Kao Kalia Yang ผู้ลี้ภัยม้งผู้เขียนงานปลอบประโลม - Urban Creature

“ตอนที่ฉันเป็นเด็ก เท่าที่ฉันรับรู้ ไม่มีนักเขียนที่เป็นผู้ลี้ภัยคนไหนเลยที่จะเขียนหรือคิดถึงเรื่องราวที่ฉันต้องเจอเลย”

Kao Kalia Yang (เคา คาเลีย แยง) นักเขียนชาวม้งที่มีผลงานเลื่องชื่อคือ The Latehomecomer: A Hmong Family Memoir’ ที่บอกเล่าความทรงจำของครอบครัวชาวม้งของเธอ ตอนนี้อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของการเป็นผู้ลี้ภัยในวัยเด็กกับนิตยสาร Southeast Asia Globe ในวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา

หากติดตามหน้าข่าว ทั้งสงคราม-ความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ เพื่อนบ้านประเทศไทยเองก็มีให้เห็นอยู่ตลอด กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกับชาวพม่าหลังจากรัฐประหารโดยมิน อ่อง ลาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว การสู้รบทำให้หลายคนอพยพข้ามฝั่งมาที่ประเทศไทย… เรื่องราวและผลงานของ Yang อาจจะชวนให้เห็นถึงความเจ็บปวดและชวนเข้าใจ หาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมากขึ้น

Yang มีพื้นเพเป็นชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ใน ‘ประเทศลาว’ ในช่วงปี 1959 นั้น เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวและรัฐบาลนิยมกษัตริย์ที่แต่ละฝ่ายมีมหาอำนาจหนุนหลังแตกต่างกัน ครอบครัวชาวม้งที่อาศัยในประเทศลาวนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ที่เข้าข้างฝ่ายนิยมกษัตริย์ของลาว) เพื่อทำ ‘สงครามลับ (Secret War)’ กับขั้วตรงข้าม 

แต่เมื่อปี 1973 เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากประเทศลาว ชาติพันธุ์ม้งที่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ นั้นก็กลายเป็นภัยคุกคามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ชนะสงคราม นี่คือชะตากรรมที่ครอบครัวของ Yang ต้องเจอ พวกเขาอพยพลี้ภัยอย่างยากลำบากผ่านภูเขา ลำห้วย ออกจากอาณาเขตประเทศลาว มาอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ‘บ้านวินัย (Ban Vinai)’ จังหวัดเลย ในต้นปี 1980 หลังจากนั้น 11 เดือนเธอจึงถือกำเนิดขึ้น

ตลอดเวลาที่อยู่ในค่ายลี้ภัยบ้านวินัยชีวิตของ Yang ความเป็นอยู่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งจากการไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยของทางการไทย ความแออัดของผู้อาศัยที่มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 45,000 คน รวมทั้งอาหารการกินไม่เพียงพอที่จะมีการแบ่งปันอาหารแค่ 3 ครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์ 

แม้จะมีความยากลำบากในค่ายผู้ลี้ภัย แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอคือพื้นเพการเป็น ‘กวี’ นักเล่าเรื่องของผู้เป็นพ่อ ที่คอยเล่าเรื่องราวประเพณีของชาวม้ง และเรื่องราวอื่นๆ ของชีวิตอยู่เสมอ เหล่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะความสามารถการเล่าเรื่องในตัวเธอมาเรื่อยๆ

Yang เติบโตในค่ายลี้ภัยบ้านวินัยได้ 6 ปี และย้ายไปอาศัยประเทศปลายทางที่สหรัฐอเมริกา เธอยอมรับว่าต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ บ่อยครั้ง และเป็นปมในใจเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจถึงขนาดที่ในช่วงแรกๆ ที่เธอเข้าโรงเรียนนั้นเธอไม่ปริปากพูดกับใครเลยเพราะความไม่มั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษของตัวเอง

วิธีปลอบประโลมและหาที่พักพิงทางจิตใจของ Yang เกิดขึ้นเมื่อเธออายุ 21 ปี เธอตัดสินใจค้นหาที่ทางของ ‘ความทรงจำ’ ในอดีตของเธอด้วยการกลับไป ‘บ้าน’ ที่เธอเติบโตมาที่ประเทศไทย 

หลังจากกลับมาที่สหรัฐอเมริกา ความทรงจำและความรู้สึกที่มีต่ออดีตของเธอ ประกอบกับศิลปะการเล่าเรื่องที่เธอคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ทั้งหมดหลอมรวมเป็นความตั้งใจในการเป็นนักเขียน ทั้งความทรงจำในวัยเด็ก ความรู้สึกหลากหลายที่เธอผ่านความยากลำบากมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่เธอต้องการบอกเล่ากับผู้อ่าน และที่สำคัญคือ เธออยากจะใช้สิ่งที่เธอเคยผ่านมานั้นเป็นสิ่งปลอบประโลมกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธอทั่วทั้งโลก 

“ทุกสิ่งที่ฉันทำนั้นเป็นเหมือนจดหมายรักให้ใครสักคน ที่ไหนสักแห่งอยู่เสมอ” 

  • ชวนติดตามผลงานของ Yang ที่มีทั้งนิยาย รวมถึงนิทานภาพประกอบสำหรับเยาวชนได้ที่: https://bit.ly/3A2AX68
  • อ่านเรื่องราวของ Yang จากนิตยสาร Southeast Asia Globe ได้ที่: https://bit.ly/3GCMfAm
  • ชวนฟัง TEDx Talks ของเธอเกี่ยวกับวัยเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยได้ที่: https://bit.ly/3KlotLt

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.