ช่วงนี้หัวข้อ Metaverse กำลังอยู่ในความสนใจ เลยอยากนำเรื่องมินิเมตาเวิร์สที่ปราสาทฮิเมจิ มรดกโลกสุดป็อปที่จังหวัดเฮียวโกะมาแชร์ เพราะพี่เขาชิงนำ VR, AR มาใช้ก่อนใครตั้งแต่บูรณะปราสาทเสร็จใหม่ๆ ในปี 2015
ปราสาทฮิเมจิฉายแววป็อปมาตั้งแต่ตอนบูรณะปราสาทครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นช่วง ค.ศ. 2009
เขาแสดงความคิดสร้างสรรค์และความใจกว้าง เปิดรับสิ่งใหม่ด้วยการเนรมิตนั่งร้านให้กลายเป็นจุดชมการซ่อมบูรณะมรดกทางวัฒนธรรมแบบเท่ๆ ที่ผู้คนยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเข้าไปดูช่างฝีมือทำงาน
หลังกลับมาเปิดให้ชมเต็มรูปแบบก็พัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เช่นในเว็บไซต์มี AI Chat พร้อมโต้ตอบภาษาอังกฤษ อะไรที่เกินสติปัญญา AI ระบบจะเชื่อมต่อโอเปอเรเตอร์มารับช่วงต่อแทนทันที ว้าวซ่ามากสำหรับการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และตอนนี้มี Virtual Tour ภาษาอังกฤษให้พาคนเที่ยวปราสาทผ่าน Zoom แบบสดๆ อีกต่างหาก
ปังอะไรเบอร์นี้ เราเลยโค้งสวยๆ ขอเวลาจาก Masayuki Tsunemine และ Toshikatsu Okada เจ้าหน้าที่จากปราสาทฮิเมจิมาเล่าความกรุบกริบไฮเทคทันสมัยของมรดกโลกอายุหลายร้อยปีกัน!
สำหรับคนที่ไม่คุ้นชื่อปราสาทนี้ ขอบรีฟคร่าวๆ ถึงความดีงามของพี่เขาสักเล็กน้อย ปราสาทฮิเมจิตั้งอยู่ในเมืองฮิเมจิ จังหวัดเฮียวโกะ มีความเป็นดาวได้มงหลายตำแหน่ง เช่น ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยว Travellers’ Choice อันดับหนึ่งของ Tripadvisor ปี 2021 และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ James Bond ภาค You Only Live Twice ที่ Sean Connery แสดงนำ ใน 1 ปีมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนเฉลี่ยประมาณ 1,600,000 คน
ความโดดเด่นของปราสาทนี้อยู่ที่ความขาวผ่องส่องประกาย จนคนตั้งชื่อเล่นให้ว่า Shirasaki-jo ซึ่งแปลว่า ปราสาทนกกระสาขาว คนที่เคยไปเที่ยวปราสาทอื่นอาจจะงงว่า ปราสาทญี่ปุ่นก็สีขาวเกือบหมดนี่นา แต่ที่นี่ขาวกว่า ผ่องกว่า จนกลายเป็นตำนานยืนหนึ่งเรื่องนี้ไปยังไงล่ะ
การบูรณะครั้งใหญ่แห่งยุคเฮเซ
เราบอกไปตอนแรกว่า ปราสาทฮิเมจิซ่อมครั้งใหญ่ใช้เวลาเกือบ 6 ปีคือช่วง 2009 – 2015 แต่จริงๆ แล้วเขาซ่อมกันทุกปี!
ภายในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของปราสาทฮิเมจิ มีอาคารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 82 หลัง เลยต้องทยอยซ่อมทีละนิดไปเรื่อยๆ ปิดทีละนิด
หลังเล็กๆ ไกลๆ นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ทันรู้สึกอะไร แต่เมื่อถึงคิวซ่อมส่วนตัวปราสาทหลักแลนด์มาร์กที่เราคุ้นตาซึ่งสเกลใหญ่ที่สุด จึงต้องใช้เวลานานและปิดโซนจริงจัง แค่รื้อของเก่าก็ต้องใช้เวลาถึง 2 – 3 ปี ทางทีมงานเลยพยายามคิดกันว่าทำยังไงดี คนถึงจะยังแวะมาเที่ยวที่นี่ แม้พระเอกไม่พร้อมโชว์ตัว
“โดยทั่วไปเวลาซ่อมแซมอาคารเราต้องตั้งนั่งร้าน คลุมผ้าใบปิด แต่ถ้าทำตามแนวทางทั่วไป ปราสาทฮิเมจิก็จะไม่มีคนเข้ามาเยี่ยมชม ในที่สุดก็ได้ไอเดียเรื่องการเปิดให้ชมการซ่อมแซม
ในภาพรวมเป็นการตั้งนั่งร้านเหมือนเดิมก็จริง แต่ทำกว้างขึ้นให้คนเดินชมได้ สร้างสเปซให้คนมาดูช่างฝีมือทำงาน”
