“เพราะเรามีโลกแค่ใบเดียว” รักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืนและแก้วิกฤตประเทศ ด้วย ‘หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ - Urban Creature


หลายคนกำลังนับถอยหลังให้ปี 2020 จบลงโดยเร็ว จากสารพัดปัญหาที่โหมกระหน่ำอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตครั้งใหม่ ภัยธรรมชาติที่คุ้นเคยก็ดาหน้าเข้ามาเล่นงานอย่างต่อเนื่อง เราเจอกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ขยะที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ทรัพยากรมากขึ้นด้วยวิถีชีวิตแบบ New Normal และในเวลาไล่เลี่ยกัน ฝุ่น PM2.5 เจ้ากรรมก็ทำท่าจะกลับมาประจำการอีกต่างหาก

แม้จะฟังดูหดหู่แต่อย่ารีบหมดหวัง เพราะเชื่อว่าทุกคนก็พร้อมจะร่วมใจกันแก้ปัญหา  เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้คนจากหลายภาคส่วนได้มาร่วมระดมความคิด และค้นหาแนวทางที่ดีที่สุดในการที่เราจะอยู่ร่วมกันบนโลกได้อย่างยั่งยืนในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” ที่จัดขึ้นโดย เอสซีจี  ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ที่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม

ที่ส่งผลกระทบต่อไปถึงสังคม และเศรษฐกิจ จึงอยากชวนทุกคนมาดูส่วนหนึ่งจากกว่า 200 โครงการ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน

 ขยะเป็นศูนย์ทำได้ หากร่วมมือกัน


ย้อนไปช่วงที่ชาวไทยล็อกดาวน์ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ปริมาณขยะจากบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และมีมากถึง 6,300 ตัน/วัน ยังไม่นับตัวเลขจากขยะในรูปแบบอื่นที่เห็นได้ว่าจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่เรายังมีความหวัง เพราะขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Kantar เกี่ยวกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมของชาวไทย บอกว่าคนไทยตื่นตัวเรื่องปัญหาขยะมากถึง 18 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นอันดับ 1 ของโลก

“ผมรู้ว่าทุกคนเห็นความสำคัญและพยายามช่วยกันอนุรักษ์โลกของเรา แต่เคยมีวันไหนที่ไม่สร้างขยะเลยหรือเปล่า” คำถามที่กระตุ้นให้เราย้อนดูตัวเองนี้มาจาก ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว หนึ่งใน speaker ของงาน SD Symposium 2020 ที่พยายามบอกพวกเราว่าสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัว

“บางครั้งทรัพยากรที่เราใช้ในชีวิตประจำวันคือสิ่งไม่จำเป็น เช่นการใช้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อใส่หมากฝรั่งห่อเล็กๆ แล้วทิ้งไป หลังจากคุยกับพ่อแม่ ผมจึงตั้งใจทำโปรเจกต์ชื่อ ‘Mission to Green’ โดยตั้งเป้าว่าในหนึ่งเดือนจะลดขยะได้กี่ชิ้น แล้วจัดทำเป็นตารางขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นจริงๆ” เยาวชนต้นแบบสายกรีนคนนี้ยังบอกอีกว่า เราอาจจะเริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ เช่น ไม่รับถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วค่อยๆ ขยับไปเป็นการพกภาชนะเวลาออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยโลกได้แล้ว 

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่ทำให้เราเห็นว่าการจัดการขยะที่ดีเริ่มต้นได้ทุกที่ อย่างโครงการ Chula Zero Waste ที่เริ่มต้นด้วยสิ่งง่ายๆ เช่น การรณรงค์ให้งดใช้ถุงหรือแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือการนำเศษอาหารไปทำไบโอดีเซล ผลลัพธ์ที่ตามมาถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะหลังจากผ่านไป 3 ปี ชาวจุฬาฯ หันมาใช้ถุงผ้ากันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้งานถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 4 ล้านใบ ลดปัญหาขยะไปได้มากกว่า 350 ตัน

 วัสดุที่เหลือจากการปลูกสร้าง ไม่ควรถูกปล่อยทิ้ง


เทรนด์การออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นกระแสที่น่าจับตามอง ไม่เพียงแต่ตัวอาคารที่มีเงาไม้ปกคลุมเพื่อลดความร้อน หรือใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานทางเลือก แต่การลดขยะจากการก่อสร้างก็เป็นสิ่งสำคัญ ในงาน SD Symposium 2020 จึงมีข้อเสนอในการแก้ปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจคือ การสนับสนุนให้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโครงการก่อสร้างของรัฐซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดการวัสดุเหลือทิ้ง และมอบสิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจโครงการก่อสร้างให้เกิดความร่วมมือ 

ที่ผ่านมา เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy in Construction Industry: CECI) ได้ร่วมผลักดันให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างคุ้มค่าที่สุด ด้วยการลดการใช้วัสดุที่เป็นทรัพยากรใหม่ เพิ่มสัดส่วนวัสดุจากทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น สุดท้ายแล้วหากยังมีเศษวัสดุเหลืออยู่ก็อาจจะใช้วิธีรียูสหรือรีไซเคิล เพื่อให้วัสดุนั้นเกิดมูลค่าสูงสุด

“หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนและทรัพยากรได้ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์”

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

เพราะคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นิธิ บอกว่า CECI กำลังพยายามเผยแพร่แนวคิดและผลักดันให้ความร่วมมือขยายวงกว้างถึงระดับประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับความเห็นของ ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ที่บอกว่า “ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดี เราจะไม่เห็นขยะจากงานก่อสร้างอีกต่อไป และจะมีพื้นที่สีเขียวมาทดแทน ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการทิ้ง ทุกฝ่ายควรได้รับประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การคืนภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม”

