หลายคนคงคุ้นเคยและได้ยินเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ (driverless) กันมาบ้างแล้ว แต่จะเป็นอย่างไร ถ้ามีขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟที่ขับเคลื่อนบริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีนี้บ้างล่ะ?
อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศที่ขนส่งทางรางเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันอย่างญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รถไฟ JR สายตะวันออกได้ทดลองวิ่งด้วยระบบไร้คนขับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลากลางวัน ก่อนเริ่มให้บริการรอบแรกของวัน การทดลองวิ่งเป็นไปตามเส้นทางวงกลม 34.5 กิโลเมตรตลอดสายยามาโนเตะ (Yamanote Line) ซึ่งเป็นเส้นเลือดสำคัญที่วิ่งรอบโตเกียวและมีผู้ใช้บริการกว่า 3.5 ล้านคนต่อวัน
การทดลองวิ่งครั้งนี้ไม่มีผู้โดยสารอยู่ในตัวรถ มีเพียงคนขับรถคอยตรวจตราความเร็ว หรือความตรงเวลาของระบบ แต่ก็นับเป็นหมุดหมายสำคัญได้เลย เพราะการทดลองวิ่งแบบไร้คนขับครั้งที่ผ่านมานั้นทดสอบในช่วงเวลากลางคืน และการทดลองใช้เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่จะนำมาใช้จริงในปี 2027 หรืออีก 5 ปีข้างหน้านั่นเอง
ทำไมทางญี่ปุ่นถึงต้องนำเทคโนโลยีไร้คนขับมาใช้กับรถไฟ คำตอบคือ ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ใช่คนวัยทำงาน ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในขนส่งสาธารณะอย่างการขับรถไฟ และพนักงานส่วนใหญ่ก็จะเกษียณอายุงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
แม้ทางบริษัท JR จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจ้างพนักงานที่เกษียณไปแล้วมาทำงาน แต่นั่นก็เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และคำถามสำคัญเมื่อนำเทคโนโลยีไร้คนขับมาใช้กับขนส่งสาธารณะคือประเด็นเรื่องความปลอดภัย เช่น การหยุดรถกะทันหันหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รถจะจอดตรงจุดจอดสถานีหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้คือโจทย์ที่รัฐต้องร่วมกันอุดช่องโหว่กันต่อไป
Sources
Mainichi | https://bit.ly/3t3UZuU
Nikkei Asia | https://s.nikkei.com/3t49P4W