เด็ก คือ ผ้าขาวบริสุทธิ์
เด็ก คือ ความหวังของชาติ
เด็ก คือ อนาคต
เด็ก คือ สมบัติอันล้ำค่าของโลก
คือคำกล่าวที่เราเห็นกันจนเกร่อ
แต่ถ้าเด็กเหล่านั้น
คือผู้ลงมือสังหารเด็กอายุ 9 ขวบที่ไม่เคยรู้จักหรืออาฆาตแค้นกันมาก่อน จากนั้นจึงลงมือชำแหละและอำพรางศพอย่างโหดเหี้ยม
คือผู้ทุจริตในการสอบครั้งใหญ่ เป็นสาเหตุให้เด็กๆ ในชั้นเรียนที่เหลือต้องเผชิญผลกระทบมหาศาลจนอาจถึงขั้นอนาคตดับ
คือผู้หลอกลวง รุมกระทำชำเราเด็กหญิงผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ พร้อมถ่ายคลิปไว้ข่มขู่ แถมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก และพูดถึงมันด้วยสีหน้าขบขันไม่รู้ร้อนรู้หนาวที่
คือผู้ที่กระทำผิดซ้ำซากโดยไม่มีทีท่าสำนึกผิดและไร้วี่แววที่จะปรับปรุงตัวเป็นคนที่ดีของสังคมแม้จะโดนลงโทษและได้รับโอกาสหลายต่อหลายครั้ง
เราจะยังเห็นด้วยกับข้อความสี่บรรทัดแรกของบทความนี้อยู่ไหม?
ไม่ว่าคำตอบของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เราอยากจะชวนคุยต่ออีกสักนิดหนึ่งว่า
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
และ สังคมของเรากำลังจะพาเด็กๆ เหล่านี้ไปไหนต่อ?
นี่เป็นคำถามที่ Juvenile Justice ซีรีส์ Courtroom Drama เนื้อหาเข้มข้นจากเกาหลีใต้จะพาคนดูขบคิดและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
Juvenile Justice เล่าเรื่องของ ชิมอึนซอก (รับบทโดย คิมฮเยซู) ผู้พิพากษาศาลเยาวชนที่มากับความมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะตัดสินและลงโทษเยาวชนผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม ยุติธรรม และพร้อมจะทำทุกทางให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกถึงความผิดบาปที่ตนได้กระทำ แม้ผู้กระทำผิดที่เรากำลังพูดถึงจะเป็นเยาวชนก็ตามเพราะว่า “ฉันเกลียดเยาวชนที่กระทำผิด”
ชิมอึนซอกกล่าวเอาไว้ในตอนแรกของซีรีส์ *หลังจากนี้เป็นการเปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่ง ตลอด 10 ตอน ผู้ชมจะถูกกระหน่ำด้วยคดีเยาวชนอันแสนหนักหนานับตั้งแต่วินาทีแรกของตอนแรก เช่นคดีเด็กอายุ 13 ฆาตกรรมเด็ก 9 ขวบ และหั่นทำลายศพ ในห้องพิจารณาคดี หลังจากบรรยายถึงความหวาดกลัวและวาระสุดท้ายของเด็กผู้เป็นเหยื่อด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและน้ำเสียงร่าเริง เด็กอายุ 13 คนนั้นถามชิมอึนซอกว่า
“เห็นว่าถ้าอายุไม่ถึง 14 ต่อให้ฆ่าคนก็ไม่ติดคุกนี่
“จริงเหรอครับ?
“อย่างเจ๋ง” เด็กคนนั้นพูดแล้วหัวเราะราวกับเพิ่งได้ยินเรื่องขบขันที่สุดในชีวิต
ไม่ใช่เพียงคดีน่าสะเทือนขวัญนี้ แต่ยังมีอีกหลากหลายคดีที่รุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมถึงเหล่าเยาวชนที่ชิมอึนซอกต้องเผชิญหน้าก็มีหลากหลายรูปแบบ บางคนร้องไห้ บางคนก้าวร้าว บางคนเบื่อหน่าย บางคนยิ้มระรื่นและมองเธอเป็นเพียงผู้แทนกฎหมายอันปวกเปียกป้อแป้ไร้ประสิทธิภาพ
ชิมอึนซอกเองก็ไม่น้อยหน้า เธอตอบโต้เด็กเหล่านั้นด้วยชั้นเชิงอันเยือกเย็นและละเอียดรอบคอบ รวมทั้งต้องสืบหาหลักฐานที่จะนำไปสู่ความจริงของคดีแบบแทบจะถวายชีวิต (แบบตรงตัวอักษร ตลอดทั้งเรื่องเธอทำงานหนักมากและพักผ่อนน้อยมาก) และท้าชนอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน ถ้ามีคนมาขวางทางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้ผลการตัดสินที่เที่ยงธรรมที่สุด จะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้า เธอก็พร้อมจะสู้หัวชนฝาชนิดแตกเป็นแตก หักเป็นหัก
ทำไมชิมอึนซอกต้องทำขนาดนี้? เธอมีจุดประสงค์หรือปมอะไรในใจนอกจากความรักในความยุติธรรมและความชิงชังในอาชญากรเด็กหรือเปล่า?
นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ซีรีส์จะพาเราไปทำความเข้าใจผู้พิพากษาหญิงเหล็กบุคลิกเย็นเยียบคนนี้ ควบคู่ไปกับการสำรวจและคลี่คลายคดีต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมานำเสนอ
ส่วนนี้นี่แหละที่เราสนใจ
ขอเท้าความสักหน่อย
ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการส่งออกวัฒนธรรมหมัดเด็ดอย่างเคป็อปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทะยานสูงขึ้นควบคู่กันไปกับสังคมเกาหลีใต้คือปริมาณอาชญากรรมโดยผู้เยาว์ ที่มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่การลักเล็กขโมยน้อย ทำลายทรัพย์สิน ประทุษร้ายทางเพศและกระทำชำเราไปจนถึงฆาตกรรม และเมื่อถูกจับได้ พวกเขาก็ยังคงกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ปัจจัยสำคัญคือกฎหมายของเกาหลีใต้ที่ทำหน้าที่กำหนดโทษต่ออาชญากรวัยเยาว์เหล่านั้น
หากอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ต้องรับโทษ แม้ก่ออาชญากรรม
10 – 14 ปี จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย คุมประพฤติ หรือทัณฑ์บน
อายุ 14 – 19 ปี แม้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง ก็ไม่สามารถลงโทษจำคุกได้เกิน 20 ปี
เหล่านี้คือช่องโหว่ที่ทำให้เยาวชนที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดยิ่งมองว่ากฎหมายนั้นอ่อนด้อยและไม่จำเป็นต้องเกรงกลัว (หลายครั้งเมื่อถูกจับได้ พวกเขาพูดสิ่งเหล่านี้ออกมาเลยด้วยซ้ำ)
ด้วยตัวเลขอาชญากรรมผู้เยาว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังคมเกาหลีใต้จึงมีความเห็นอย่างร้อนแรงถึงปัญหาของกฎหมาย และรณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังเพื่อให้กฎหมายเพื่อเยาวชนถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่ต้องรับโทษ การเพิ่มโทษ หรือแม้กระทั่งยกเลิกกฎหมายสำหรับเยาวชนไปเลยก็มี
ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่พูดถึงปัญหาและความเห็นของชาวเกาหลีใต้
จากกระแสดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาของ Juvenile Justice ที่เอากระบวนการยุติธรรมต่อผู้เยาว์มาชำแหละให้เห็นถึงจุดบกพร่อง ช่องโหว่ และความจริงอันน่าสะเทือนใจว่ากฎหมายก็ไม่ได้มีไว้สำหรับคุ้มครองเหยื่อเสมอไป
จุดหนึ่งที่ทำให้ Juvenile Justice มีความสมจริงจนน่าขนลุกนั้นเป็นเพราะว่าคดีที่ถูกนำมาเล่านั้นมีองค์ประกอบหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากคดีที่เกิดขึ้นจริง อย่างเช่นคดีฆาตกรรมและอำพรางศพเด็กก็มาจากคดีสะเทือนขวัญที่เด็กวัยรุ่นอายุ 17 และ 18 ปีร่วมมือกันฆ่าหั่นศพเด็ก 8 ขวบโดยอ้างว่าทำไปเพราะมีอาการป่วยทางจิต โดยสุดท้ายทั้งสองโดนสั่งจำคุก 20 ปีซึ่งเป็นโทษสูงสุดตามข้อจำกัดของกฎหมาย ทว่าก็สร้างความไม่พอใจให้สังคมเกาหลีเป็นจำนวนมาก
(อ่านเกี่ยวกับคดีจริงได้ที่นี่)
