“โปรดรับชม รับฟังอย่างมีวิจารณญาณ”
คำแนะนำที่อยากให้ทุกคนตั้งใจอ่านบทความนี้ เพราะเราจะชวนมาฟัง ‘Ghost Story’ เพลงผีๆ ของวงอินดี้หน้าใหม่ ‘Ford Trio’ ที่มี ‘ฝอด’ อยู่เบื้องหลังการแต่งเพลงโดยหยิบไอเดียจาก ‘เดอะโกสเรดิโอ’ มาใส่ดนตรีฟังก์ที่ฟังกี่รอบก็สนุก เพื่อตั้งคำถามกับประเด็น ‘ความเชื่อ’ ในสังคมไทย
เขาไม่ได้เพียงสนใจค้นหาความจริงของเรื่องเหนือธรรมชาติ หากยังต้องการตีแผ่ความจริงที่ควรได้รับการพิสูจน์ อย่างเพลง ‘Fake News’ ที่พูดถึงข่าวปลอมในโซเชียล ไปจนถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการพูดความจริงในเพลง ‘คุ้มเสีย’ ที่ฝอดคิดว่าแม้จะเป็นผู้เห็นต่างก็ไม่ควรมีใครโดนไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
“สวัสดีครับผมดีเจแจ็ค ขอต้อนรับคุณผู้ฟังเข้าสู่รายการเดอะโกสเรดิโอ
เรื่องราวที่คุณจะได้ฟังต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น…”
เสียงจากรายการดังออกมาแผ่วเบากลางดึก สิ่งที่ได้ยินได้ฟังยากจะเชื่อ แต่เรื่องสยองเหนือจินตนาการก็ทำให้ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ความกลัวติดค้างอยู่ในมโนภาพ พร้อมเรื่องราวลี้ลับ ‘หาคำตอบไม่ได้’ ที่ค้างคาอยู่ในใจ
ขณะที่กำลังลุ้นระทึกไปกับไลฟ์สดเรื่องผี คอมเมนต์หนึ่งเด้งขึ้นมา “เรื่องแต่งปะ?” คำถามขัดจังหวะพาลหมดสนุกกลายเป็นสารตั้งต้นให้ ‘ฝอด’ หยิบไอเดียจาก ‘เดอะโกสเรดิโอ’ มาแต่งเพลงยียวนอย่าง ‘Ghost Story’ พร้อมใส่ดนตรีฟังก์ที่ฟังกี่รอบก็สนุก เขาคือศิลปินวัย 23 ผู้รับหน้าที่ทั้งร้องนำ เล่นกีตาร์ แต่งเพลง และเป็นโปรดิวเซอร์ของวง ‘Ford Trio’ วงอินดี้ไทยหน้าใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อน 3 คน ในสาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“แล้วเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง
ใครจะสน เขาขอให้ฟังแล้วสนุกเป็นพอ
เพราะมันจะทำลาย ทำลายอรรถรส
ที่เธอจะได้รับอย่างมากมาย”
แค่อ่านเนื้อเพลงท่อนแรกของ ‘Ghost Story’ เราก็รู้สึกสนใจและเมื่อกดเล่นเพลงเท่านั้นแหละ เราก็สัมผัสได้ว่า “วงนี้มีของ!” ที่มาของเพลงนี้มันเริ่มจากฝอดชอบฟัง เดอะโกสเรดิโอ แล้วครั้งหนึ่ง ‘ดีเจแจ็ค’ พูดขึ้นมาในรายการว่า “เราไม่ได้ฟังเพื่อมาเค้นหาความจริง เพราะเราฟังเรื่องผี” ฝอดรู้สึกประทับใจประโยคนี้ถึงกับอีเมลไปขอเสียงพี่แจ็คมาแต่งเพลง
“เสน่ห์ของดนตรีฟังก์คือเราจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ได้ต้องเป็นเพลงรักอย่างเดียว และเราเป็นวงอิสระไม่ได้มีค่ายมาคอยบอกว่า ขอเพลงขาย ขอเพลงช้า หรือว่าขอเพลงรัก เราเลยคิดว่าอยากทำอะไรที่วงการดนตรีไทยทำไม่ได้ครับ ซึ่งในปีนี้สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือประเด็นเรื่อง ‘ความจริง’ ผมรู้สึกว่าคนในสังคมให้น้ำหนักความจริงกันแปลกๆ”
“แล้วเราจะหา ความจริงไปทำไม
ในเมื่อเรารู้ ปิดหูปิดตา มันจะอินมากกว่า
ไม่ต้องไปหา ความจริงเรื่องใด
แค่ฟัง และฟัง เท่านั้น ไม่ต้องคิด มันจะอินมากกว่า”
ท่อนฮุกของเพลงทำเราขยับตามด้วยดนตรีแพรวพราว เราจับจังหวะได้ว่าที่หัวใจเต้นรัวไม่ใช่เพราะกลัวผี แต่เป็นความตื่นเต้นแปลกใหม่ที่ฝอดตั้งใจนำเสนอดนตรีฟังก์ที่มีความเฉพาะตัวและร่วมสมัย
“รากเหง้าของดนตรีฟังก์มาจากคนดำในอเมริกานะครับ วงฟังก์ประกอบไปด้วย กลอง เบส กีตาร์ และก็มีนักร้อง มากหน่อยก็มีเครื่องเป่า ทำมาเพื่อประกอบการร้องเพลงเต้นรำกันในโบสถ์ พื้นฐานของมันเลยคือความสนุก แต่ฟังก์ของ Ford Trio จะผสมผสานอะไรแปลกๆ เช่น ลีดกีตาร์แปลกๆ หรือไปแจมกับแรปเปอร์ เราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าเป็นแนวอะไร แต่เป็นการหาความเป็นไปได้ของเครื่องดนตรี 3 ชิ้น คือ กีตาร์ เบส กลอง ว่าเราจะพามันไปจุดไหนได้บ้างเพื่อสร้างแนวทางดนตรีใหม่ๆ”
