ทำความรู้จัก ‘เมียนมาร์’ หรือ ‘พม่า’ ในมุมใหม่ที่ ‘ทะเลสาบอินเล’ ผ่าน ‘ชาวอินตา’ ชนเผ่าที่ใช้ชีวิตด้วยวิถีแปลงเกษตรลอยน้ำมากว่าพันปี ทั้งยังเป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาร์ รวมไปถึงผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่โตวันโตคืนเหนือสายน้ำ
Focusing on Inle Lake : ทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสองของพม่า
มุ่งไปทางตอนเหนือของเมียนมาร์ คือที่ตั้งของ ‘ฉาน’ รัฐที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ซึ่งก่อตั้งโดยชนชาติฉาน หรือชาวไทใหญ่ โดยภายในรัฐมีตองยีเป็นเมืองหลวง คู่กับเมืองเล็กๆ อีก 53 เมือง และแน่นอนว่ารัฐฉานคือที่ตั้งของทะเลสาบที่เราจะพาไปเจาะลึกแบบ In focus อย่าง ‘ทะเลสาบอินเล’
ทะเลสาบอินเล หรือตามภาษาไทใหญ่เรียกว่า หนองอางเล เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเมียนมาร์ อยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งห่างจากเมืองตองยีออกไปประมาณ 25 กิโลเมตร ผืนน้ำใสสะอาดของอินเลมีพื้นที่ประมาณ 116 ตารางกิโลเมตร ลึกประมาณ 2 – 8 เมตรขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล อุดมไปด้วยปลาหลากหลายสายพันธ์ุ และถูกโอบล้อมด้วยท้องฟ้าสีคราม พร้อมภูเขาเขียวขจีมากมาย จนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวสุดแสนโรแมนติกที่ผู้คนมากมายอยากมาให้เห็นกับตาสักครั้ง
ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2015 ทะเลสาบอินเล ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเขตสงวนชีวมณฑล ( Biosphere Reserves ) เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและชุมชนริมฝั่งให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
Focusing on Intha : วิถีชนเผ่าอินตาริมฝั่งทะเลสาบ
นอกจากความสวยงามของทิวทัศน์ที่ทะเลสาบอินเลแล้ว ชุมชนริมน้ำคืออีกหนึ่งเสน่ห์น่าหลงใหล หนึ่งในนั้นคือ ‘ชนเผ่าอินตา’ (Intha) อยู่คู่กับทะเลสาบอินเลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และสืบทอดเชื้อสายกันมาจนปัจจุบันที่มีประชากรอยู่อาศัยราวสองแสนคน ซึ่งทำเกษตร ประมง ทำเครื่องเงินเครื่องทอง และทอผ้าเป็นอาชีพหลัก
“อินตา ในภาษาพม่าแปลว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่บนทะเลสาบ”
ที่เราบอกว่า “อาศัยอยู่บนน้ำ” ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะชาวอินตาปลูกบ้านไม้ยกพื้น หลังคามุงแฝกกันในทะเลสาบ ซึ่งมีทั้งบ้านชั้นเดียว สองชั้น ไปจนถึงสามชั้น ซึ่งระดับความสูงของการยกพื้นจะถูกวัดจากระดับน้ำขึ้นที่สูงที่สุด พร้อมกับปลูกห้องครัวและห้องน้ำแยกออกจากตัวบ้านซึ่งห่างกันไม่มากนัก และที่สำคัญแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่จอดเรือส่วนตัวอยู่หน้าบ้าน เพราะทุกการเดินทางของชาวอินตาในทะเลสาบอินเลต้องอยู่อย่างน้ำพึ่งเรือ
เมื่อต้องใช้ชีวิตแบบพึ่งเรือ แน่นอนว่าทักษะการพายเรือคือเรื่องที่ชาวอินตามีติดตัวกันอย่างถ้วนทั่ว แต่ความพิเศษอยู่ที่ไม่ได้ใช้มือพาย เพราะวิธีการพายเรือที่เราคิดว่าสุดเจ๋งของที่นี่คือการใช้ ‘เท้า’ พาย เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิต อย่างการทำเกษตรที่เมื่อเท้าพายแทน มือก็จะคอยเก็บเกี่ยว
Focusing on Floating Farms : แปลงเกษตรลอยน้ำ
ก่อนหน้านี้เราทิ้งท้ายไว้ว่าอาชีพหลักของชาวอินตาคือการทำเกษตร ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่การพรวนดิน หวานเมล็ด และคอยรดน้ำให้เติบโต เพราะชาวอินตาปลูกเหล่าผัก ผลไม้บนแปลงเกษตรลอยน้ำ ใช่แล้ว อ่านไม่ผิดกันหรอก เกษตรกรแห่งทะเลสาบอินตามีวิถีการเกษตรแบบเหนือน่านน้ำ
โดยวิธีการทำเกษตรลอยน้ำถือเป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นของชาวอินตา ด้วยการนำผักตบชวาไปตากแห้ง เพื่อให้มีความเหนียวแน่นคล้ายโฟม ก่อนจะนำมาวางทับบนไม้ไผ่ที่สานไว้ ตามด้วยตักโคลน สาหร่าย และกกจากใต้น้ำขึ้นมาทับด้านบนให้สูงประมาณ 3 เมตร ซึ่งสิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้พืช จากนั้นนำไปผูกกับไม้ไผ่ลำยาวที่ปักหลักยึดกับดินเอาไว้ ซึ่งข้อดีของรูปแบบแปลงเกษตรลอยน้ำนั้นมีหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องรดน้ำให้เปลือง ที่สำคัญหมดห่วงยามหน้าแล้ง
“หากมาเยือนทะเลสาบอินเล แต่ไม่ได้ลิ้มรสมะเขือเทศสดๆ ก็จะถือว่ามาไม่ถึงที่ !”
ซึ่งพืชเศรษฐกิจของทะเลสาบอินเลคือ ‘มะเขือเทศปลอดสาร’ ที่จะปลูกในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเท่านั้น ซึ่งด้วยความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่ เพียงสองเดือนก็จะได้ผลผลิตเป็นมะเขือเทศลูกโต ที่ว่ากันว่ารสชาติหวานกรอบกว่าที่ไหนๆ ส่งไปขายตามตลาดในเมืองทั่วเมียนมาร์ได้ราคาดี ไม่เพียงเท่านั้นยังปลูกพืชผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟักแม้ว ถั่ว มันฝรั่ง ผักกาด แตงกวา ดอกกะหล่ำ มะเขือยาว รวมถึงไม้ดอก อย่างเดซี่ที่ใช้สำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ อีกด้วย
แปลงเกษตรลอยน้ำไม่ได้เป็นเพียงสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอินตาเท่านั้น แต่ยังเป็นจิตวิญญาณที่ส่งต่อกันมาหลายต่อรุ่น โดยเฉพาะเมื่อลูกสาวบ้านไหนแต่งงานออกเรือน ครอบครัวก็จะมอบแปลงเกษตรลอยน้ำเป็นสินสอดทองหมั้น สื่อความหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เสมอ
fareastour.asia | https://bit.ly/2ZlLur3 blogs.cornell.edu https://bit.ly/3eN6mOi
https://en.wikipedia.org/wiki/Intha_people
Suthichai live | https://www.youtube.com/watch?v=RtIPG2Oy3Y0