มอง ‘เอกมัย’ แบบ ‘คนเอกมัย’ - Urban Creature

เอกมัย หรือ ซอยสุขุมวิท 63 หนึ่งทำเลทองใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นย่านที่ใครต่างก็มองว่าจะใช้ชีวิตแถวนี้ได้ต้องรวยและมีไลฟ์สไตล์สุดคูล หรูหราน่าตื่นเต้น หรือจะมองว่าเป็นแหล่งรวมตัวของคนรุ่นใหม่ แหล่งที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ แหล่งรวมพนักงานออฟฟิศ ธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงร้านรวงที่ฮิป ๆ เหมาะแก่การมาแฮงเอาท์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร

นี่คือภาพในมุมของคนนอกอย่างผม ที่มองเอกมัยว่าเป็นย่านที่เต็มไปด้วยความเจริญหูเจริญตา ผู้คนใช้ชีวิตกันแบบฟู่ฟ่า แต่หากลองมองให้ลึกลงไป ‘คนเอกมัย’ จริง ๆ เขามองภาพเอกมัยเป็นอย่างไรกัน ลองออกไปเดินสำรวจย่านเอกมัย และพูดคุยกับชาวเอกมัยพร้อมกับผมกันครับ

ผมมาหยุดอยู่ที่ ร้านเจริญพาณิชย์ ร้านขายหนังสือที่ตั้งอยู่บนถนนเอกมัย ภาพของร้านในตึกแถวเก่า ทำให้ผมมองว่า ที่นี่จะต้องมีคนเอกมัยที่อยู่มาอย่างยาวนานแน่นอน พี่ชวลิต สุวรรณธนาสาร เจ้าของร้านเจริญพาณิชย์ ออกมาทักทายลูกค้าตามปกติ เมื่อเห็นท่าทีว่าผมอยากพูดคุยด้วย ก็ยินดีให้คนนอกอย่างผมเข้าไปนั่งพูดคุยในร้านที่พาให้รู้สึกถึงบรรยากาศคลาสสิกแบบสมัยก่อน

เอกมัยในอดีต

“พี่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ร้านนี้ก็ตั้งอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ตอนนี้พี่ดูแลร้านต่อจากพ่อของพี่ เอกมัยสมัยก่อนเป็นซอยเล็ก ๆ ตอนนี้ที่เห็นว่าถนนแคบ เมื่อก่อนมันแคบกว่านี้อีก (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เห็นว่าเอกมัยดูเจริญ ดูเป็นซอยพี่น้องกับทองหล่อ รู้ไหมว่ามันต่างจากแต่ก่อนมาก ตรงกองสลากนี่เป็นทุ่งนา มีต้นไม้เยอะ มีกระต๊อบหลายหลัง มีสลัม ตึกแถวที่เห็นสูง ๆ ก็เคยเป็นตึกแถวเตี้ย ๆ แต่ผู้คนหนาแน่นมาแบบนี้ตั้งนานแล้ว

อย่างขนส่งเอกมัย แต่ก่อนนี่เป็นเวิ้ง เป็นดินลูกรังธรรมดาเลย คนเอกมัยก็ทำมาหากินแบบที่เราเห็นทุกวันนี้แหละ ขายของ เปิดร้านอาหาร ร้านโด่งดังที่เรากินกัน แต่ก่อนก็เป็นร้านเล็กนิดเดียว”

คนเอกมัยต้องรวย (?)

“เอกมัยมันเป็นย่านที่มีความหลากหลาย มีผู้คนหลายรูปแบบ จะว่าเป็นเศรษฐีไปซะทุกคนก็ไม่ใช่ คนรวยก็มี คนธรรมดาอย่างเราก็มี แต่ก่อนเป็นที่ดินที่พระราชทานให้กับชาวมุสลิม ต่อมาก็มีผู้มีอิทธิพลในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เขาก็เริ่มมาจับจองพื้นที่ย่านนี้ กลุ่มคนแรก ๆ ที่มาสร้างบ้านเรือนก็จะเป็นพวกข้าราชการ มันก็เลยทำให้ที่นี่เริ่มมีบ้านล้อมรั้วหลังใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ขยายความเจริญมาจากทองหล่อมาสู่เอกมัยและไปยังพระโขนง”

“คนเอกมัยจะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่เสียมากกว่า มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว สมัยก่อนนี่แบ่งกันชัดเจนเลยระหว่างบ้านของเศรษฐีกับสลัม แต่ทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ไม่มีปัญหา คนรวยพอมีบ้านช่องเยอะ ก็แบ่งขายให้เจ้านู้นเจ้านี้ หรือขายที่ให้คนมาสร้างคอนโด มันก็ยิ่งทำให้เอกมัยมีความหลากหลายมากขึ้น คนจากต่างถิ่นได้จับพลัดจับผลูมาเป็นคนเอกมัย หรือฝรั่ง คนญี่ปุ่น ก็กลายมาเป็นคนเอกมัย”

‘เอกมัย’ ท่ามกลางการพัฒนา

จากที่พี่ชวลิตเล่าจนผมเห็นภาพว่า เอกมัยในอดีตมันช่างแตกต่างกับตอนนี้เสียมาก มันทำให้ผมต้องเปิดประเด็นเรื่องการใช้ชีวิตท่ามกลางการพัฒนาที่ไม่มีวันจบสิ้นขึ้นมาพูด

“ถามว่าเอกมัยมันเปลี่ยนไปมากไหม ที่จริงมันเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ทุกอย่างมันไม่ได้เปลี่ยนแบบฉึบฉับ มันค่อยเป็นค่อยไป ร้านค้าเล็ก ๆ ก็เกิดขึ้นตลอด เก่าไปใหม่มา บ้างก็หายไป บ้างก็โตขึ้นเป็นบริษัทใหญ่ก็มี ถึงหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น คนเอกมัยก็ใช้ชีวิตเรื่อย ๆ ในแบบของตัวเอง มีอะไรใหม่มาก็ใช้ อย่างรถไฟฟ้าก็ทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนง่ายขึ้น มันดีเสียอีกที่ย่านที่เป็นบ้านของเรามันเจริญ ใครต่างก็มองย่านนี้เป็นทำเลทอง”

“คนเอกมัยใช้ชีวิตเรียบง่ายในแบบของตัวเอง ท่ามกลางความคับคั่ง แสง สี เสียง แต่ที่นี่ยังคงสงบ ร่มรื่น หากเทียบกับย่านอื่นในกรุงเทพฯ

“หนึ่งเรื่องที่คงปรับตัวยากก็น่าจะเป็นเรื่อง ‘รถติด’ ปกติถนนนี้ก็รถเยอะอยู่แล้ว แต่จุดที่ทำให้รถมันติดหนักกว่าเดิม ก็เพราะมีเลียบทางด่วนเอกมัย ลองคิดดูว่าบนทางด่วนเป็นถนนหกเลน แต่พอเข้ามาเส้นเอกมัย เหลือแค่สี่เลน มันจะติดหนักขนาดไหน คนเอกมัยก็ต้องทำตัวให้ชินกับเรื่องนี้”

‘เอกมัย’ คืออะไร

“สำหรับพี่ เอกมัย คือบ้านและเป็นชีวิตของเรา พี่อยู่มาตั้งแต่เกิด ลูกสาวเรียนจบก็กลับมาอยู่ที่นี่ น้องชายก็มาอยู่ด้วยกันที่นี่ เอกมัยมันมีครบจบทุกอย่าง โรงพยาบาล วัดวาอาราม ของกิน ห้างก็เยอะ ออกด้านหลังเจออีสต์วิลล์ ด้านหน้าเจอเกตเวย์ ด้านข้างก็เอ็มควอเทียร์ ข้ามคลองแสนแสบไปเชื่อมกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มีรถเมล์หลายสาย มีซอยทะลุไปได้ทั้งทองหล่อและพระโขนง จะใช้ชีวิตหรู ๆ ก็ดี หรือจะใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายก็ได้”

“ก็ต้องยอมรับว่าเอกมัยมันเติบโตขึ้นจากแต่ก่อนมาก และพี่ก็คิดว่ามันก็ยังเติบโตต่อไปแน่นอน ทุกการเปลี่ยนแปลงในย่านนี้มันก็เป็นเรื่องปกติที่มันต้องเกิดขึ้น พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่เราก็ต้องปรับตัว”

“เราแค่มีความสุข และใช้ชีวิตแบบของเรา ที่บ้านของเรา”

Writer & Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.