ความฝันของคนเป็นศิลปินทุกคน นอกจากจะมีพลังสร้างงานศิลปะของตัวเองออกมาได้อย่างต่อเนื่องและ Enjoy the Process อยู่เสมอ หลายคนคงปักหมุดในใจว่าอยากเสพงานศิลปะที่หลากหลาย เปิดหูเปิดตามากเท่าที่จะทำได้ และบางครั้งอาจฝันถึงการไปเยือนเมืองแห่งศิลปะสักครั้งในชีวิต
‘มีน-ธันยธรณ์ ลี้ไวโรจน์’ ก็เคยฝันแบบนั้น เธอคือศิลปิน กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์ที่ชีวิตผูกติดกับการวาดมาตลอด อาจเพราะสีสันฉูดฉาด ลายเส้นที่ดึงดูดสายตา และข้อความทางการเมืองบางอย่างที่ซ่อนไว้ในงานของมีน เธอจึงได้โอกาสจากสถาบันเกอเธ่ฯ สถาบันที่นอกจากโด่งดังเรื่องการสอนภาษาเยอรมันแล้ว ยังเป็นสะพานเชื่อมต่อให้คนไทยและศิลปินเยอรมันได้ใกล้ชิดกัน ผ่านกิจกรรมและโครงการพิเศษมากมาย กรณีของมีนก็นับเป็นหนึ่งในนั้น
มีนถูกเลือกจากสถาบันเกอเธ่ฯ ที่สนับสนุนการเดินทางไปเข้าร่วมงาน Berlin Art Week และ Stuttgarter Comictage ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเธอออกปากว่าเป็นประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนประสบการณ์ไหนในชีวิต
หญิงสาวถูกเลือกจากสถาบันเกอเธ่ฯ ได้อย่างไร และทริปเสพงานศิลปะของเธอจะเปิดโลกให้กับศิลปินคนหนึ่งได้แค่ไหน เราขอชวนมาฟังประสบการณ์ของเธอในบรรทัดต่อจากนี้
From Dreamer to Artist
มีนรักการวาดภาพมาตั้งแต่จำความได้ เธอจึงมุ่งมั่นเดินทางสายนี้จนเข้าเรียนที่ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาก็ยังคลุกคลีกับงานออกแบบและลายเส้น
หญิงสาวนิยามงานของเธอว่าเป็นสไตล์ Pop Art สีฉูดฉาด ใช้ลายเส้นเยอะ และเริ่มเสียดสีสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ “ช่วงเราเรียนจบใหม่เป็นช่วงเลือกตั้งปี 2019 ที่การเมืองดุเดือด บางคนอาจแสดงออกผ่านทางคำพูดหรือการเขียน แต่สำหรับเรามันคือการวาดรูป ทุกครั้งที่มีประเด็นทางการเมือง เราจะโกรธมากและสร้างงานชิ้นใหม่ตลอด เหมือนเราได้แสดงความรู้สึกผ่านการวาดพร้อมกับการสื่อสารให้คนภายนอกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเราบ้าง”
หมุดหมายสำคัญในเส้นทางศิลปินของมีนเกิดขึ้นในงาน Bangkok Illustration Fair ปี 2022 ซึ่งเธอได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในศิลปินประจำงาน อีเวนต์เดียวกันนี้เองได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ฯ ที่นอกจากจะร่วมซัพพอร์ตงานที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยแล้ว ยังเป็น Reviewer ในงานนี้ด้วย
อย่างที่เดาออก มีนคือคนที่สถาบันเกอเธ่ฯ เลือกจากศิลปินทั้งหมด 150 รายชื่อ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับเยอรมนี เพื่อไปเสพศิลปะในงาน Berlin Art Week และ Stuttgarter Comictage อย่างจุใจ
From Bangkok to Berlin
ตัดภาพมาหนึ่งปีให้หลัง เดือนกันยายน 2023 เท้าของมีนก็แตะที่ท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดนบูร์ก เมืองเบอร์ลิน
“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้สนใจศิลปะเยอรมันขนาดนั้น เพราะไม่ได้ติดตามศิลปินที่เป็นคนเยอรมันเลย แต่เพื่อนๆ บอกว่าเราน่าจะเหมาะกับเบอร์ลิน เพราะเป็นเมืองที่สตรีท และพอไปถึงเราก็พบว่าเขาพูดถูก เมืองมีความสตรีท เถื่อนๆ ระดับหนึ่ง” มีนหัวเราะ
“แต่ข้อดีคือเบอร์ลินเป็นเมืองที่มองไปตรงไหนก็เจองานศิลปะ อาจจะไม่ใช่งานเพนต์ แต่มีงาน Installation สติกเกอร์ และงานรูปแบบอื่นๆ ซึ่งส่วนมากเรามองว่าเป็นงานที่ใช้ลายเส้นเยอะคล้ายๆ กับงานของเรา ทำให้เราถูกใจมาก”
นั่นคือความไฮป์แรกที่มีนมีต่อเมืองที่โอบรับศิลปะเต็มกอดอย่างเบอร์ลิน แต่หญิงสาวบอกว่าใจเธอเต้นแรงกว่าเดิมตอนที่ไปถึงเทศกาลศิลปะเมืองเบอร์ลิน-หนึ่งในจุดหมายที่เธอบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดู
Berlin Art Week เป็นงานศิลปะที่กระจายจุดจัดแสดงไปทั่วทุกมุมเมือง ในงานมีศิลปินมาโชว์งานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานวาด งาน Installation งานแสดง (Performance Art) ไปจนถึงงานแสดงไฟ
“เบอร์ลินเป็นเมืองที่ให้ค่าด้านศิลปะอยู่แล้ว พอมีงานที่จัดแสดงศิลปะในทุกพื้นที่ มันก็เชิญชวนให้คนบ้านเขาอยากออกมาเสพ มากกว่านั้นคืองานนี้เป็นพื้นที่โชว์งานศิลปะของคนเบอร์ลินด้วย”
อีกงานหนึ่งที่มีนได้มีโอกาสเข้าร่วมคือ Stuttgarter Comictage หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า ComicJuju เป็นงานสำหรับศิลปะสายวาดภาพประกอบที่สเกลเล็กกว่า ในงานรวบรวมนักวาดในเมืองสตุทท์การ์ตและเมืองอื่นๆ มาจัดแสดงงาน และเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของการสร้างงานให้ผู้ชมฟัง รวมถึงกิจกรรมที่พานักวาดไปวาดรูปในมุมต่างๆ ของเมือง เพื่อให้การวาดไม่ถูกจำกัดกรอบและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น
เธอเล่าให้ฟังว่า วันที่ไปนั้นประจวบกับจังหวะที่ในงานมีกิจกรรม Comic Battle ซึ่งให้นักวาดมาแข่งวาดรูปปะทะกันพอดี แม้จะฟังภาษาเยอรมันไม่ออก แต่เธอก็พอเห็นภาพว่าศิลปินท้องถิ่นทุ่มเทพลังและสนุกสนานกับการวาดรูปแค่ไหน และพลังนั้นถูกส่งมาถึงนักวาดชาวไทยผู้ร่วมงานแบบมีนด้วย
From Thailand to Germany
มากกว่าการได้ไปเสพศิลปะที่เยอรมันในงานทั้ง 2 งาน มีนยังมีโอกาสได้พบปะกับคุณ Mayha Suaysom ศิลปินไทยใน Stuttgart ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดตั้งงาน Comicjuju อีกทั้งยังได้ไปคลุกคลีกับศิลปินชาวเบอร์ลินและคอมมูนิตี้ของพวกเขา
“เรามีโอกาสได้เจอศิลปินคนหนึ่งชื่อ Jakob Hinrichs เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันเกอเธ่ฯ เช่นกัน และปีที่แล้วเขาก็เคยมาเป็นศิลปินรับเชิญที่ Bangkok illustration Fair ในบ้านเรา ยาคอบพาเราไปดูสตูดิโอของเขาซึ่งทำงาน Illustration และผลิตสิ่งพิมพ์อิสระของตัวเองขายด้วย เราคุยกับเขาว่าทำไมถึงพิมพ์หนังสือขายได้ เขาบอกว่าคนในประเทศเขายังคงสนับสนุนสิ่งพิมพ์ ยิ่งคนให้ค่าศิลปะและสิ่งพิมพ์ ศิลปินก็กล้าทำออกมาขายได้ ทำให้สิ่งพิมพ์ยังไม่ตายและมีหลากหลาย”
