ก่อนจะขยับร่างไปดู ‘ร่างทรง’ ที่เพิ่งเข้าโรงภาพยนตร์ไปสดๆ ร้อนๆ จากฝีมือผู้กำกับหนังสยองขวัญ อย่าง ‘โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล’ และ ‘นา ฮงจิน’ ในบทบาทของโปรดิวเซอร์ ซึ่งใครที่เป็นแฟนหนังของเขาต้องเคยเห็นลีลาการเล่าเรื่องหมอผี และพิธีกรรมไสยศาสตร์ฉบับเกาหลีเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Wailing (2016)’ ที่สร้างความหลอนแก่คนดูได้อยู่หมัด
พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของเกาหลีเป็นหนึ่งในประเพณีที่เก่าแก่และสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น โดยเฉพาะ ‘เกาะเชจู’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ชื่อว่า ‘Jeju Keungut (เชจู คึนกุต)’ มาอย่างยาวนาน และยึดโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของชุมชน ทำให้ Cultural Heritage Administration (CHA) หรือองค์การบริหารมรดกวัฒนธรรมของเกาหลี ไม่มองเรื่องหมอผี-ร่างทรง-ไสยศาสตร์ เป็นแค่สิ่งงมงาย แต่มองลึกไปถึงแก่นของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การรักษาเอาไว้
เพราะการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในแต่ละครั้ง ครอบคลุมรูปแบบศิลปะดั้งเดิมเอาไว้หลายแขนง ทั้งดนตรีดั้งเดิม การเต้นรำ การร่ายบทกวี การละเล่นพื้นบ้าน ภาษาถิ่น หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งเนื้อหาในบทเพลงจะสะท้อนถึงมุมมองของชาวเชจูที่มีต่อการสร้างโลก ชีวิต และความตาย
โดยรูปแบบจะเริ่มจาก ‘Yeongsin (ยองชิน)’ คือขั้นตอนการอัญเชิญเทพเจ้านำทางมายังโลก จากนั้นหมอผีจะเต้นรำและร้องเพลงเพื่อให้ความบันเทิงและสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า ‘Osin (โอชิน)’ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอน ‘Songsin (ซองชิน)’ คือการกล่าวบทส่งพระเจ้าหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม โดยระหว่างทำพิธีกรรมจะมีคนนั่งอยู่หน้าโต๊ะพิธีกรรมและทำ ‘Yeoldu Bonpuri (ยอลดู บอนพูรี)’ หรือการท่องบทกวีทั้ง 12 บท ถึงจุดเริ่มต้นของสวรรค์และโลก
นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์ยังสังเกตเห็นว่าบทสวดที่เหล่าหมอผีใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายล้วนแล้วแต่เป็นภาษาถิ่นเชจูในสมัยโบราณ พวกเขาจึงสนใจทำการวิจัยโครงสร้างของภาษาเป็นสิ่งต่อไป ซึ่งเปรียบเสมือนพจนานุกรมที่บรรจุภาษาเชจูเอาไว้
นี่จึงเป็นสิ่งน่ายินดีที่ Cultural Heritage Administration มองพิธีกรรมเหล่านี้ผ่านสายตาของความใคร่รู้ ตั้งใจศึกษาวัฒนธรรมหมอผีอย่างจริงจัง และเตรียมยกให้เป็นหนึ่งมรดกสำคัญของชาติ ซึ่งหากเราตัดความเชื่อและสิ่งลี้ลับออกไปจากสมการ จะพบว่าวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถสะท้อนถึงความเป็นอยู่ รวมถึงประวัติศาสตร์ชุมชนได้อย่างดี
Source : The Korea Times | https://bit.ly/2ZAHg31