บริหารจัดการน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต


การขาดแคลนน้ำ เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทย อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาไกลตัว เพราะหากภาคการเกษตรขาดน้ำเพาะปลูกไม่ได้ แหล่งอาหารของโลกอย่างประเทศไทยก็อาจสั่นคลอนได้  ‘การใช้น้ำหมุนเวียน’ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การบริหารน้ำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายๆ รอบ จึงเป็นกุญแจไขคำตอบปัญหานี้

แม้จะอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เป็นแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ แต่ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ สาเหตุจากคูคลองที่ตื้นเขินจนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ และทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก พวกเขาจึงเริ่มสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลเส้นทางน้ำ เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างถาวร

“ในเมื่อทุนน้ำมีน้อย จะทำอย่างไรให้ใช้คุ้มทุนที่สุด คำตอบคือใช้งานน้ำก้อนเดียวให้หนัก ใช้ให้คุ้มค่า อย่าใช้แล้วทิ้งไป” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ผลักดันเรื่องการใช้น้ำหมุนเวียนมาตลอดเล่าถึงชุมชนดงขี้เหล็กที่มีอ่างน้ำเล็กนิดเดียว หากยังฝืนทำนาอยู่ อย่างไรน้ำก็คงไม่พอใช้

เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ชุมชนดงขี้เหล็งจึงปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการวางผังเส้นทางน้ำตลอดทั้งตำบล เพื่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำที่เหมาะสม จัดทำเขื่อนใต้ดินให้เป็นบ่อน้ำประจำไร่นาของแต่ละครัวเรือน แถมยังขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อหมุนเวียนน้ำในครัวเรือนกลับมาใช้ให้คุ้มค่าทุกลิตร

เพราะน้ำมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ข้อเสนอในงาน SD Symposium 2020 จึงเป็นการชักชวนให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้งด้วยระบบน้ำหมุนเวียน แบบเดียวกับที่ชุมชนดงขี้เหล็กทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งรวมถึงการชวนภาครัฐให้มาร่วมขยายผลระบบน้ำหมุนเวียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน 

 เกษตรปลอดการเผา ทางออกคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร


นอกจากปัญหาน้ำ ภาคการเกษตรของไทยยังต้องแก้ปัญหาเรื่องของการจัดการทรัพยากรในการทำไร่ทำนาให้คุ้มค่าที่สุด  จึงจะช่วยสร้างผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รายได้ที่มั่นคงโดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ถ้าสามารถบริหารจัดการให้ดี จะช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการเผา และเปลี่ยนเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรได้อีก

“การทำเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องสร้างต้นแบบให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อาจแยกเป็นระดับตำบลหรือจังหวัด โดยต้องมีการเก็บฐานข้อมูล big data ให้แม่นยำ” บุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ พูดถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูล พร้อมบอกว่าความร่วมมือระดับประเทศมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างการเกษตรที่ยั่งยืน

“เมื่อมีต้นแบบที่ชัดเจนในแต่ละด้านแล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรไปจนถึงภาควิชาการ สิ่งสำคัญคือต้องผลักดันเชิงนโยบายควบคู่ไปด้วย”

คูโบต้าฟาร์ม คืออีกหนึ่งต้นแบบของการทำเกษตรกรรมแบบหมุนเวียนทรัพยากรที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย มีการวิเคราะห์เพื่อวางแผนและออกแบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โซลูชั่นเกษตรกรข้าวแม่นยำ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยและความสูญเสียจากปัญหาข้าวล้มผ่านแอปพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar หรือการระบายน้ำใต้ดิน ที่ลดการสูญเสียผลผลิต และสามารถนำน้ำใต้ดินกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการพัฒนาท่อระบายแบบพิเศษร่วมกับ เอสซีจี

 ยังมีโครงการรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย ฟางข้าวโพด และเศษผลผลิตทางการเกษตร ที่ภาคเอกชน อย่างเอสซีจีและภาคีพันธมิตร ไปร่วมมือกับภาคชุมชน รับซื้อเศษวัสดุเหล่านั้น นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานทดแทนในโรงงาน  แทนที่จะนำไปเผาทิ้งจึงช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ได้

ช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยโลก ช่วยกันส่งต่ออนาคต


“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนเราเอากบใส่ลงไปในหม้อน้ำ ถ้าน้ำเดือดกบจะกระโดดออกทันที ตรงกันข้าม ถ้าตั้งไฟให้น้ำค่อยๆ เดือด อุณภูมิค่อยๆ เพิ่มขึ้น กบก็จะตายคาหม้อ”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าตอนนี้มนุษย์ทุกคนเหมือนอยู่ในหม้อน้ำที่อุณหภูมิค่อยๆ สูงขึ้น เราจึงยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหา

“ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน จะมีการใช้กฎระเบียบต่างๆ แค่ไหน ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมา ดังนั้นการรักษาความสมดุล จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ” รัฐมนตรีวราวุธ ย้ำว่า ตอนนี้เรามาไกลเกินกว่าจะถอยหลัง ต่อจากนี้ไปการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ต้องหมุนเวียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ไปถึงรุ่นหลานให้ได้

กุญแจสำคัญของภารกิจนี้อาจไม่ใช่เครื่องมือล้ำสมัยแต่เป็น ‘ความร่วมมือ’ จากทุกฝ่ายตั้งแต่พวกเราทุกคน ไปจนถึงระดับประเทศ ในการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ เพื่อเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยโลก พร้อมส่งต่อความหวังที่ดีให้วันข้างหน้าต่อไป

คลิกรับชมงาน SD Symposium ย้อนหลัง และรับฟังแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน ได้ที่ https://bit.ly/364apD0

#UrbanCreature #WhatsUp #SCG #SDSymposium #ร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน #CircularEconomy #เศรษฐกิจหมุนเวียน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.