หรินทร์ แพทรงไทย นักตัดต่อรางวัลสุพรรณหงส์ - Urban Creature


คนตัดต่อหรือนักลำดับภาพ อาชีพนักเล่าเรื่องแห่งวงการภาพยนตร์ อาชีพที่เปรียบเสมือนเชฟปรุงอาหาร ผู้ผสมผสานวัตถุดิบที่เรียกว่า Footage นับสิบนับร้อยชั่วโมงให้กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดประมาณ 2 ชั่วโมงรสชาติกลมกล่อมให้ผู้ชมได้เสพกัน และความสำคัญของอาชีพนี้อยู่ตรงที่ว่าไม่ว่าคุณจะมีวัตถุดิบชั้นยอดสักแค่ไหน จะถ่ายภาพออกมาสวยตระการตา หรือการแสดงเทพดุจ แอนโทนี่ ฮอปกินส์ หากขาดนักปรุงชั้นยอดที่เรียกว่านักตัดต่อ (Editor) ภาพยนตร์เรื่องนี้คงไม่มีทางจะอร่อยลงตัวได้ 

เพื่อพาไปรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้นเราจึงอยากชวนไปพูดคุยกับ โจ-หรินทร์ แพทรงไทย นักตัดต่อรุ่นใหม่ ผู้ฝากผลงานให้วงการภาพยนตร์ไทยทั้ง Take Me Home : สุขสันต์วันกลับบ้าน หนังผีที่ได้เข้าชิงชมรมวิจารณ์บันเทิงสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม และเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม จากผลงานเรื่อง Where We Belong ที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่การันตีความสามารถและประสบการณ์ของการเป็นนักตัดต่อมืออาชีพของเขาได้เป็นอย่างดี เราชวนเขามาพูดคุยถึงชีวิตการทำงาน และเส้นทางการเติบโตเป็นนักตัดต่อฝีมือดีคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย 

01 เด็กหนุ่มผู้ตกหลุมรักภาพยนตร์
ตั้งแต่หนังสองเรื่องแรกที่ดูกับพ่อ


ย้อนกลับไปในวัยเด็กจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพนักตัดต่อของโจ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การนั่งดูภาพยนตร์สองเรื่องกับพ่อในสมัยที่ภาพยนตร์ยังเป็นม้วนวิดีโอ โดยหนัง 2 เรื่องในความทรงจำของเขาคือเรื่อง Star Wars: Episode IV – A New Hope และ Terminator 2: Judgment Day สองภาพยนตร์สุดคลาสสิกตลอดกาลที่ชักจูงโจให้เข้าสู่โลกของภาพยนตร์

ถึงแม้ว่าในวัยนั้นเขาจะยังดูไม่เข้าใจเพราะคุณพ่อมักรับชมภาพยนตร์ซาวนด์แทร็ก แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกลับพิเศษขึ้นมาในใจ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเต็มไปด้วย Special Effects ตระการตา ยานอวกาศและหุ่นเหล็กจากโลกอนาคตได้เข้ามาสร้างมนตร์เสน่ห์และยึดครองพื้นที่ในใจของโจมากขึ้นเรื่อยๆ 




“Star Wars: Episode IV – A New Hope แล้วก็ Terminator 2: Judgment Day มันเป็นหนังที่มี Special Effects มีโลกอีกโลกหนึ่ง มันเลยชัดว่าเราได้เห็นพลังพิเศษของโลกภาพยนตร์ว่ามันพาเราไปไหนได้ เลยทำให้ชอบดูหนังตอนนั้น แต่ว่ายังไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นคนทำหนัง”

เมื่อเวลาผ่านไปจากภาพยนตร์สองเรื่องแรก ก็ทำให้เขาเริ่มหันมาดูภาพยนตร์จากทั่วโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะหนังรัก หนังดราม่า หนังซอมบี้ หนังรางวัลเขาก็พยายามที่จะไล่ดูทั้งหมด และเหมือนกฎแห่งแรงดึงดูดคนประเภทเดียวกันจะเริ่มทำงาน เมื่อโจขึ้น ม.ปลาย เขาได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งที่คลั่งไคล้ในภาพยนตร์เหมือนกัน

