Hom Hostel&Cooking Club โฮลเทลแห่งโอกาสและการให้ - Urban Creature

หอม หมายถึงความรู้สึกเมื่อจมูกได้สูดดมกลิ่นที่ดี
หอม หมายถึงการรวบรวม เก็บหอมรอมริบ
หอม หมายถึงชื่อผักชนิดหนึ่ง และสายพันธ์ของกล้วย
หอม ยังหมายถึง การให้ ในแบบฉบับของ ‘หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ’

ยามบ่ายของวันที่เมืองยังคงขับเคลื่อนช้าเพราะโคโรนาไวรัส เราเดินทางไปชั้นสี่ของศูนย์การค้านานาสแควร์ ย่านนานา เพื่อพูดคุยกับ ตูน-ภาวลิน ลิมธงชัยมาสะกี เจ้าของ ‘หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ’ (Hom Hostel & Cooking Club) ผู้ที่เชื่อว่า การให้ไม่มีวันหยุดพัก

.

อาหารเชื่อมคน

จากการทำงานเป็นวิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เดินทางทั่วโลก ในช่วงระยะเวลาร่วม 10 ปี คุณตูนไม่ได้ทำงานตามหน้าที่เท่านั้น แต่เธอยังทำสิ่งที่รักในครัวบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน อย่างการทำขนมที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะค้นพบว่า มีสองสิ่งที่ยึดเป็นแกนชีวิต นั่นคือการทำอาหารและพบเจอคนใหม่ๆ จึงตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจเล็กๆ ที่มีหัวใจสำคัญคือการเชื่อมโยงคนด้วยอาหาร

“เมื่อตัดสินใจทำหอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ เราตั้งใจไว้แล้วว่าอยากแตกต่างจากที่อื่นๆ เลยคิดว่าอยากให้มีสวนผัก มีครัวใหญ่ มี cooking demo หรือการสอนแขกที่มาพัก ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติทำอาหารทุกเย็น แล้วก็ให้เขากินได้เลย เพื่อเพิ่มความสนิทสนม และเปิดพื้นที่ให้คนได้พบปะ พูดคุยกัน คอนเซปต์ของโฮลเทลเลยมาจบที่ ‘Connecting Lives by Cooking – ให้คนเชื่อมโยงกันด้วยเรื่องราวของอาหาร’ ไม่ว่าเขาจะดูเราทำ หรือบางทีเขาเห็นเราทำเสร็จก็ไปซื้อวัตถุดิบแล้วมาทำให้เราดู ทำให้ที่นี่มีสมุดแบ่งปันสูตรอาหารต่างๆ จากนักท่องเที่ยวที่เคยมาพัก”

ระหว่างพูดคุย เรามองออกไปยังดาดฟ้า เห็นสวนผักเขียวขจี เลยถามถึงที่มาที่ไปของสวนที่เติบโตอย่างชุ่มฉ่ำทั่วพื้นที่

“เราไปเรียนทำสวนผักกับกลุ่มสวนผักคนเมืองมาด้วย เรียนรู้วิธีเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยหมัก มีพี่ๆ มาคอยช่วยดู จนทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ สวนผักดาดฟ้าจึงไม่ใช่แค่สวน แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกมากมาย” 

.

หอมที่แปลว่าให้

นอกจากการใช้อาหารเป็นเสมือนด้ายแดงกระชับความสัมพันธ์แล้ว คุณตูนยังตั้งใจหล่อเลี้ยงโฮสเทลด้วยการแบ่งปันสู่สังคม

“เราพยายามทำธรุกิจที่ช่วยสังคมได้อยู่แล้ว ตั้งแต่เปิดปีแรก ก็มีโอกาสทำงานกับกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคม หรือกลุ่มคนที่ยังต้องการความช่วยเหลือมากมาย อย่างวันแรกที่เปิดตัวหอม โฮลเทล เราติดต่อกับชุมชนนางเลิ้งว่าจะเอาอาหารมาขาย แต่เพราะเรื่องระยะทางการขนส่งเลยไม่สามารถทำได้ จึงเปลี่ยนให้ชุมชนนางเลิ้งมาทำอาหารแทน พร้อมระดมทุนว่าใครอยากจ่ายเท่าไหร่ก็จ่าย แล้วแบ่ง 70% ให้กับชุมชน 

“หรืออย่างน้องใบตอง ที่เคยออกรายการ Super10 ซึ่งน้องเล่นดนตรีไทยหาเลี้ยงครอบครัว เพราะคุณแม่เขาเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้ ทุกครั้งที่หอมมีปาร์ตี้ เราก็จะชวนน้องมาเล่นดนตรี แล้วก็ให้ค่าจ้างน้อง” 

เราเชื่อว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ควรแบ่งให้สังคมด้วย
ไม่ควรที่จะเอากำไรคนเดียว