เราถามฝอดว่าชอบฟังเรื่องผีแล้วเชื่อเรื่องผีไหม เขารีบตอบทันควันว่า “เชื่อครับ” เราโยนคำถามต่อทันทีว่า เห็นด้วยไหมกับความเชื่อที่ว่า ‘คนไทยงมงาย’ เขาเอียงคอคิดพลางจับคลึงเส้นเคราตัวเองทีละเส้น
“การเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมันไม่ผิดเลยครับ ถ้าไม่ได้ไปรบกวนคนอื่นมันก็เป็นสิทธิ์ของเรา ในความเห็นผมแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ในอีกแง่มันก็ทำให้เราประมาทกับการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน ถึงจะไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้แคล้วคลาดปลอดภัย แต่เราข้ามถนนไม่มองทางก็โดนรถชนอยู่ดี ผมรู้สึกว่าทุกอย่างต้องใช้ ‘สติ’ ในการทำอะไรหรือเชื่ออะไรก็ตาม”
เราสงสัยว่าแล้วถ้าคนบางกลุ่มเอาความเชื่อมาหาผลประโยชน์ล่ะ ‘คน’ กับ ‘ผี’ อะไรน่ากลัวกว่ากัน? คราวนี้เขาเปลี่ยนจากจับเครามาจับหนวด
“บางทีความเชื่อมันไม่ได้มาในรูปแบบผีสางเท่านั้นครับ แต่มาในรูปแบบคน การทำให้คนธรรมดาวิเศษวิโสขึ้นมาอย่างพวกร่างทรง หรือการทำให้คนธรรมดาเป็น ‘สมมติเทพ’ เวลาที่เราเชื่อในตัวบุคคลมากๆ หรือเชื่อแบบงมงาย ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนไม่ดีก็สามารถชักนำสาวกของเขาไปในทางที่ไม่ดีหรือทำเรื่องไม่ดีได้”
“เกลียด แต่ก็ต้องมีบ้างบางคราว
ที่เราจะเขียนอะไร เพื่อจะสนองอารมณ์ของใครๆ
ฉันอยาก จะเขียนอะไรให้โดนใจ
ไม่ว่าจะเขียนอะไร ใส่ไข่และเขียนลงไป
ให้เกินจริงเข้าไว้”
หลังจากถกกันถึงเรื่องจริงเรื่องแต่งกันจนกระทั่งเพลงจบ แอปฯ ฟังเพลงก็ขึ้นท่อนอินโทรของเพลงต่อไป เพลงนี้ชื่อว่า ‘Fake News’ ฝอดไม่ได้สนใจค้นหาความจริงแต่เรื่องเหนือธรรมชาติเท่านั้น หากยังต้องการตีแผ่ความจริงที่ควรได้รับการพิสูจน์
“ผมเห็นว่าข่าวส่วนใหญ่ที่เขาแชร์ๆ กันครับ มันเป็นเรื่องที่ใครก็ได้เขียนขึ้นมา แล้วสังคมเราเชื่ออะไรก็ตามที่อยู่ในโซเชียลง่ายมาก ไม่มีใครเอะใจเลยว่ามันเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่ ‘เรื่องที่เขาบอกต่อๆ กันมา’ และถ้ามันเป็นการเขียนเพื่อด่าหรือทำร้ายใครสักคน ส่วนใหญ่จำเลยของเรื่องเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้แก้ข่าวเลยว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม ผมเลยรู้สึกว่าเราควรให้น้ำหนักมันมากหน่อย”
ฝอดยังมองว่าการใส่สีตีข่าวไม่เพียงสามารถทำลายชีวิตคนคนหนึ่งได้ ในสถานการณ์ปัจจุบันข่าวปลอมมากมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ‘สร้างความเกลียดชัง’ เพื่อนำไปสู่ความรุนแรง
“วิธีการระดมคนคือการทำให้คุณเกลียดใครสักคนมากๆ มันเป็นแนวคิดชาตินิยมที่ต้องการรวมประเทศเพื่อไปสู้กับอีกประเทศ หรือทำให้คนอีกกลุ่มกลายเป็นศัตรู การที่เราใช้คดีที่ไม่ได้มีใครรู้ความจริงมาโจมตี ทำให้เขาเป็นคนเลวด้วยสิ่งที่เราเชื่อ ทุกคนอาจลืมไปว่ามันยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ถ้าผมจะเกลียดใครสักคน ผมอยากเกลียดในสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเขาทำจริงๆ เพราะฉะนั้นมันต้องทำให้ตรวจสอบได้ก่อน”
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีให้เสพล้นหลามทั้งในสื่อหลักและโซเชียล เราถามฝอดว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะตัดสินว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง?
