เหตุผลที่คนไม่อยากกลับบ้านมีอยู่พันหมื่นข้อเรียงยาวลงมาแล้วแต่ประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคนเจอ บ้างไม่ได้รับความอบอุ่นและความรักจากพ่อ-แม่ บ้างก็โดนญาติหรือคนในครอบครัวทำร้ายจิตใจและร่างกายให้บอบช้ำ หรือบ้างประสบปัญหาแบกความคาดหวังจากครอบครัวอย่างหนักอึ้งที่บั่นทอนความสุขลงทุกวัน ‘บ้านไม่ใช่บ้าน’ จึงเป็นประโยคแทนปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดี
ในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของ ‘พ.ญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ’ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ ทำให้ฉันต่อสายถามเธอถึงสถานการณ์ไม่อยากกลับบ้านของคนทุกวัย
ให้เงิน = ความรัก
ให้ความรัก = ต้องเป็นลูกแบบที่ต้องการ
พ่อแม่ผิด = ไม่ต้องขอโทษ
เหล่านี้เป็นสมการที่ถูกปลูกฝังในความคิดและความเชื่อของความสัมพันธ์ครอบครัว เมื่อพ่อ-แม่โยนความคาดหวังให้เด็กแบก ลูกต้องเป็นไปตามสเต็ปที่วางไว้ หากไม่ทำตามจะ ‘อกตัญญู’ ทันที ซึ่งคำคำนี้เป็นคำที่เด็กรู้สึกขัดแย้งในใจว่าพ่อ-แม่ที่ทำร้ายสารพัดจะมาทวงบุญคุณอะไรในเมื่อการดูแลเอาใจใส่ที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรได้รับกลับไม่เคยได้รับ และยึดโยงไปถึงการที่พ่อ-แม่ไม่เคยขอโทษลูกเลย เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ให้กำเนิดที่บางครั้งมีความหมายเท่ากับเหนือกว่า ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง
โดยคุณหมอบอกฉันว่า ปัจจุบันปัญหาการเลี้ยงดูลูกของพ่อ-แม่ไทยสะท้อนภาพใหญ่ได้ว่าหลายครอบครัวละเลยการให้ความสำคัญกับ ‘การดูแลทางใจ’ แต่เน้นให้ความรักเชิงวัตถุหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมแทน ในที่นี้หมายถึงเงิน ค่าเทอม ค่าขนม กับข้าวกับปลา หรือการส่งเสียเลี้ยงดู ที่พ่อ-แม่เหมารวมไปแล้วว่านี่คือความรัก ทว่าการสื่อสารกับลูก การแสดงความรู้สึก การดูแล การถามไถ่สภาพจิตใจ หรือการเป็นกำลังใจให้ลูกในยามยาก ข้อเหล่านี้กลับหายไปจากนิยามคำว่า ‘รัก’ ที่คนเป็นลูกต้องการมากที่สุด
รวมไปถึงเรื่องที่พ่อ-แม่จำนวนหนึ่งในชีวิตจริงคิดว่าตัวเองถูกเสมอ เมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องขอโทษ คือโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากกลับบ้าน เพราะไม่มีพื้นที่แห่งการรับฟังเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งความเชื่อนี้แย้งกับหลักจิตวิทยาในการเลี้ยงดูเด็กที่กล่าวว่า ถ้าครอบครัวอยากให้ลูกฝึกขอบคุณหรือขอโทษคนอื่นเป็น พ่อ-แม่ต้องขอบคุณและขอโทษลูกก่อนเพื่อให้ลูกซึมซับ
ท้ายที่สุดหากนิยามความเป็นพ่อ-แม่ คือ ผู้ปกป้อง ผู้ดูแล ผู้ใส่ใจความรู้สึกของลูก พ่อแม่ก็ควรเรียนรู้และเปิดใจรับฟัง เพื่อทำให้ความรู้สึกไม่อยากกลับบ้านของลูกลดน้อยลง นอกจากนี้หากใครที่กำลังรู้สึกไม่อยากกลับบ้านจริงๆ คุณหมอแนะว่าอาจเยียวยาให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นด้วยการฝึกเคลียร์ขยะอารมณ์ ไม่เก็บสิ่งกวนใจเข้านอน พยายามเบี่ยงตัวเองด้วยการเติมอารมณ์บวก หาคนที่คุยแล้วสบายใจ ทำกิจกรรมที่สร้างความสุขเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกดิ่งมากจนเกินไป และถ้าบางครั้งไม่สามารถต่อรองหรือเจรจากับคนในครอบครัวได้จริงๆ อาจต้องใช้คนนอกเพื่อเข้ามาช่วย เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือคนใกล้ชิดที่สามารถช่วยจูนความเข้าใจของทั้ง 2 ฝ่ายได้ หรือถ้าสุดท้ายไม่มีที่ให้พึ่ง การมีพื้นที่ในการช่วยเหลือในไทยมากขึ้นจะเป็นคำตอบได้ดีว่า ถ้าไม่กลับบ้านตอนนี้แล้วจะไปไหนหรือทำอย่างไรดี แต่ในประเทศไทยพื้นที่เหล่านั้นอาจจะยังมีไม่มากพอ