น่าเสียดายที่ในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่เขาเปิดให้ชม เราไม่มีโอกาสได้ไป แต่แค่ได้เห็นรูปก็ตื่นเต้นแทน ด้านนอกของนั่งร้านทำดีไซน์ชิกๆ ยังเห็นเป็นปราสาทสองมิติ ส่วนพื้นที่ด้านในดูดีไม่ต่างอะไรจากพิพิธภัณฑ์ กระจกใสบานใหญ่ทำให้เราเห็นการทำงานและดีเทลทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด ไม่แปลกใจเลยที่แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 200 เยนเพื่อเข้าชมส่วนนี้ก็มีคนจำนวนมากพร้อมเปย์
“ปกติค่าเข้าชมก่อนซ่อมคือหกร้อยเยนครับ ช่วงบูรณะเราลดค่าเข้าเหลือสี่ร้อยเยน และถ้าอยากชมการซ่อมจะต้องซื้อตั๋วแยกต่างหากอีกสองร้อยเยน ซึ่งคนให้ความสนใจมากครับ
“ช่วงที่ไม่เปิดให้ดูการซ่อมมีคนมาเที่ยวที่นี่น้อยลงเยอะเลย น่าจะเป็นเพราะเป็นขั้นตอนการทำงานเทคนิคโบราณที่ปกติหาดูยาก การได้ดูของหายากเลยทำให้คนสนใจและมองว่ามีเสน่ห์”
เราถามเจ้าหน้าที่ทั้งสองว่าปกติปราสาทอื่นทำแบบนี้มั้ย พวกเขานิ่งไปนิดหน่อยก่อนตอบว่า ถ้าลงทุนทำเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ก็น่าจะที่นี่เป็นที่แรกฟังแล้วก็ได้แต่เสียดาย เพราะว่าจะซ่อมใหญ่แบบนี้อีกก็อีก 50 ปีนู่นแน่ะ
AR ก็มา VR ก็มี เมื่อเทคโนโลยีรวมตัวกันไฮไลต์คุณค่าทางวัฒนธรรมเก่าแก่
นั่งจ๋อยไปแป๊บเดียวก็กลับมามีความหวังอีกครั้ง อีก 50 ปี สังขารอาจจะไม่อำนวยให้หอบร่างมาดูช่างซ่อม แต่อาจจะได้ดูผ่านโลกเสมือนจริงก็ได้นะ
เล่าเรื่อง AI Chat ไปแล้ว จริงๆ แล้วยังมีความไฮเทคอีกมาก เช่น กล้องไลฟ์สดจากปราสาท
ตัวเลขจำนวนผู้เยี่ยมชมและระยะเวลาที่ต้องรอซึ่งเช็กได้ในเว็บไซต์หลักของปราสาทแบบเรียลไทม์ (ใช่ ที่นี่ฮอตมากขนาดต้องแจ้นไปรับบัตรคิวกันเลยล่ะ) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปีเพื่อให้คนวางแผนสะดวกขึ้นด้วย
คุณ AR มาพร้อมกับแอปฯ เฉพาะของนาง (และแน่นอนว่ามีฟรีไวไฟให้ใช้ในเขตปราสาท) เมื่อเปิดขึ้นมา เราจะได้พบกับน้องชิโระมะรุฮิเมะ มาสคอตของที่นี่ออกมาต้อนรับ เราสามารถลากน้องไปถ่ายรูปตรงไหนก็ได้ จะถ่ายกับน้องก็ได้ไม่ต้องรอคิวแบบดิสนีย์แลนด์
แต่ความมหัศจรรย์ของแอปฯ นี้ไม่ได้หยุดแค่นั้น ตามจุดต่างๆ ของปราสาทจะมี QR Code ให้อ่านเพื่อรับชมข้อมูลเพิ่มเติมของปราสาท ภาพคลิปหรือการ์ตูน มีความเป็น Stamp Rally แบบดิจิทัลที่สนุกมาก เราเคยมาปราสาทนี้เกิน 10 ครั้งแต่เพราะขี้เกียจอ่านป้าย เลยไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ อย่างบทบาทสาวใช้ในการปกป้องปราสาทจากภายใน หรือหน้าต่างพิศวงแห่งชั้น 6 เลย
สงสัยเจ้าหน้าที่เริ่มทำแอปฯ เพราะมีนักท่องเที่ยวแบบเราเยอะแน่ๆ
“ก่อนบูรณะครั้งใหญ่ ด้านในปราสาทมีจัดแสดงของหลายอย่าง มีตู้โชว์มากมายคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเราตัดสินใจเอาออกหมดเลยเพราะจริงๆ แล้วตัวอาคารคือมรดกทางวัฒนธรรม เลยอยากให้คนชื่นชมความงามของอาคารเต็มที่ ซึ่งพอมีของวางเล่าเรื่องราวในอาคารน้อยลง เออาร์ก็ช่วยเสริมตรงนี้ได้ด้วย คนได้ชื่นชมอาคารโดยที่อาคารไม่ได้รับความเสียหายจากการจัดแสดง ยังคงคุณค่าไว้ได้และคนก็ยังสนุก” เจ้าหน้าที่เล่าอย่างใจดี
จริงด้วย พอข้างในโล่งๆ เลยได้มองงานไม้ด้านในอย่างเต็มที่ ระหว่างที่สนุกกับการมองหาคิวอาร์โค้ดก็เหมือนจะหลอกให้เราส่องดีเทลงานช่างโบราณอย่างเนียนๆ และเพลิดเพลิน ส่วนนิทรรศการเล็กๆ ที่จัดด้านในก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบูรณะเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีพนักงานเล่าเรื่องเสาต้นใหญ่สุดเท่ที่ตั้งตระหง่านทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกด้วย
