ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญแรงกดดันและความเครียดจากปัญหารอบตัวอย่างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โรคระบาด รวมไปถึงปัญหารายวันจากที่ทำงานและเรื่องส่วนตัว แต่เพราะบทบาททางสังคมและหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ หลายคนจึงไม่สามารถระบายปัญหาหนักอกหนักใจให้ใครรู้ได้ ทำได้แค่เก็บความรู้สึกที่หนักอึ้งเหล่านั้นไว้กับตัวเอง
เพราะเหตุนี้ Onken บริษัทผลิตสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์อะคริลิกสัญชาติญี่ปุ่นจึงปิ๊งไอเดียทำ ‘ป้ายบอกระดับพลังงาน’ แจกให้พนักงานในบริษัทใช้ติดเสื้อเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าพลังงาน พลังใจ ของพวกเขาในช่วงเวลานั้นๆ เหลืออยู่เท่าไหร่
ทางบริษัทเปิดเผยว่า ขั้นตอนผลิตเจ้าป้ายติดหน้าอกชิ้นนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์ข้อความลงบนแผ่นอะคริลิกขนาดใหญ่ จากนั้นก็ใช้เครื่องเลเซอร์ตัดแบ่งให้เป็นป้ายขนาดเล็ก โดยข้อความบนป้ายจะระบุระดับ ‘Hit Point’ หรือหน่วยวัดพลังชีวิตของตัวละครในเกม ที่ถูกนำมาใช้แทนพลังงานที่เหลืออยู่ของคนคนนั้น
ป้ายชนิดนี้มีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับ ระดับพลังงานสูงสุดคือสีเขียว (10,000/10,000 พลังชีวิต) รองลงมาคือสีเหลือง (3,899/10,000 พลังชีวิต) ต่ำสุดคือสีแดง (15/10,000 พลังชีวิต) พนักงานสามารถเลือกป้ายมาติดเสื้อตามระดับพลังงานและความรู้สึกในตอนนั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้พนักงานสื่อสารสภาพร่างกายและจิตใจให้คนอื่นรับรู้โดยไม่ต้องเอ่ยคำใดๆ
ในทางกลับกัน ป้ายนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานได้ด้วย เพราะมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างเหล่าพนักงานที่ไม่ค่อยมีโอกาสคุยกันเท่าไหร่ พวกเขาอาจถามสารทุกข์สุกดิบกันจากการดูป้ายของอีกฝ่าย ทำให้บรรยากาศในบริษัทสดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น
Onken เปิดเผยว่าพนักงานในหลายแผนกชื่นชอบไอเดียและเริ่มติดป้ายระหว่างทำงานกันแล้ว นอกจากนี้ ทางบริษัทยังแชร์รูปป้ายบอกระดับพลังงานลงบนทวิตเตอร์ ซึ่งกระแสตอบรับจากโลกออนไลน์ก็ดีเกินคาด ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชมและสนใจแนวคิดนี้ บางคนแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเอาป้ายบอกสเตตัสแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียนหรือในโรงพยาบาลได้ก็คงจะดีไม่น้อย
ใครอยากเป็นเจ้าของป้ายบอกระดับพลังงานสุดครีเอทีฟนี้คงต้องรอกันอีกหน่อย เพราะตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นแรกของการผลิตสินค้า คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะวางจำหน่ายในประเทศไหนบ้าง
เห็นบริษัทญี่ปุ่นผุดไอเดียการสื่อสารที่สนุกและสร้างสรรค์แบบนี้แล้วก็ได้แต่หวังว่าบริษัทในประเทศไทยเองจะมีวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดความเครียดให้คนทำงาน และส่งเสริมให้ทุกคนเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นเช่นกัน
Sources :
ITmedia | t.ly/VC25
Twitter : ケンさん|株式会社 音研 | t.ly/8xhQ