“ผมจะไม่เชื่ออะไรแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่เชื่อว่าข่าวที่ออกทีวีมันคือเรื่องจริงทั้งหมด ผมมองว่ามันคือข่าวจากสายตานักข่าวคนหนึ่ง ตอนนี้เวลาผมฟังข่าวหรือไปอ่านอะไรมา ผมจะโยนเข้า ‘ตะกร้ารอพิสูจน์’ ไว้ก่อนครับ ถ้ามันถูกพิสูจน์แล้วผมถึงจะโยนเข้า ‘ตะกร้าความจริง’ บางข่าวมันไม่ได้ไปต่อ เช่น ข่าวลุงพลที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือพิสูจน์แล้วสื่อไม่ตีข่าวต่อ ตอนนี้ผมแทบจะไม่โยนอะไรใส่ตะกร้าความจริงเลย รอพิสูจน์กันไป”
ไม่ใช่ทุกสื่อที่เชื่อถือได้ แล้วเราควรเชื่อสิ่งไหน?
“เราต้องเปิดกว้าง ถ้าเราปิดประตูไม่รับข่าวจากอีกฝั่งเลย เท่ากับว่าเรารับความจริงด้านเดียวก็เหมือนเราอยู่ในกะลา เราจึงต้องรับข่าวจากทั้งสองฝ่ายและมองให้ออกว่าแต่ละสื่ออยู่ฝ่ายไหน คนเขียนข่าวเขาก็เอนเตอร์เทนสาวกของเขา เพราะเขารู้ว่าเขียนข่าวแบบนี้ ใช้ถ้อยคำแบบนี้ คนแชร์เยอะ ผมเองยังต้องรับข่าวของอีกฝั่งเลยแม้จะรู้สึกอารมณ์เสียมาก แต่ต้องรับไว้ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครเบรกเรา”
แบบนี้หน้าที่ของสื่อและคนเสพสื่อคืออะไร?
“สื่อควรจะมีหน้าที่เสนอ ‘ความจริง’ อย่างมีจรรยาบรรณ แล้วสื่อก็ควรจะละอายมากๆ เมื่อนำเสนอเฟกนิวส์ เราควรไว้ใจสื่อได้ สื่อควรเป็นกลาง ส่วนคนเสพสื่อก็ควรมี ‘สติ’ เหมือนเดิมครับ อ่านข่าวจบแล้วอย่าเพิ่งโกรธ อย่าเพิ่งใจร้อน ใจเย็นๆ รอดูก่อนว่ามันเป็นยังไง”
“ไม่ให้ฉันพูด ไม่ให้ฉันคิด
ไม่มีราคา ไม่มีที่ยืน
ให้กับคนที่มองต่างออกไป”
แอปฯ ฟังเพลงรันมาถึงเพลงใหม่ของ Ford Trio ที่เราอยากจะแนะนำ ‘คุ้มเสีย’ เพลงช้าพูดถึง ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ ที่ฝอดคิดว่าแม้จะเป็นผู้เห็นต่างก็ไม่ควรมีใครโดนไล่ออกจากประเทศ เราจึงปิดท้ายด้วยประเด็น ‘ศิลปินกับอิสระในการแสดงความคิดเห็น’
“อาชีพศิลปินขึ้นอยู่กับการมีผู้จ้าง ศิลปินที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองตอนนี้เราจะเรียกว่าเป็นผู้เสียสละก็ได้ เพราะการที่เขาออกมามันทำให้เขาถูกแคนเซิลงาน ทำให้ผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน เขาสูญเสียรายได้แทบจะแน่นอนเลย แต่มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าศิลปินก็ถือเป็นสื่อเหมือนกันเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ศิลปินควรจะเป็นอิสระ เราน่าจะออกมาพูดเรื่องอะไรก็ได้ ออกมาบอกว่าเราเชื่ออะไรโดยที่ไม่กระทบหน้าที่การงาน แต่ตอนนี้มันกระทบมากๆ คนที่เขาออกมาพูดเรื่องนี้ไม่มีงานเลยทั้งปีก็มี
“ศิลปินควรจะมีอิสระในการพูด โดยไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท หรือด่าใครเสียๆ หายๆ สิทธิ์ในการพูดของศิลปินคือการถ่ายทอดความคิดของตัวเองและข้อเท็จจริง”