AR มีให้เล่นหลายแบบหลายสไตล์เนื้อหา แต่ที่แอบประทับใจสุดคือ ปกติที่อื่นชอบให้หาหินรูปหัวใจบนกำแพง แต่ที่นี่บอกว่า นี่ๆ หินกระจก เอ๊า เพ่งแทบตายก็ไม่สะท้อนหน้าเรา เอ๊ะ ยังไง แอบดูเฉลยน้องเอไอถึงได้รู้ว่ามันสามารถมองเป็นหน้าคนได้ ถ้าใช้จินตนาการแล้วมองไม่ออก (ฉันเอง) ไม่เป็นไร หันกล้องไปทาบได้เลย
“ตอนบูรณะปราสาทเสร็จแล้วทางเจ้าหน้าที่อยากหาทางใหม่ในการนำเสนอความสนุกที่นี่ ข้อดีของการใช้เออาร์คือการสามารถใช้ภาพและคลิปที่มีคำบรรยายประกอบทำให้คนเข้าใจสถานที่ดีขึ้น เช่น ช่องที่เห็นตรงกำแพง ถ้าส่องดูเออาร์จะเห็นว่าเมื่อก่อนเขายิงปืนกันยังไง
“เรื่องราวบางอย่างจะให้คนอยู่แสดงอธิบายตลอดก็ไม่ได้ ต่อให้ทำจริงก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก ทำเป็นวิดีโอใช้ยาวๆ ดีกว่า เพราะตอนพัฒนาแอปฯ ใช้เงินก็จริง แต่ก็เสียครั้งเดียวครับ” เจ้าหน้าที่สรุปเหตุผลคร่าวๆ ให้ฟัง
ส่วน VR นั้นมาในรูปแบบของ Himeji Castle VR Scope แว่นตากระดาษสุดเท่ทำช่องไว้ให้ใส่มือถือ ซื้อออนไลน์ไปส่งที่บ้านแล้วเที่ยวปราสาทฮิเมจิทางไกลได้ เมื่อดาวน์โหลดแอปฯ และวิดีโอครบ เราจะได้ชมปราสาทจากหลายมุม ทั้งมุมสูงแบบนกและมุมลับที่ปกติไม่เปิดให้ชม แต่สิ่งที่เราปลื้มไม่ใช่ความก้าวไกลของเทคโนโลยีแต่เป็นความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ที่เราคาดไม่ถึง
“บางคนเขาอยากดู แต่ไม่สามารถเดินขึ้นเนินหรือไต่บันไดสูงๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งพอเราทำวีอาร์ ทุกคนก็สามารถสนุกไปกับที่นี่ได้เหมือนกันครับ ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ คนที่อยากมาแต่มาไม่ได้ คนที่เคยมาแล้วอยากกลับมาอีกสามารถดูผ่านวีอาร์ไปก่อนได้เลย”
วันที่เราไป นอกจากคู่หนุ่มสาวมาเดต คนฟิตมาวิ่งจ็อกกิ้ง มีผู้สูงอายุมาเที่ยวมากมาย ลืมไปเลยว่าที่ญี่ปุ่นมีคนใช้วีลแชร์เยอะและน่าจะไม่ไหวจริงๆ ขนาดเราตอนขึ้นบันไดแสนชันยังแอบหอบแล้วหอบอีก
แต่อย่างไรก็ตามการหาเส้นแบ่งระหว่างความคิดสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเคารพสถานที่ในฐานะมรดกของชาติก็ยังเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทั้งสองลำบากใจอยู่ตลอด
“หัวใจหลักคือการอนุรักษ์การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักการนั้นครับ”
เจ้าหน้าที่ยกตัวอย่างให้เราฟังเรื่องการปรับปรุง Light-up ดีไซเนอร์มีไอเดียหลากหลายเพื่อทำให้น่าสนใจ แต่ในมุมคนอนุรักษ์ก็จะมีบางจุดที่ยอมไม่ได้จริงๆ เช่น การเปลี่ยนสีปราสาทซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของที่นี่
“เราระมัดระวังเรื่องการบิดเบือนภาพจริงของสถานที่หรือการพีอาร์คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยนครับ”
อาจจะมีข้อจำกัดในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมบ้าง แต่ความกล้าเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมประสบการณ์ให้โลกออฟไลน์ที่เกิดจากความใส่ใจเพื่อนมนุษย์ทุกกลุ่มถือเป็นแกนหลักในการเดินหน้าต่อในโลกเสมือนจริงที่น่าติดตามมากเลยล่ะ