โอบกอดด้วยโอกาส

มากกว่าการให้ที่คุณตูนทำอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการมอบโอกาสให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสจากสังคม ที่อาจดูมีหลายกลุ่ม แต่เธอเลือกแล้วว่าจะใช้โอกาสที่มีในมือ โอบกอดผู้พ้นโทษ 

“มีวันหนึ่งมูลนิธิบ้านพระพร ซึ่งทำงานเพื่ออบรม และสนับสนุนด้านการฝึกวิชาชีพและการช่วยเหลือผู้พ้นโทษ มาขอให้เราไปสอนทำขนมเพื่อสร้างทักษะติดตัวให้พวกเขา โดยรบกวนขอจ่ายเงินประมาณ 3,000 บาท มันทำให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคมอีกเยอะ ที่ยังหางานยากมาก เลยมองว่าถ้าเขาอยากทำเราก็ยินดีจะช่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พอได้ไปสอนแล้ว ก็เลยบอกทางบ้านพระพรว่า ให้พวกเขาลองมาทำงานที่หอม โฮสเทลไหม

“เมื่อพวกเขาพ้นโทษออกมาสู่สังคมแล้วไม่ได้รับโอกาส เขาก็อาจจะกลับไปทำผิดเหมือนเดิม ถ้าไม่มีใครให้โอกาสสักที เขาก็จะวนลูปอยู่แบบนั้น ซึ่งพอมาทำงานจริงๆ เราก็ได้เห็นว่า เมื่อเขาได้รับโอกาส เขาตั้งใจทำงานมาก เลยพยายามช่วยมาตลอด อย่างมีน้องคนหนึ่งมาทำงานอยู่ปีหนึ่ง แล้วก็กลับไปเรียนต่อ แล้วก็จะมีน้องทีมใหม่เข้ามาทำต่อเรื่อยๆ”

ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ทำงานที่หอม โฮสเทล ตอนนี้คุณตูนยังทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำ และดำเนินงานกันอย่างชัดเจน ให้คนข้างนอกเห็นว่า ต้นน้ำ ปลายน้ำเป็นอย่างไร เพราะคุณตูนบอกว่า เผื่อในอนาคตมีคนอยากช่วยเหลือพวกเขา จะได้เห็นว่าพวกเขาอยู่ไหน และมีหน่วยงานที่ไว้ใจได้ในการคัดคนให้ไปทำงานในที่ต่างๆ

.

(ไม่) หยุดให้

ถ้าจะมีอะไรทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดหนัก ซึ่งคุณตูนบอกว่า หอมได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง แต่ก็ยังไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

“เมื่อโควิด-19 ระบาด แปบเดียวหอมก็โดนเลย (หัวเราะ) ลูกค้าหายหมด เราก็เลยตัดสินใจปิดบริการชั่วคราว แต่ก็คิดต่อว่าจะทำยังไงดี เพราะยังต้องเลี้ยงน้องๆ ในทีมด้วย เลยไปคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จักกัน ว่าอยากระดมทุนทำอาหารแจก แล้วแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้น้องๆ เพราะยังอยากให้น้องมีงานทำ และมีรายได้อยู่ จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Cooking is sharing by HOM and friends’ ที่เราจะทำอาหารไปแจกให้กับกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือมูลนิธิบ้านพระพร ชุมชน และคนเร่ร่อน โดยวันจันทร์เราจะนำไปให้ชุมชน วันอังคาร และวันพฤหัสฯ ให้กับมูลนิธิบ้านพระพร ส่วนวันพุธ และวันศุกร์ จะออกไปแจกให้กับคนเร่ร่อน

“ซึ่งตอนเริ่มทำ ก็จะบอกให้ชัดไปเลยว่า เราระดมทุนเพื่อมาทำข้าวกล่อง กล่องละ 25 บาท เพื่อให้รู้ว่า ถ้าคุณจ่าย 4,000 บาท คุณจะได้แจกข้าวกล่อง 125 กล่อง ซึ่งก็จะเหลือกำไร 5-10 บาทที่เอามาจ่ายให้น้องในทีม แต่ถ้ามื้อไหนเราไปเลี้ยงบ้านพระพร เราจะยกกับขาวไปเป็นหม้อเลย ก็จะแจ้งว่าเลี้ยง 150 ชีวิต ราคา 3,000 บาท ตกคนละ 20 บาท ทุกคนก็มีความสุข ซึ่งพี่ๆ ที่เราเข้าไปคุยเขาเป็นผู้ใหญ่ และมีเครือข่ายอยู่แล้ว ก็ช่วยกันกระจายข่าว จนเราได้ทุนมาทำอาหารแจกตอนนี้เป็นวันที่ 47 และจะยาวต่อไปถึงเดือนกรกฎาคมเลย