“ตอน ม.4 ได้เจอเพื่อนคนหนึ่งที่เขาชอบดูหนังเหมือนกัน ตอนนั้นเขาเอามือถือมาถ่ายเพื่อนอีกคนหนึ่งต่อยกัน แล้วก็กดพอสเพื่อเปลี่ยนมุม และกดเรกคอร์ดต่อ คือเหมือนตัดต่อระหว่างทาง พอเราเห็นก็ เออ ทำได้นี่หว่า ก็เลยชวนมาลองทำด้วยกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำหนังสั้น เพราะเรารู้ว่า มึงถ่ายแบบนี้ไปนะ เดี๋ยวกูมาตัดให้ แต่ว่ากำกับและคิดบทด้วยกัน เรารู้สึกว่าได้ทำหนังสั้นจริงๆ ก็คือตอนนั้น แล้วก็เริ่มส่งประกวดเทศกาลมูลนิธิหนังไทย ก็เริ่มคิดว่าหรือจริงๆ มันโอเควะ”

และจากความสนุกในการถ่ายและตัดต่อของพวกเขา ก็ได้นำไปสู่การเข้าประกวดที่จริงจังมากขึ้น จนได้เข้ารอบเป็นรองชนะเลิศ ในระดับชั้นมัธยมปลายกับหนังซอมบี้สุดกวนเรื่อง ‘Resurrection’ ที่ทำให้เขาได้ร่ำเรียนวิชาเมกอัป สร้างรอยแผลรอยเลือดจากสีผสมอาหาร ได้เรียนวิชาการแสดง พร้อมทั้งหยิบจับเพื่อนฝูงมาเล่น รวมทั้งฝึกทักษะตัดต่อและเขียนบทไปในตัว 

“ณ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเหมือนเราได้ถูกยอมรับประมาณหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นงานเล็กๆ คือจริงๆ ผมมานั่งคิดกลับไปก็คือว่า ช่วงนั้นความเป็นเด็ก เราอยากลองทำอะไรที่เราสนใจ แล้วถ้าเกิดว่าเราชอบมันแล้วมันมีคนเห็นคุณค่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันเหมือนเป็นแรงที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำ เหมือนเราคิดถูกว่าเรากำลังทำมาถูกทางก็เลยอยากทำต่อไปเรื่อยๆ”

02 มหาวิทยาลัย หนังเรื่องใหม่
และการค้นพบตัวตนในกองถ่าย


โจเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อต้องเลือกเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดในชีวิตวัยรุ่นที่ต้องเลือกทางเดินในอนาคต ในวันที่โจต้องตัดสินใจเขาถามกับตัวเองว่าจะเลือกเรียนอะไรต่อดี แต่คำตอบที่เขาได้จากตัวเองกลับเป็นความว่างเปล่า 

“ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าตัวเองจะทำอะไร นอกจากการได้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุดในช่วง ม.ปลาย ในตอนนั้นผมคิดว่าการตัดต่อและภาพยนตร์ คือสิ่งที่สนุกและทำได้ดีที่สุดในชีวิตช่วงนั้น จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาพยนตร์ที่คณะนิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต”

การเข้ามหา’ลัยคณะที่ตรงกับความสนใจเป็นประตูสำคัญอีกบานหนึ่งที่ทำให้โจเข้าใกล้กับโลกของภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น 

“ที่คณะจะมีพี่คนหนึ่งที่ชอบเอาหนังมาขายใต้ตึกเหมือนคลองถมเลย แต่ต่างกันตรงที่เขาเอาหนังพี่แว่นมาขาย ไม่รู้ก๊อบมาอีกทีหนึ่งด้วยเปล่า แต่มันทำให้ผมรู้จักกับ Akira Kurosawa และ Michael Haneke รู้จักผู้กำกับที่เก่งมากๆ ในอีกสายหนึ่ง ช่วงนั้นทำให้ผมได้เปิดโลกภาพยนตร์มากขึ้น รู้ว่าหนังมันทำแบบนี้ได้ หรือมีเนื้อหาแบบนี้ได้ ความมีพลังของหนังมันสร้างได้แค่ไหน มันจะคนละรูปแบบกับหนังฮอลลีวูดที่เราดูตอน ม.ปลาย มันมีความดิบกว่านั้น พลังหรือภาษาหนังมันก็อีกแบบหนึ่ง ทำให้มีอิทธิพลกับการทำหนังหลังจากนั้นของผมเยอะมากๆ ไม่ว่าในการกำกับหรือการตัดต่อก็ตาม” 

