเริ่มจากการวาดภาพแบบเสมือนจริง (realistic) มาเรื่อยๆ จนทรงพัฒนารูปแบบภาพวาดฝีพระหัตถ์ในรูปแบบของพระองค์เองมาเป็นแนวนามธรรม (abstract) และรูปแบบ expressionism ได้พระราชทานภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ร่วมแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ เป็นการแสดงนิทรรศการภาพฝีพระหัตถ์ครั้งแรกของพระองค์ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวน ๔๗ องค์ ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม
ผลงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านที่สำคัญ คือ ประติมากรรมลอยตัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์ สูง 12 นิ้ว และประติมากรรมหญิงเปลือยนั่งคุกเข่าสูง 9 นิ้ว ที่ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน และทรงแกะแบบแม่พิมพ์ พระพิมพ์ที่เรียกกันว่าสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน
พระอัจฉริยภาพด้านการช่าง นวัตกรรม และ เทคโนโลยี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในด้านการช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างโลหะ และช่างกล ซึ่งเป็นงานพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทรงสร้างมอเตอร์ไฟฟ้าใช้เอง และทรงสร้างเครื่องรับวิทยุร่วมกับพระเชษฐาธิราช โดยซื้ออุปกรณ์ราคาถูกมาประกอบเอง ทรงจำลองสิ่งของต่างๆ ได้หลายอย่างตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงประดิษฐ์เครื่องร่อน ทรงจำลองเรือรบหลวงของไทยชื่อ “ศรีอยุธยา” ซึ่งยาวเพียงสองฟุต แต่มีทั้งสายเคเบิ้ล และปืนเรือครบครัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงต่อเรือใบ ตามมาตรฐานสากล อีกหลากหลายประเภท ในการสร้างเรือใบทรงร่างแบบ คิดคำนวณ เลื่อยไม้ ไสไม้ และทรงประกอบด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน ทรงใช้วิธีการที่ง่ายและประหยัดและทรงใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ
พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
ทรงเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทั้งกล้องธรรมดาและกล้องถ่ายภาพยนตร์ ทรงเริ่มจากการถ่ายภาพด้วยกล้องรุ่นเก่าที่ไม่มีที่วัดแสงในตัว จึงต้องทรงคำนวณความเร็วของแสงด้วยพระองค์เองจนชำนาญและเชี่ยวชาญ ทรงสามารถใช้กล้องรุ่นเก่าประเภทนี้และทรงวัดแสงได้อย่างแม่นยำ ทรงประดิษฐ์ Bicolocer Filter หรือแผ่นกรองแสงสำหรับกล้องขึ้นเอง และยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์มอัดขยายภาพขาวดำและภาพสี ทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้โดยเฉพาะในการพัฒนาประเทศในเวลาที่ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ
พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงกีฬาต่างๆ ทั้ง เรือใบ แบดมินตัน สกีน้ำ สกีหิมะ ฮอกกี้น้ำแข็ง ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เทนนิส และการออกกำลังพระวรกายด้วยการว่ายน้ำ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบ และทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบระหว่างประเทศในการแข่งขันกีฬาแหลมทองด้วยเรือใบที่ทรงต่อเอง และยังทรงเรือใบที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองชื่อ “เวคา” เสด็จข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม อ.สัตหีบ เพียงลำพังพระองค์เดียว
พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี
ทรงได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ ทรงได้รับการฝึกหัดดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ ๑๐ พรรษา ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงสะสมไว้ไปซื้อคลาริเนตมาทรงฝึกเป่า และทรงหัดเป่าแซกโซโฟนกจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ เช่น Johnny Hodges และ Sidney Bechet ทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz มาก ทรงจัดตั้งวงดนตรี สหายพัฒนา โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเป็นหัวหน้าวง และทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทั้งแซกโซโฟน คลาริเนต และทรัมเปต ซึ่งทรงถนัด รวมทั้งยังทรงเปียโน และทรงฝึกกีต้าร์เพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์ ชื่อ “อ.ส. วันศุกร์” ซึ่งออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ ในบางครั้งทรงจัดรายการเพลง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงจากพสกนิกร และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองเกือบ ๕๐ เพลง ซึ่งวงดุริยางค์ N.Q.Tonkunstler Orchestra แห่งกรุงเวียนนา เคยได้คัดเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลง มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศออสเตรีย ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างสูง จนสถาบันการดนตรี และศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Institute of Music and Arts of City of Vienna) โดยรัฐบาลออสเตรียได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ ของสถาบัน มีการจารึกพระนามลงบนแผ่นหินสลักของสถาบัน เป็นผู้ประพันธ์เพลงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้
พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม
ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นในด้านภาษาอย่างมาก พระองค์ทรงเจริญวัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงทรงภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้เป็นอย่างดี และแม้แต่ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาโบราณและศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็ทรงศึกษารอบรู้อย่างลึกซึ้ง. ทรงพระราชนิพนธ์แปลหนังสือ และบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ เช่น “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” (A Man Called Intrepid) ของวิลเลียม สตีเวนสัน, หนังสือเรื่อง “ติโต” (Tito) ซึ่งเป็นชีวประวัติของนายพลติโต ประพันธ์โดยฟิลลิส ออติ และผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีของชาวไทยเรื่อง “พระมหาชนก” ที่นอกจากทรงแปล และเรียบเรียงเป็นภาษาไทยแล้ว ยังทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาสันสกฤตอีกด้วย. ท่านยังทรงไม่ละทิ้งภาษาไทย และสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักนิรุติศาสตร์