GREY NATION งาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’ - Urban Creature

‘สังคมสูงวัย’ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับคนวัยเกษียณเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายที่คนทุกเจเนอเรชันต้องเผชิญและอาจได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หากเราไม่เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 Urban Creature ได้เข้าร่วมงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 ‘Out of the Box Aging’ ที่รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเวทีทอล์ก เวิร์กช็อปด้านการงานและการใช้ชีวิต ไปจนถึงโซน Market & Space ที่ชวนคนรุ่นใหญ่มองเห็นโอกาสในการทำงาน พบปะเพื่อนใหม่ และสร้างคุณค่าให้ตัวเอง

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

แต่กิจกรรมที่เรามองว่าสะท้อนภาพใหญ่และทำให้ผู้ฟังมองเห็นปัญหาของสังคมสูงวัยได้ครอบคลุมที่สุดคือเวทีทอล์กในหัวข้อ ‘Grey Nation จากเจนฯ B – เจนฯ Z : ไทยชรา เป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ’ บรรยายโดย ‘รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ดูแลงานนโยบายสาธารณะให้กับวงการสื่อสารมวลชน

มิติเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยต้องกังวลมีอะไรบ้าง และทำไมคนทุกเจนฯ ถึงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ คอลัมน์ Events ชวนไปสำรวจปรากฏการณ์นี้พร้อมกัน

สังคมสูงวัยคือเรื่องของคนทุกเจนฯ

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ เปิดเวทีทอล์กด้วยการโยนคำถามว่า ในอีกสิบปีข้างหน้าที่ประเทศไทยจะเจอปัญหาสังคมสูงวัยที่หนักหนาสาหัส คุณคิดว่าคนกลุ่มไหนจะเดือดร้อนที่สุด คำตอบของ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ไม่ใช่กลุ่มคนอายุ 40 – 60 ปี หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป แต่เป็นกลุ่มคนที่ตอนนี้มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าคนไทยอายุยืนขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2513 คนไทยเคยมีอายุเฉลี่ยเพียง 59 ปี แต่ปัจจุบันนี้ผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 73 – 74 ปี ส่วนผู้หญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ปี ทำให้ตอนนี้บ้านเรามีผู้สูงวัยราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

ดังนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้จึงไม่ใช่ผู้สูงอายุโดยตรง แต่กลับเป็นคนหนุ่มสาว เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องรับภาระในบ้านหนักมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว ทั้งพ่อแม่รวมถึงปู่ย่าตายาย เท่านั้นยังไม่พอ คนรุ่นใหม่ยังต้องทำงานและจ่ายภาษีจำนวนมาก เพื่อเป็นสวัสดิการของประเทศสำหรับโอบอุ้มและดูแลประชากรสูงวัยที่ไม่ได้สร้างรายได้ 

ปัญหาจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นยังมาพร้อมกับปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก เพราะกังวลเรื่องความสามารถในการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่อาจไม่เหมาะกับการมีลูก ความคิดเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ปัญหาการเมืองและสังคม วิกฤตสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่ออัตราเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง ปัญหาที่ตามมาคือสังคมไทยมีจำนวนแรงงานคุณภาพลดลงในอนาคต

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งทำให้มีผู้สูงวัยในบ้านเราเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ของประชากร การที่โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปเช่นนี้ หมายความว่าพวกเราจะเจอกับวิกฤตสังคมสูงวัยที่รุนแรงมากกว่าเดิม

ภายใต้ความกดดันและภาระที่หนักอึ้งเหล่านี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้คือการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการเงิน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะหากเราหวังรอพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอและไม่ทันการ

อายุ 60 ปี ≠ แก่

เมื่อผู้ฟังเริ่มเห็นวิกฤตสังคมสูงวัยในภาพใหญ่แล้ว เวทีทอล์กนี้ได้ชวนทุกคนคิดต่อว่า แล้วประเทศไทยจะแก้ปัญหาที่จะตามมายังไง

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ทุกคนล้วนต้องแก่ เจ็บ และตายในที่สุด เพราะฉะนั้นหลักคิดที่ดีที่สุดคือ เมื่อเกิดมาแล้ว เราต้องทำยังไงก็ได้ให้แก่ช้าที่สุด มีช่วงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยให้น้อยที่สุด แล้วค่อยตายจากโลกนี้ไป พร้อมเสนอว่าประเทศไทยควรนำวิธีนี้มาปรับใช้กับการดูแลประชาชนในประเทศ

ในอดีตคนวัย 60 ปี อาจถูกนิยามว่า ‘แก่’ และควรหยุดทำงานได้แล้ว แต่ตอนนี้ความแก่ชราไม่ได้นิยามกันด้วยอายุอีกต่อไป แต่หมายถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ต่างหาก รศ. ดร.เจิมศักดิ์ แนะนำว่าสังคมไทยจึงควรทำความเข้าใจคำว่า ‘แก่’ กันใหม่ และต้องลบชุดความคิดที่ว่า ‘อายุ 60 ปี = แก่’ ออกไปเสีย

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญของประเทศไทยคือ การทำอย่างไรให้คนทุกเจเนอเรชันพึ่งพาตัวเองให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแก่ให้ช้า เจ็บป่วยให้สั้น แล้วค่อยเสียชีวิต วิธีนี้จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทางกายและใจ ลดการพึ่งพาผู้อื่น รวมถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเจ็บป่วยด้วย

เตรียมพร้อมประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ อธิบายต่อว่า การจะทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองให้ได้นานที่สุด และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมสูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึง 4 มิติ ดังนี้

1) เศรษฐกิจ : คนไทยอาจต้องทำงานให้นานขึ้น ไม่ได้เกษียณอายุหรือหยุดทำงานในวัย 60 เหมือนแต่ก่อนแล้ว มิตินี้รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของตัวเอง เพราะการมีสุขภาพที่ดีจะทำให้เรามีช่วงเวลาในการหารายได้ได้นานขึ้น รวมไปถึงการเริ่มออมเงินตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพื่อให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ในวันที่กลายเป็นผู้สูงวัย

2) สภาพแวดล้อม : เมื่อคนสูงอายุประสบอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลนั้นอาจแพงกว่าการที่เราปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกกลุ่ม สภาพแวดล้อมที่ว่านี้อาจหมายถึงการติดตั้งราวจับ เปลี่ยนกระเบื้องให้ไม่ลื่นล้มง่าย ลดการสร้างขั้นบันไดในบริเวณบ้านและพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการฝึกผู้สูงอายุให้ล้ม เหล่านี้ล้วนเป็นการป้องกันและการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไหนๆ

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

3) สุขภาพ : การดูแลตัวเองให้แก่ช้าที่สุดและเจ็บสั้นที่สุด เพื่อช่วยลูกหลานลดภาระค่ารักษาพยาบาลในช่วงบั้นปลายของชีวิต มากไปกว่านั้น ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับดูแลทั้งผู้ที่อยู่ในระยะพักฟื้นหรือระยะสุดท้าย นอกจากจะลดภาระคนป่วยล้นโรงพยาบาลแล้ว วิธีนี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม มีสังคม และไม่รู้สึกว้าเหว่ด้วย ทั้งนี้ ด้วยบริบทและไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน รัฐบาลควรสนับสนุนการกระจายอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการออกแบบชุมชนตัวเองได้อย่างเต็มที่

4) ชุมชนและสังคม : โจทย์สุดท้ายที่ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ทิ้งไว้ให้ทุกคนไปคิดต่อคือ ประเทศไทยควรทำอย่างไรเพื่อสร้างชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ หรือกิจกรรมที่ดึงคนทุกกลุ่มให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งกว่าเดิม พร้อมโอบรับสังคมไทยชราที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’
GREY NATION ไทยชราเป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ เวทีทอล์กจากงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Talk 2023’

Photo Credit : มนุษย์ต่างวัย

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.