03 นักตัดต่อ ผู้หยิบจับวัตถุดิบมาปรุง
ให้เป็นเรื่อง ได้รสชาติ และมีความรู้สึก


ตั้งแต่เริ่มทำหนังสั้นจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราสังเกตว่าโจทำมาหลายตำแหน่ง เรียนรู้หลายทักษะในกองถ่าย เขาสนใจเรื่องการกำกับ การเขียนบท แต่เราสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาหันมาเอาดีด้านงานตัดต่อ 

“จริงๆ แล้วตอน ม.ปลาย ผมอยากเป็นผู้กำกับ ไม่เคยคิดอยากเป็นคนตัดต่อเลย ผมตัดเฉพาะหนังของตัวเองเท่านั้น แต่ตอนอยู่มหา’ลัยพอผมกำกับหนังตัวเอง ผมก็ไม่คิดว่าจะมีใครตัดหนังเรื่องนี้ได้ดีกว่า ผมอยากเป็นผู้กำกับ แต่ไม่อยากเล่าเรื่องของคนอื่น จึงเขียนบทเอง เล่าเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ และตัดต่อเองด้วยเลยเพราะอยากเล่าหนังเรื่องนี้ออกไปให้เป็นตัวเรามากที่สุด”

โจเริ่มต้นด้วยการอยากเป็นผู้กำกับ แต่ปัจจุบันเขาทำงานตัดต่อ และตัดหนังจนได้รางวัลสุพรรณหงส์ เราถามต่อว่าอะไรคือจุดพลิกผันที่ทำให้เขาเปลี่ยนมาทำตำแหน่งนี้ได้

“จริงๆ มันไม่ได้พลิก พอเริ่มดูหนังเยอะๆ ผมเริ่มดูหนังที่มันลึกขึ้น หลากหลายขึ้น ความต้องการที่จะทำหนังมันก็เริ่มเปลี่ยน ผมเริ่มมีเรื่องที่อยากจะพูดน้อยลง มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น รู้สึกว่าถ้าอยากเป็นผู้กำกับอาชีพนี้มันทำแบบนี้ไม่ได้ในเมืองไทย ผมต้องไปรับจ้างกำกับหรือถ้าอยากทำก็ต้องไปกำกับหนังอินดี้บ้านเราซึ่งไม่รวย ผมจะอยู่รอดด้วยอาชีพนี้ได้ยังไง ผมกำกับโฆษณาและฝึกงานมาแล้วก็รู้ว่างานในวงการนี้เป็นอย่างไร การเป็นผู้กำกับมันไม่ใช่ทางของผมเลย ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะทำงานนี้ไปตลอดชีวิต ส่วนงานเขียนบทผมก็ไม่ได้เป็นคนที่เขียนเก่งมาก อยากเขียนเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ แต่งานตัดต่อมันคล้ายกับงานกำกับตรงที่เราไม่ต้องไปสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ เราเอาสิ่งที่ถูกทำมาแล้วมากำกับและเล่าเรื่องใหม่อีกรอบผ่านการลำดับภาพ” 

หากถามถึงความสำคัญของนักตัดต่อในวงการภาพยนตร์ คงเป็นเหมือนเชฟผู้หยิบจับเอาวัตถุดิบที่เตรียมไว้มาปรุงใหม่ให้ได้รสชาติในสไตล์ที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าวัตถุดิบของคุณจะดีแค่ไหน จะถ่ายออกมาสวยไม่มีที่ติ หรือนักแสดงเล่นเข้าถึงบทบาทแค่ไหน ภาพยนตร์เรื่องนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์ได้ถ้าขาดนักตัดต่อที่ดีและเข้าใจในสิ่งที่หนังอยากจะสื่อสาร

เพราะขั้นตอนหลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์มาทั้งเรื่องเสร็จสรรพ นักตัดต่อจะเป็นผู้นำฟุตเทจนับสิบน้อยร้อยชั่วโมงออกมาดู และหาวิธีร้อยเรียงลำดับเรื่องราวจากภาพที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นไปตามบทที่วางไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้เองที่โจจะได้ดึงทักษะการเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับออกมาใช้อย่างเต็มที่ร่วมกับการตัดต่อ 