พอคุณออกไปให้คน คุณจะรู้เลยว่า โห ที่เราเจอมันโคตรกระจอก เราเคยไปแจกขนมปังให้คนเร่ร่อน รู้ไหมว่าถึงแม้มันจะตกพื้น เขาก็หยิบขนมปังมากิน หรือถ้าเขาทำข้าวหก แล้วเราไม่สามารถให้เพิ่มได้ เขาก็กวาดข้าวจากพื้นขึ้นไปกินต่อ มันโหดมากนะ 

“มีบางคนไปฟังข่าวว่าคนเร่ร่อนกินข้าวไม่ดี ดูไม่มีมารยาท เราก็จะบอกว่า อย่าไปตัดสินที่คนดีกับคนไม่ดีสิ ไม่งั้นคนก็จะไม่มาแจก เราอยากให้มาเห็นก่อน จะรู้ว่าเขาโคตรขาด แล้วเราจะหยุดให้กันเหรอ ซึ่งตอนแรกที่เราเริ่มเอาข้าวกล่องไปแจก ไม่มีใครมาให้เขาเลย แต่พอการรับรู้มันเริ่มดีขึ้น คนก็เริ่มมาให้กันบ้าง เราก็เลยขยายไปราชดำเนิน นอกจากนี้อย่างชุมชนนางเลิ้ง และชุมชนคลองเตย เราก็ไปช่วยเขา ทั้งเรื่องอาหาร และระดมทุนซื้อสิ่งของจำเป็น เช่น แอลกอฮอล์ หรือแป้นแอลกอฮอล์”

คุณตูนยังเล่าต่อว่า การทำโปรเจกต์ Cooking is sharing by HOM and friends ทำให้เธอเจอคนที่เข้ามาช่วยเหลือมากมายจนกลายเป็นกำลังใจชีวิต ทั้งคนในครอบครัว เพื่อน คนรอบตัว แฟนเพจหอม หรือแม้แต่คนที่ไม่รู้จักก็มี 

“มีคนที่ติดตามเราเขาเอาผักออร์แกนิกมาให้ 5-6 กิโลฯ เพื่อนเอาข้าวมาให้เป็นกระสอบ บางคนไม่รู้จักก็เอาไข่มาให้เป็นพันฟอง เราจดรายชื่อไว้เยอะมาก มันเลยเป็นสังคมที่ดี จากตอนแรกที่ช็อกกับโควิด-19 ใหม่ๆ ทุกคนหน้ามืด นอนไม่หลับ ร้องไห้ เพราะข่าวมันแย่มาก พอได้เจออะไรแบบนี้ มันทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิต”

.

ได้รับเมื่อแบ่งปัน

“เรารู้สึกว่าคนเราไม่ได้ต้องการเงินเยอะ รัชกาลที่ 9 สอนเสมอว่า เมื่อเรามีมาถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องนึกถึงคนข้างหลัง ซึ่งคนที่เขาขาดในสังคมมีเยอะ คือเราไม่ได้อยากซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ถึงแม้เราจะบ้าแก็ดเจ็ต (หัวเราะ) แต่เรามีเท่านี้เราพอใจแล้ว ส่วนที่เหลือคือการเอาไปช่วยคนอื่น บางทีเราช่วยอย่างไม่คิด เพราะเรารู้สึกว่า การให้คือพลังชีวิตอย่างหนึ่ง เมื่ออยากให้ ก็แค่ให้เลย เพราะสุดท้ายเราตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมาเดินข้างหน้าไปด้วยกันดีกว่า”

เราชอบพลังของการให้ เรารู้สึกเลยนะว่า แค่เริ่มให้ แล้วคนอื่นๆ ก็จะตามมาช่วยกันเอง มันทำให้เห็นว่า ประเทศยังน่าอยู่

หลังจากพูดคุยกับคุณตูนจบ เราได้รับน้ำใจจากทีมงานหอม โฮสเทลเป็นอาหารหนึ่งมื้อ ระหว่างกินข้าวสวยร้อนๆ คู่กับผัดผักบุ้ง และไข่ดาว ก็ทำให้นึกตามคำพูดที่คุณตูนทิ้งท้าย จริงอย่างที่เธอว่า ประเทศเรายังคงน่าอยู่ แม้วิกฤตที่ถาโถมจะสร้างความบอบช้ำมากแค่ไหน แต่หากเรารู้จักการแบ่งปัน รู้จักให้กันและกันอย่างดีพอ ชีวิตก็จะเจอกับความพอดี

Hom Hostel & Cooking Club 
49 อาคารนานาสแควร์ชั้น 4 ถนนสุขุมวิท 3 วัฒนา คลองตันเหนือ กรุงเทพฯ
Facebook : Hom Hostel & Cooking Club 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.