ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการทำงานแบบถวายหัว ทำงานกันหนักจนมีข่าวที่ไม่สู้ดีนักออกสู่สายตาชาวโลกอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด Panasonic ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นได้ออกมายอมรับผิด และกล่าวคำขอโทษไปยังอดีตพนักงานที่ฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักเกินไป
อดีตพนักงานดังกล่าวเป็นชายอายุ 43 ปี จากจังหวัดฮิโรชิมา ผู้เริ่มทำงานให้กับพานาโซนิคตั้งแต่ปี 2003 ในตำแหน่งคนงาน ก่อนที่ในปี 2019 จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าแผนกวิศวกรรมที่ทำให้เขาต้องประสบกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและหนักหน่วงมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งที่เวลาในการทำงานตามมาตรฐานมีเพียง 40 ชั่วโมง จนต้องเข้านอนในเวลาประมาณตี 4 – 5 และออกจากบ้านไปทำงานอีกครั้งก่อน 8 โมงเช้า
ทนายความของเขาบอกว่านอกจากชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ภาระงานที่มอบให้ก็ค่อนข้างเกินกำลัง ในบางวันเขาต้องประชุมมากถึง 10 ครั้ง และหนึ่งในเงื่อนไขของการเลื่อนขั้น พานาโซนิคยังต้องให้พนักงานทดสอบว่าตนเองมีคุณสมบัติเพียงพอ จนทำให้เขาไม่มีเวลาสำหรับจัดการงานในตำแหน่งปัจจุบัน และในที่สุดกิจวัตรที่ไม่เป็นปกติก็ทำให้อดีตพนักงานตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากการทำงานหนักมากเกินไป และตัดสินใจฆ่าตัวตายในเดือนตุลาคมปี 2019
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งและได้รับความสนใจในระดับชาติ ในปี 2018 ก็ได้มีการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยกำหนดให้มีการทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งยังไม่ได้ผลในเชิงปฏิบัติเพราะบริษัทใหญ่หลายแห่งรายงานชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจบริษัท 24,042 แห่ง และพบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว
การทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบนี้ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รัฐบาลแดนปลาดิบยังเปิดเผยอีกว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายราว 1 ใน 10 ครั้ง เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องงาน
สำหรับกรณีนี้โฆษกของพานาโซนิคบอกว่าตอนนี้บริษัทตระหนักดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการแก้ไขนโยบายเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทได้อัปเดตระบบเพื่อให้นับชั่วโมงของพนักงานที่ทำงานจากบ้านด้วย
“บริษัทขออภัยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและยื่นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการบริหารเวลาของพนักงาน นับเป็นครั้งแรกที่พานาโซนิคจะนับรวมเวลาของการทำงานที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของชั่วโมงในการทำงาน” ทนายความของอดีตพนักงานยังเสริมว่าการทำงานหนักเกินไปเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นการนับเวลาทำงานอย่างเป็นธรรมสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นบริษัทต่างๆ จะสามารถเลี่ยงช่องโหว่เหล่านี้ได้
Source : VICE