“หนังหลายเรื่องมันพังเพราะการตัดต่อ หน้าที่ของนักตัดต่อมันคือการเลือกเทกที่ดีที่สุด ในออฟชันที่เขามีมาให้เลือกใช้ เพื่อสร้างออกมาเป็น Final Product ของภาพยนตร์ ออกมาให้กลมกล่อมมากที่สุด เรื่องที่ผู้กำกับอยากเล่า อารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมที่อยากให้เกิด เรามีหน้าที่สร้างและเรียบเรียงมันออกมา เป็นเทคนิคการเล่าเรื่องเฉพาะตัวของนักตัดต่อแต่ละคน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งมันเกินหรือขาดอาจทำให้หนังเรื่องนั้นไม่สมบูรณ์” 

เราถามต่อว่านักตัดต่อที่มีประสบการณ์มาเยอะอย่างเขาสามารถสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้คนดูได้อย่างไรบ้าง

“สมมติว่าซีนนี้กล้องกำลังจับมาที่หน้าผม ผมมองอะไรบางอย่างอยู่ แล้วตัดไปที่ภาพแม่กำลังอุ้มลูก แล้วตัดกลับมาที่ผมยิ้มอีกที แบบนี้ผู้ชมก็จะรู้ว่าผมกำลังมองแม่ลูกคู่นี้อยู่ และรู้สึกว่าผมเป็นคนใจดี อบอุ่น มองความสวยงามแล้วเป็นความรู้สึกที่ดี แต่ถ้าตัดอีกแบบ ใช้ฟุตเทจเป็นหน้าผมมองอะไรบางอย่างเหมือนเดิมเลยนะ แต่ซีนถัดมาตัดไปเป็นภาพผู้หญิงใส่บิกินี แล้วตัดกลับมาที่ผมยิ้ม ผู้ชมก็อาจจะรู้สึกว่าผมคิดไม่ดี มันหื่น ทั้งๆ ที่มันเป็นหน้าเดียวกัน แต่แค่ภาพที่เรานำมาจัดลำดับมันเปลี่ยนไป ความหมายของเรื่องก็เปลี่ยน หน้าที่ของนักตัดต่อคือร้อยเรียงภาพเหล่านี้ เพื่อให้คนดูเขาเติมเต็มจินตนาการต่อเอง ผมพยายามจะใช้สิ่งนี้กับงานตัดตัวเอง การตัดต่อมันเป็นทั้งการตัดและการกำกับ เพราะว่าเรากำกับคนดูให้รู้สึกนึกคิดในสิ่งที่เราต้องการจะบอกได้”

คำถามที่เราสงสัยต่อมาคือท่ามกลางฟุตเทจหลายสิบชั่วโมง นักตัดต่อเขามีเทคนิคในการเลือกและคัดออกของซีนต่างๆ ได้อย่างไร

“ปัญหานี้เป็นปัญหาที่นักตัดต่อทั่วโลกต้องเจอนะ” หยุดพูดพร้อมหัวเราะ

“ผมเริ่มจากคิดว่าตัวเองเป็นคนเขียนบทก่อน มองภาพรวมของหนังทั้งเรื่อง เรียงโครงเรื่องต่างๆ ออกมาให้เป็นภาพ ความพิเศษของงานเราคือ มันอนุญาตให้เราลองผิดลองถูกได้ เราพร้อมจะ UNDO หรือลบทิ้งได้ตลอดเวลา ผมมักจะเรียงตามบทไว้ก่อน พอเราเห็นโครงสร้างทั้งเรื่องแล้ว ให้เราถอยห่างออกมาเป็นคนดู แล้วคิดตามว่าตอนนี้ผู้ชมกำลังรู้สึกอะไรกับภาพยนตร์ในช่วงเวลาต่างๆ และนำมาเรียงเป็นกราฟของอารมณ์เพื่อใช้ในการปรับลดรายละเอียดของซีนต่างๆ ได้ดีขึ้น

“สมมติว่าผมตัดฉากที่คนกำลังพูดคุยกัน ผมมักจะใช้วิธีการจินตนาการเอาตัวเองเข้าไปอยู่กลางวงสนทนานั้น สมมติเราคุยกันคนดูจะอยู่ตรงนี้ แล้วเวลาพูดประโยคนี้เราอยากมองใคร ผมจะถอยออกมามองก่อนว่าเขาคุยอะไรกัน และเราจะเลือกใช้ภาพไหนเพื่อสร้างบทบาทของคนดูว่าเขาอยู่ตรงไหนของซีนนั้น ซึ่งถ้าไม่คิดตรงนี้หนังมันก็อาจจะแบน ตัดสลับกันไปมา แต่ไม่ได้เกิดความหมายหรือเกิดความรู้สึกที่ส่งถึงคนดูเลย อาจจะทำให้คนดูเป็นคนนอกและไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับหนังเท่าที่ควร”

