ถ้าให้นึกถึง ‘เชียงใหม่’ หมุดหมายปลายทางของใครหลายคน ภาพหน้าบ้านที่เห็นอาจจะเต็มไปด้วยความสวยงาม ที่โดดเด่นทั้งประเพณี วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ผู้คนที่เป็นมิตร และสถานที่ท่องเที่ยวมากมายนับไม่ถ้วน แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าในรั้วบ้านของชาวเชียงใหม่ มีปัญหาหนึ่งที่คนในพื้นที่เผชิญมายาวนานหลายสิบปี
อย่างปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียของ ‘คลองแม่ข่า’ คลองคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ ที่ในอดีตเคยเปล่งประกายด้วยความใสสะอาด เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำ หากินด้วยการจับกุ้ง หอย ปลา ปูในคลอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมืองขยายตัว ความเจริญค่อยๆ แทรกตัวเข้ามา สวนทางกับคลองที่เคยเป็นชีวิตของคนริมน้ำก็ค่อยๆ ตายลงไป จากที่เคยเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ ก็กลายเป็นที่อยู่ของขยะและสิ่งปฏิกูลอื่นๆ แทน
จนเมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาของคลองแม่ข่าได้ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ด้วยกลุ่มคนทั้งรุ่นเก่า และใหม่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังที่อยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ผ่านโปรเจกต์สุดยิ่งใหญ่อย่าง โครงการ ‘Imagine Maekha’ ที่รวบรวมหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมาทำงานร่วมกัน ซึ่ง ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ก็เป็นผู้ร่วมเดินทางกลุ่มหนึ่งที่ขับเคลื่อนโปรเจกต์นี้
การเดินทางมาเชียงใหม่ครั้งนี้ เราดีใจมากที่ ‘คุณอ้อ – แพรวพร สุขัษเฐียร’ หนึ่งในผู้บุกเบิกสตูดิโอออกแบบแห่งนี้มานั่งพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ รวมถึงโปรเจกต์ ‘Imagine Maekha’ นี้ด้วย
| ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ คือใคร ?
คุณอ้อ : ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เรามีชื่อว่า ‘กลุ่มคนใจบ้าน’ เป็นคนธรรมดาที่มีอาชีพเป็นสถาปนิกที่สนอกสนใจอยากทำงานเกี่ยวกับชุมชน มีความอยากรู้อยากลองว่าหากได้ทำงานกับผู้คน ชุมชน และเมือง จะเป็นอย่างไร เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เรารู้ว่า การเป็นสถาปนิกสามารถนำงานออกแบบเข้าไปอยู่ในชุมชน กลมกลืนเข้ากับผู้คน สังคม และธรรมชาติได้ ทั้งนี้เรายังสามารถนำงานออกแบบที่ทำไปต่อยอด แชร์ประสบการณ์กับเพื่อนๆ ในวิชาชีพ หรือคนที่สนใจในงานของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้งานออกแบบของกลุ่มคนใจบ้านเข้มแข็ง จนกลายมาเป็น ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ในปัจจุบัน
| ความหมายของ ‘ใจบ้าน’
คุณอ้อ : ‘ใจ’ ในภาษาเมือง หมายถึง แก่นกลางและการดูแลเอาใจใส่ ที่สอดคล้องกับเวลาที่เราตั้งหมู่บ้านมันจะมีแกนกลางหรือจุดศูนย์กลางหมู่บ้าน ที่เรียกกันว่า ‘ใจบ้าน’ ตั้งอยู่ ส่วน ‘บ้าน’ คือ ความเป็นครอบครัว ความเป็นบ้านเกิด ความเป็นเมือง ที่ประกอบไปด้วยผู้คน สังคม และวัฒนธรรมอยู่รวมกัน ดังนั้นคำว่า ‘ใจบ้าน’ จึงเป็นนิยามหรือคำจำกัดความที่อธิบายความเป็นทีมเราได้ดีที่สุด
| สไตล์การทำงานของ ‘ใจบ้านสตูดิโอ’
คุณอ้อ : ในการทำงานของใจบ้านสตูดิโอ เราจะทำงานร่วมกับชุมชน การออกแบบจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก รองลงมาถึงจะเป็นเรื่องการดีไซน์
| ‘ปรัชญา 5 ไมล์ของคานธี’ หัวใจในงานออกแบบของใจบ้านสตูดิโอ
‘ปรัชญา 5 ไมล์ของคานธี’ คือ หัวใจที่ถูกใส่ไปในงานของใจบ้านสตูดิโอ นั่นก็คือการออกแบบในแต่ละครั้งจะเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นระยะไม่เกิน 5 ไมล์ มาใช้สำหรับการก่อสร้างอาคาร เพื่อช่วยลดทั้งการขนส่ง เพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สร้างคุณค่า ให้กับคนในชุมชนไปพร้อมกัน
คุณอ้อ : ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ โปรเจกต์ ‘Akha Ama Living Factory ที่เป็นทั้งบ้าน ร้านกาแฟ โรงคั่ว และโกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ ลี – อายุ จือปา ซึ่งในการออกแบบเราปรึกษากับลีว่า จะใช้วัสดุหลักเป็นไม้เก่าที่มีอยู่แล้ว และอิฐมอญ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเชียงใหม่ มาใส่ไว้ในอาคารกึ่งโมเดิร์นหลังนี้
| การเลือกวัสดุท้องถิ่นสไตล์ใจบ้าน มีหลักการอย่างไร
คุณอ้อ : ในการเลือกวัสดุอย่างแรกคือ ฟังก์ชันที่ลงตัว นำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์ เช่น โรงคั่วของ Akha Ama ที่ต้องเป็นพื้นที่ระบายอากาศได้ดี วัสดุไม่สะสมความร้อน ส่วนนี้เราใช้อิฐมอญแทนผนังคอนกรีต หรือโกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ก็เลือกใช้เป็นผนังคอนกรีตเปลือยแทนใช้ไม้ และแม้การใช้งานจะถูกมองเป็นหลัก แต่เราก็ไม่ได้ละเลยเรื่องรูปลักษณ์ความสวยงาม ดังนั้นวัสดุที่เลือกมาก็ต้องสอดคล้องกับโปรเจกต์ของลูกค้า เมื่อจัดวางแล้วไม่ดูเชย
| ออกแบบอย่างไรให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
คุณอ้อ : ทุกงานของใจบ้านสตูดิโอ สิ่งที่ต้องคำนึงในการออกแบบคือ ทุกอาคารต้องสามารถพึ่งพาพลังงานลมและแสงจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงทำอย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า
| สะท้อนถิ่นที่อยู่ ผ่านวัฒนธรรม สู่สถาปัตยกรรม
คุณอ้อ : อันดับแรกต้องเข้าใจโจทย์ว่ามันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้านไหน อย่างการออกแบบ Akha Ama ลี เจ้าของโปรเจกต์ต้องการทำให้ทุกคนเห็นและเข้าใจความเป็นชาวอาข่า เราจึงแปลงสิ่งเหล่านั้นมาไว้บนตัวอาคาร เช่น การทำหลังคาโดยการเอาจันทันยื่นออกมาเหมือนบ้านของชาวอาข่าที่ลีเคยอยู่ ที่มองแล้วให้รู้สึกว่ามันเป็นบ้านจริงๆ หรือจะเป็นการถอดลายผ้ามาทำเป็นลายกำแพงที่แทรกอยู่ในส่วนต่างๆ ของอาคาร เป็นต้น
| โครงการ ‘Imagine Maekha’ อีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ที่ไม่ได้มีแค่ใจบ้าน
‘Imagine Maekha’ เป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ที่นอกจากใจบ้านสตูดิโอ ก็ยังมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกัน อย่างเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดงาน ‘Imagine Maekha 2019 ครั้งที่ 1’ ในการเปิดเวทีสาธารณะให้กับเหล่าสถาปนิก นักภูมิสถาปนิก นักออกแบบเมือง วิศวกร และจิตอาสา ได้มาเสนอแนวทางการพัฒนาสำหรับ 4 ย่านหลักของเมืองเชียงใหม่ที่คลองแม่ข่าพาดผ่านในอีก 10 ปีข้างหน้า กับกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยการมีส่วนร่วมพร้อมเปิดโอกาสรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากทุกภาคส่วน
คุณอ้อ : ที่ผ่านมาปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่า ไม่ใช่ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาแก้ไข แต่เพราะปัญหาที่ยุ่งเหยิงเป็นแผลเรื้อรังมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทำให้หลายคนมองว่าคลองแม่ข่าคงไม่มีทางกลับมาใสได้เหมือนเดิม บวกกับชาวบ้านริมคลองเองก็แทบจะไม่มีความมั่นคงทางที่ดิน หลายคนเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องปรับพื้นที่ให้มันดีขึ้น ส่วนฝั่งคนเมืองก็รู้สึกว่า คนริมคลองเป็นคนทำน้ำเสียหรือเปล่า อีกมุมหนึ่งคนก็ลืมไปว่าที่ตัวเองใช้ขยะทุกวันนี้มันส่งผลอะไรกับคลองแม่ข่าหรือไม่ หรือคิดไหมว่าน้ำเสียจากบ้านเรามันไหลลงไปที่ไหน ในเชิงนักท่องเที่ยวเองคนมาเที่ยวเชียงใหม่จำนวนมาก แต่มาแล้วก็กลับไป ทิ้งไว้แต่ขยะและน้ำเสียที่มาจากเกสเฮ้าส์หรือโรงแรม
“แม้ความเป็นไปได้จะมีแค่ 0.01% เราก็ยังมีความหวัง ในวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เรายังมีคนคอเดียวกันมาเสนอแนะ แสดงความห่วงใย และพูดคุยหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งเชิงสังคม เชิงการมีส่วนร่วม เชิงอำนาจการตัดสินใจของรัฐ แล้วก็ยังเชื่อมั่นว่า ถ้าทำเวทีนี้บ่อยๆ อย่างน้อยเราก็น่าจะสะสมผู้คนที่มีจินตนาการของคลองแม่ข่าเป็นภาพเดียวกันกับเรา”
| คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร และคนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้อย่างไรบ้าง
คุณอ้อ : เริ่มจากการเปิดเพจ ‘Imagine MaeKha’ ขึ้น เพื่อสื่อสารให้ทุกคนเห็นว่าอีกฟากหนึ่งของชุมชนริมคลองกำลังทำอะไรกันอยู่ ยังมีคุณลุงคุณป้าที่ทำงานและช่วยกันดูแลรักษาคลองแม่ข่าตลอดมา แต่ว่าคนทั่วไปกลับไม่เคยรู้ อีกอันที่ผลักดันที่จะให้เกิดขึ้นคือ ‘กองทุนแม่ข่า’ เรียนรู้ไปด้วยกันว่าหากได้เงินสนับสนุนมา ทั้งโครงการ ชาวบ้าน และทุกคนจะทำอย่างไรให้เงิน 10 บาท กลายเป็น 11 บาท และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
คุณอ้อ : นอกจากนี้สิ่งที่เราพยายามทำคือ การสร้างกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาคลองแม่ข่า อย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ก็คือกิจกรรมที่พาเด็กๆ ไปดูต้นน้ำในชุมชนว่าเป็นอย่างไร ทำไมมันถึงไหลมาไกลจนถึงหน้าบ้านเรา และน้ำมันเริ่มเน่าเสียจากตรงไหน ซึ่งเราคาดหวังว่าจุดเล็กๆ ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง
| ภาพจินตนาการของ ‘คลองแม่ข่า’ ในอนาคต
คุณอ้อ : นอกจากเรื่องสภาพน้ำเน่าเสีย คลองแม่ข่ามีปัญหาทับซ้อนมากมาย อย่างในเชิงของภาครัฐที่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเต็มตัว เพราะยังมีหมวกหรือหน้าที่อยู่ ซึ่งตรงนี้ก็คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขัดต่อหน้าที่รัฐ ให้ทุกอย่างพอดีลงล็อก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกัน ซึ่งมันก็ยากเหมือนกัน เพราะในเชิงอำนาจเราแทบจะไม่มี แต่เราเชื่อว่าถ้ามีพลังมวลชน หรือว่าคนเห็นด้วยมากๆ จากพลังเล็กๆ รวมกันเป็นก้อนใหญ่ มันก็น่าจะเป็นอะไรที่กระตุกให้ผู้มีอำนาจหันมามองสิ่งที่เราทำได้เหมือนกัน
| ถ้าให้ใจบ้านสตูดิโอ เลือก 1 พื้นที่ในกรุงเทพฯ จะเลือกพัฒนาตรงไหน
คุณอ้อ : แน่นอนว่าความซับซ้อนของปัญหาในกรุงเทพฯ หนักหนากว่าเชียงใหม่หลายเท่า จนไม่รู้จะเริ่มแก้ที่จุดไหนก่อนดี แต่หากมองในส่วนของชุมชนก็จะเลือกชุมชนริมคลองเปรม เพราะเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว เราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมชน ซึ่งตอนนั้นก็เจอสถานการณ์เหมือนที่ชุมชนคลองแม่ข่า คือชาวบ้านมีพื้นที่อยู่อาศัยไม่มาก และส่วนใหญ่ก็อยู่บนที่ดินของกรมธนารักษ์