แม้ Juvenile Justice จะชี้ให้เห็นจุดด้อยในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ แต่ตัวซีรีส์เองก็ไม่ได้มีการชี้นำชัดแจ้งว่ากฎหมายควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด และขอทำหน้าที่เป็นตัวจุดกระแสให้ผู้ชมและสังคมได้ตระหนัก ตกตะกอน และนำไปสู่บทสรุปที่เหมาะควรที่สุด
แต่อีกประเด็นหนึ่งใน Juvenile Justice ที่ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัวคือการพยายามสำรวจและตั้งคำถามว่า เพราะอะไรเหล่าเยาวชนที่น่าจะเป็นผู้มีจิตใจเมตตาอ่อนโยน และเป็นเด็กดีของสังคมถึงก่ออาชญากรรมอุกอาจได้ถึงเพียงนี้
ในทุกๆ คดี ตอนที่ชิมอึนซอกอ่านบันทึกของเยาวชนผู้กระทำผิด คีย์เวิร์ดที่เธอมักจะวงเอาไว้เสมอมักจะเป็นข้อมูลประเภท พ่อแม่หย่าร้าง อยู่กับปู่ย่า ติดต่อพ่อแม่ไม่ได้ ฯลฯ
คำพูดของชาแทจู (รับบทโดย คิมมูยอล) ผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งที่พูดถึงคดีที่พ่อทำร้ายร่างกายลูกตัวเองว่า
“เด็กๆ ที่มีแผลใจจากความรุนแรงในครอบครัวน่ะ เด็กพวกนั้นจะไม่เติบโตไปกว่านี้แล้วครับ ไม่ว่าอีกสิบปีหรือยี่สิบปี”
ฉากที่ชเวยองนา (รับบทโดย คิมโบยอง) หนึ่งในเด็กหัวโจกที่บังคับให้น้องๆ ขายตัวเดินทางไปหาแม่ที่เธอรักสุดหัวใจ เพียงเพื่อจะถูกปฏิบัติกับเธอราวกับเป็นเพียงเด็กแปลกหน้าที่มาเคาะประตูบ้านผิดหลัง
คำพูดของคิมอึนซอกที่พูดถึงเหตุการณ์หนึ่งว่า
“แกคงทำไปทั้งที่รู้ว่าไม่ควรทำค่ะ
“ช่วยมองมาที่ฉันหน่อย
“ฉันทรมาน ทำไมถึงไม่สนใจกันบ้าง?”
เหล่านี้น่าจะทำให้พอเห็นภาพได้ว่า ซีรีส์พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาของเยาวชนทุกวันนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ผุพัง ง่อนแง่น หรือกระทั่งล่มสลาย หากรากฐานเปราะบางและบิดเบี้ยว ก็ยากที่จะหล่อหลอมเด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคม แต่ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพ่อแม่ที่ตีราคาชีวิตลูกเป็นเงิน หรือพ่อแม่ที่คิดว่า ฉันคลอดแกออกมาแล้ว ฉันจะทำอย่างไรกับแกก็ได้อยู่เต็มไปหมด
ดังนั้นแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องจ้องมองโลกบิดๆ เบี้ยวๆ ที่เราสร้างขึ้นมาให้พวกเขาอยู่อย่างตรงไปตรงมา พยายามซ่อมแซมมัน ในขณะเดียวกันก็โอบกอดพวกเขาไว้แม้ในวันที่พวกเขาไม่น่ารักและชั่วร้ายอย่างถึงที่สุดแทนที่จะชี้หน้าและประณามว่าพวกเขาเป็นเพียงปัญหาของสังคมที่เกินเยียวยา
“เด็กพวกนั้นมาถึงจุดนี้ได้ยังไงกันครับ?” ชาแทจูถามขึ้นหลังการพิจารณาคดีในตอนสุดท้าย
“ว่ากันว่าถ้าจะเลี้ยงเด็กสักคน ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกัน พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าทั้งหมู่บ้านไม่เอาใจใส่ ก็อาจทำลายชีวิตเด็กคนหนึ่งได้ นายคิดว่าผู้กระทำผิดต่อคังซอนอา มีแค่เด็กพวกนั้นไหม?”
เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในชั่ววันวาน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตามหากเรายังเชื่อในสี่บรรทัดข้างต้นของบทความนี้อยู่