หน้าที่ของนักตัดต่อคือการกำกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดู โจบอกกับเราว่าเวลาทำงาน เขามักจะเอาโครงเรื่องออกมาพล็อตเป็นกราฟอารมณ์ โดยที่เมื่อเวลาตัดต่อต้องเลี้ยงกราฟนี้เอาไว้ไม่ให้ตก หรือมีจังหวะผ่อนหนักเบาเพื่อให้คนดูสนุกไปกับการชมภาพยนตร์ได้ทั้งเรื่อง 

ในฐานะคนตัดต่อหนังเรื่อง Take me home : สุขสันต์วันกลับบ้าน หนังผีไทยที่ขึ้นชื่อว่าน่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง เราอยากรู้ว่าเขาตัดต่ออย่างไรให้หนังเรื่องนี้หลอนได้ขนาดนี้

“ไม่ว่าจะหนังผีหรือหนังดราม่า หลักการคือคนดูต้องเข้าใจว่าตัวละครรู้สึกอะไร ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่ง แต่เราไม่ได้มีอารมณ์ร่วมหรือลุ้นกับตัวละคร ผมเลยมองดราม่าของเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ ดราม่าของตัวละครในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นซีนร้องไห้ แต่การตัดต่อต้องทำให้ผู้ชมรู้จักตัวละครนี้ดีพอ เขาเป็นคนยังไง กำลังทำอะไรอยู่ หรือเหตุการณ์นี้มันเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางบ้าง 

“สำหรับหนังผีโจทย์มันคือการเจอผี เราอยากทำให้คนดูเข้าใจว่าตัวละครรู้สึกอะไร และทำให้ผีกลายเป็นอุปสรรคของตัวละคร เมื่อคนดูอินไปกับมันก็จะเอาใจช่วยตัวละคร และเทคนิคที่สำคัญคือการกำหนดสถานะของคนดูในแต่ละซีน เราสามารถใช้การตัดต่อกำกับได้ว่าจะให้คนดูอยู่ในตำแหน่งไหนของตัวละคร ทำให้รู้เท่ากับตัวละคร เราอาจจะทำให้มันมีสองมุมหลักๆ คือแทนสายตาหรือรีแอ็กชันตัวละคร คนดูก็จะรู้สึกตื่นเต้น หายใจเร็วขึ้นไปพร้อมๆ กับตัวละคร และใช้เทคนิคเสียงและจังหวะในการควบคุมให้คนดูคอยลุ้นตามอย่างคาดเดาไม่ได้” 

เทคนิคในการตัดต่อและมุมมองที่เขามีต่อหนังแต่ละเรื่องนั้น ล้วนต้องอาศัยประสบการณ์ในการดูหนังที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก

“หนังทุกเรื่องที่ทำ หนังทุกเรื่องที่ดู ล้วนเป็นครูให้เราในสายทางอาชีพนี้ เพราะหนังแต่ละเรื่องมีโจทย์ความต้องการแตกต่างกัน ความลำบากในการถ่ายทำไม่เหมือนกัน มันมีเรื่องที่เราต้องแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง การตัดหนังเรื่องหนึ่งผมดูหลายรอบมาก ตัดตัวอย่างเสร็จก็ต้องมานั่งดูเพื่อวิเคราะห์ในดราฟต์ต่อไป จนทุกวันนี้เราสามารถคอมเมนต์งานตัวเองได้จากหัวใจ ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ที่มีส่วนในการพัฒนาตัวผมในการตัดต่อ”

04 รักษามาตรฐาน ให้เหมือนเข้าชิงรางวัลทุกครั้ง


ผลงานของโจเริ่มโดดเด่นและเป็นที่รู้จักจากการเข้าชิงรายการสุพรรณหงส์ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมตั้งแต่ มหาสมุทรและสุสาน ใน พ.ศ. 2559 และ Ten Years Thailand ใน พ.ศ. 2561 และความสำเร็จก็เดินทางมาถึงโจ ในการได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong แม้จะไม่ได้เริ่มต้นมาด้วยความฝันที่จะเป็นนักตัดต่อตั้งแต่แรก แต่รางวัลนี้ก็เปรียบเสมือนเครื่องการันตีในประสบการณ์และคุณภาพของผลงานได้เป็นอย่างดี เราอยากรู้ว่าเขามีมุมมองอย่างไรกับรางวัลนี้

