Finbarr Fallon ช่างภาพและดีไซเนอร์ได้ออกสำรวจสุสานแนวตั้งในเมืองฮ่องกง เพื่อเก็บภาพความหนาแน่นของหลุมศพท่ามกลางภูมิประเทศภูเขา จนสรรค์สร้างออกมาเป็น ‘Dead Space’ ชุดภาพถ่ายเล่าสุสานแนวตั้งเพื่อประหยัดพื้นที่เมือง
โครงการนี้เริ่มต้นจากสุสานแห่งหนึ่งในย่าน Wan Chai ที่แสดงว่าพื้นที่และการใช้พื้นที่ในเมืองสามารถกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตและการตายของเรา เขาจึงออกเดินทางไปถ่ายภาพด้วยแนวคิด ‘วัฒนธรรมการตายที่เปลี่ยนแปลงไป’
Fallon ชี้ว่า ความน่าสนใจของที่นี่คือความแตกต่างจากสุสานในสหราชอาณาจักร (บ้านเกิดของเขา) หรือสุสานที่คนจินตนาการถึงโดยทั่วไปว่าจะต้องเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีดั่งสวนที่ได้รับการดูแลอย่างดี แต่สุสานแห่งนี้กลับเป็นสโลปทอดยาวขึ้นไปเป็นทาง มีหลุมศพของบุคคลอยู่แน่นขนัด ขนาบด้วยตึกสูงมากมายบนเกาะฮ่องกง
นอกจากสุสานแนวตั้งที่ช่วยลดพื้นที่ของเมืองแล้ว ปัจจุบันรูปแบบการจัดการกับหลุมศพก็มีความเปลี่ยนแปลงไป ด้วยประชากรของฮ่องกงที่มีมากถึง 7.5 ล้านคน แต่กลับประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 1970 อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีราคาที่อยู่อาศัยแพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รัฐบาลจึงสั่งห้ามสร้างสุสานถาวรแห่งใหม่ ขณะที่สุสานถาวรที่มีอยู่แล้วก็ถูกจองไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียงสุสานเวียนใช้ซ้ำที่ต้องขุดศพขึ้นมาหลังจากผ่านไปเพียง 6 ปี
ส่วนสุสานเอกชนในเมืองก็มีราคาสูงถึง 280,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1,200,000 บาท การดิ้นรนหาที่อยู่อาศัยจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ตอนมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเมื่อหมดลมหายใจเช่นกัน
ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเผาศพของผู้เสียชีวิตและเก็บอัฐิไว้ในบ้านแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ และเพิ่มความสะดวกสบายในการไหว้บรรพบุรุษโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสุสาน นอกจากนั้น ในปัจจุบันการหาโกศบรรจุอัฐิก็นับเป็นเรื่องยาก โดยแต่ละครอบครัวอาจต้องรอนานถึง 7 ปี เนื่องจากมีคนนับพันรอคิวเข้าไปเก็บอัฐิ
ไม่เพียงแต่ฮ่องกงเท่านั้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตัดสินใจขุดหลุมศพจำนวนมากขึ้นมาสร้างทางหลวงและบ้านใหม่ หรือญี่ปุ่นก็สร้างสุสานเสมือนจริง (Virtual Cemeteries) เพื่อให้ญาติได้เคารพผู้เสียชีวิตทางออนไลน์แทน
Fallon เล่าว่า เมืองกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงและความเข้าใจใหม่ต่อธรรมเนียมการตายต่างๆ ที่คนต้องยอมรับว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อฮวงซุ้ยหน้าน้ำ หลังเขา หรือทำพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษต่างๆ อีกต่อไป
_________________________________________________________________________________________
CNN | cnn.it/40EPGDN
FastCompany | bit.ly/3UeM6ft