มีนวิเคราะห์ต่อว่า นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้ศิลปินและสื่อสิ่งพิมพ์ของเยอรมนีนั้นแข็งแรง ไม่ใช่เฉพาะประชาชนคนทั่วไปที่สนับสนุน แต่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของแกลเลอรี และรัฐก็มีการออกแบบพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมที่กระตุ้นให้ศิลปินอยากสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อนำมาจัดแสดง อย่าง Berlin Art Week และ ComicJuju ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
“หรืออย่างพิพิธภัณฑ์ของเขาก็เยอะ และเขาทำให้มันน่าเข้ามากๆ เพราะพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งอยู่ใกล้กันมาก โครงสร้างของตึกและความสะดวกสบายในการเข้าถึงยิ่งทำให้เราอยากเข้าไปดู หรือตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือกำแพงของเขาที่ไปไหนก็เห็นว่ามีงานเพนต์อยู่เต็มไปหมด มันทำให้คนในเมืองรู้สึกว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้องจัดแสดงในสถานที่ที่เป็นทางการเท่านั้น ถ้าเทียบกับประเทศไทยที่เรากำลังเพนต์แล้วเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะตามมาลบ มันก็ให้ความรู้สึกต่างกัน” เธอบอก
From Artists to Artist
มีนใช้เวลาอยู่เยอรมนี 5 วัน หลังจากนั้นเธอเดินทางไปยังโคเปนเฮเกนและฝรั่งเศสเพื่อเสพศิลปะต่อ
“การพาตัวเองออกไปเจองานศิลปะแบบนี้ แน่นอนว่างานเหล่านี้ให้แรงบันดาลใจ แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือการเสพศิลปะ แม้เราจะไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่ไปยังจุดหมายเดียวกัน แต่สารที่เราได้รับจะแตกต่างกันตามการตีความของแต่ละคน
“การเห็นผลงานเหล่านี้เปิดมุมมองเรื่องการสร้างสรรค์งานของเรา เรารู้สึกว่างานศิลปะไม่มีกรอบจำกัด มากกว่านั้นคือการได้เห็นเทคนิคหลายๆ แบบที่อาจจะหยิบจับมาใช้ในงานของเราได้ในอนาคต เราดีใจที่เราได้รับประสบการณ์นี้ ไปแล้วอยากไปอีก เพราะน่าจะมีสถานที่ลับอีกหลายแห่งที่เราไม่เคยไป” เธอยิ้ม แล้วกล่าวขอบคุณสถาบันเกอเธ่ฯ ที่ให้โอกาส
ถ้าให้ถอดบทเรียนสักอย่างจากทริปนี้ มีนเอ่ยว่าในมุมของการผลักดันศิลปิน รัฐคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
“จริงๆ บ้านเราก็มีงาน Bangkok Design Week นะ แต่เราไม่แน่ใจว่ารัฐเข้ามาช่วยมากน้อยแค่ไหน เราคิดว่าถ้ารัฐเข้ามาช่วยและผลักดันให้ไปไกลแบบ Berlin Art Week คนในเมืองและนักท่องเที่ยวอาจมีแรงจูงใจมาดูงานมากขึ้นก็ได้ รวมไปถึงพวกพื้นที่สาธารณะที่หากเชื่อมโยงกับศิลปะมากขึ้นกว่านี้ เช่น การนำประติมากรรมบางอย่างไปตั้งที่สวนลุมพินีหรือสวนเบญจกิติ มีการนำชิ้นงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ไปจัดแสดงเป็นกิมมิกของที่นั่น คงทำให้คนเมืองได้เชื่อมโยงกับศิลปะได้มากขึ้น
“การมีศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญนะ สำหรับเราศิลปะคือความสดชื่น มันทำให้ชีวิตของเราไม่แห้งและมีสีสัน ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีสีสันจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจและใช้ชีวิตสนุกขึ้น” มีนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม