ตอนนี้ในประเทศฮังการีกำลังให้ความสนใจกับรายงานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ‘Pink Education’ และความเสี่ยงของระบบการศึกษาที่มีความ ‘เป็นผู้หญิงมากเกินไป’ จนอาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในประเทศและปัญหาสัดส่วนของประชาชน เพราะผู้หญิงที่มีการศึกษาจะไม่สามารถหาคู่สมรสที่อยู่ในระดับการศึกษาเดียวกันได้ ซึ่งจะเป็นผลให้อัตราการเกิดของคนในประเทศลดลง
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของฮังการีได้เผยแพร่รายงานชิ้นนี้ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 แต่เพิ่งได้รับความสนใจหลังถูกพูดถึงในบทความของหนังสือพิมพ์ Népszava เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฮังการีมีผู้หญิงลงทะเบียนเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ชาย โดยตัวเลขของผู้หญิงเข้าศึกษาช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้อยู่ที่ 54.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการลาออกจากการศึกษาของผู้ชายก็สูงขึ้นด้วย ส่วนจำนวนผู้หญิงในวิชาชีพครูนั้นก็มีมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
รายงานอธิบายว่า ‘คุณลักษณะของผู้หญิง’ อย่างเรื่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคมที่ได้รับการส่งเสริมในระบบการศึกษาของฮังการีนั้นจะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศอ่อนแอลงมาก และยังมองว่าเศรษฐกิจของฮังการีอาจตกอยู่ในความเสี่ยงหาก ‘คุณลักษณะของผู้ชาย’ อย่างทักษะทางเทคนิค การแบกรับความเสี่ยง และการเป็นผู้ประกอบการนั้นถูกประเมินค่าต่ำลง
นอกจากนี้ รายงานยังมองว่าเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็กรุ่นใหม่ในการแก้ปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชาย อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ค้าง ก๊อกน้ำรั่ว หรือแม้แต่ปัญหาไม่มีคนประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาใหม่ แม้ว่าความจริงแล้วบรรดาผู้หญิงเองก็สามารถแก้ปัญหาหรือทำงานเหล่านี้ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายเสมอไป
ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านอย่าง Endre Toth ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์รายงานชิ้นนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การพูดถึงคุณสมบัติชายและหญิงเป็นความไร้สาระทางวิทยาศาสตร์ และถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเปลี่ยนแนวคิดที่คร่ำครึนี้เสียที
ฮังการีต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว หลังจาก Dunja Mijatović กรรมาธิการด้านสิทธิของ Council of Europe ได้กล่าวขณะเยือนฮังการีในปี 2019 ว่า ฮังการีกำลังถอยหลังในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี
แม้เมื่อไม่นานมานี้ ฮังการีเพิ่งได้ Katalin Novák เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ แต่เธอก็เป็นเพียงผู้หญิงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ฮังการีอยู่ในอันดับรองสุดท้ายของ 27 ประเทศสหภาพยุโรปในเรื่องจำนวนผู้หญิงที่มีบทบาทในรัฐบาล
แม้ว่าหนทางสู่ความเท่าเทียมทางเพศของฮังการีอาจยาวไกลและต้องใช้เวลาอีกนาน แต่เราเชื่อว่ารายงานเกี่ยวกับ Pink Education ที่ถูกโต้เถียงในวงกว้างจะช่วยให้ฮังการีและประเทศอื่นๆ หันมาให้ความสนใจและขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรี รวมถึงความเสมอภาคทางเพศในประเทศของตัวเองมากขึ้น
Sources :
BBC | bbc.in/3R7mcH2
South China Morning Post | bit.ly/3R47CzS