ก็คงต้องยอมรับว่ามันประสบความสำเร็จนะครับ ในปีนั้น Where We Belong ถือว่าเป็นหนังที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชมเยอะมาก ผมไม่ได้มองว่ารางวัลมีผลอะไรมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนก็อาจจะเชื่อมั่นในผลงานของเรามากขึ้น เพราะเรามีเครื่องการันตี แต่ไม่ได้หมายความว่าได้รางวัลแล้วมันจะเป็นพระเจ้า สุดท้ายผมยังคิดว่า ผมยังต้องเรียนรู้จากทุกคนที่ได้ร่วมงานกันเหมือนเดิม เราได้รางวัลจากเรื่องนี้แล้วเราอาจจะไม่ได้จากเรื่องอื่นเลย สิ่งสำคัญคือการรักษามาตรฐานงานมากกว่า

“นอกจากงานที่ผมตัดต่อจะได้เข้าชิง ผมจะดีใจทุกครั้งที่เวลานักแสดงหนังที่ตัวเองตัดได้ชิงรางวัล มันเป็นผลงานการแสดงที่ดีของเขา เป็นผลงานการกำกับที่ดีของผู้กำกับ ส่วนเราเป็นคนเลือกที่จะลำดับภาพนั้นขึ้นมาใช้ สมมติว่ามีซีนที่นักแสดงต้องร้องไห้ แต่ในฟุตเทจนั้นเขากำลังรออารมณ์อยู่ ช่วงเวลาที่นักแสดงยังไม่ทันจะร้องไห้ แต่เรารู้สึกว่าอันนี้โคตรดีเลย เราอาจจะเอาภาพนี้ไปใช้กับประโยคอื่นแทนก็ได้ถ้าสีหน้าของเขามันดูเฮิร์ตกับประโยคนั้นแทน เราเป็นคนช่วยทำให้การแสดงของเขาคมคายและถูกจังหวะมากขึ้น”

ก่อนจะจากกันเราอยากให้โจแนะนำเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจงานภาพยนตร์ ถ้าหากเป็นคนหนึ่งที่รักภาพยนตร์เหมือนเขาและอยากทำอาชีพตัดต่อควรเริ่มต้นอย่างไรกับงานสายนี้

“สำหรับคนที่อยากตัดต่อผมอยากแนะนำให้ดูหนังเยอะๆ ดูให้หลากหลายเพื่อเปิดโลกในการรับรู้ของเรา แต่ไม่ใช่แค่การดูอย่างเดียว คีย์สำคัญคือการวิเคราะห์งานที่เราทำหรือหนังที่เราดูออกเป็นซีน ฉากนั้นมันดีอย่างไร แย่อย่างไร อะไรคือปัจจัย เราต้องแก้ไขมันอย่างไร หลายคนที่เป็นนักดูหนังบางทีเขาอาจจะวิเคราะห์ไม่ได้ พอเรามีความรู้มากขึ้นมันก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการประกอบการวิเคราะห์ ผมว่าสิ่งนี้มันเหมือนการซ้อมการทำงานของอาชีพนี้ ที่สำคัญคือศึกษาเยอะๆ อ่านเยอะๆ ว่าคนอื่นที่ทำงานด้านนี้เขาทำงานเหล่านี้ยังไง อย่างเช่นผมดู Blade Runner 2049 แล้วชอบมาก ผมก็ไปหาบทความว่าคนตัดต่อเรื่องนี้เขาตัดหนังอย่างไร ทำไมเขาใช้เพลงแบบนี้ พอเราศึกษาจาก Master เราก็จะมีครูที่ดี อีกอย่างที่ช่วยได้คือเข้าร่วมโครงการหรือเวิร์กช็อปต่างๆ ที่เขาจัดเพื่อเพิ่มสกิลในการทำงาน เพราะมันสามารถเสริมองค์ความรู้ที่นำมาปรับใช้กับงานในอนาคตของเราได้”

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.