หลายคนคงได้ยินชื่องาน Bangkok Design Week 2019 กันมาบ้างแล้ว ซึ่งงานนี้เป็นเทศกาลงานออกแบบของชาวกรุงเทพฯ ที่บรรดานักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ ต่างรวมพลังกันออกมาสร้างผลงาน และถ่ายทอดมุมมองในแบบฉบับของตัวเอง ผ่านผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ วันนี้ Urban Creature จึงพาไปลงลึกเปิดมุมมองความคิดของ GEDES แก๊งภูมิสถาปนิกคลื่นลูกใหม่ ที่น่าจับตามองว่ากลุ่มคลื่นลูกนี้จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้กับเมืองของเราอย่างไรบ้างนะ ถ้าพร้อมแล้วไปทำความรู้จักกับพวกเขากัน !
| ‘GEDES’ พวกคุณคือใคร
พวกเราคือกลุ่มภูมิสถาปนิกจบใหม่ที่อยากทดลองสร้างผลงานในสัดส่วนที่ควบคุมได้ และเข้าถึงผู้คนง่าย ก็เลยเริ่มจากงานประกวดแบบ หรือการสร้างผลงานในรูปแบบ Installation หรือผลงานศิลปะที่จัดวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยแนวความคิดแบบ Landscape Architecture (ภูมิสถาปัตยกรรม) ที่อยากให้คนกับสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้
| ภูมิสถาปัตยกรรมคืออะไร
เรามองว่าภูมิสถาปัตยกรรมคือ การหาสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ พอคนเริ่มมีการพัฒนาพื้นที่อะไรขึ้นมาสักอย่าง และสิ่งนั้นกำลังเริ่มสร้างผลกระทบกับธรรมชาติ ซึ่งนั่นแหละมันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาความสมดุลระหว่างสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะคนกับคน หรือคนกับพื้นที่ พื้นที่กับพื้นที่ ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดีและยืนยาว แต่มุมมองของคนไทยภูมิสถาปัตยกรรมยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ ซึ่งงานของเราเหมือนถูกจำกัดแค่ว่า จัดสวน ปลูกต้นไม้ บางทีไม่ได้สนใจในเรื่องของการใช้พื้นที่ภายนอกเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วเราสามารถเพิ่มทั้งคุณค่า มูลค่า ให้พื้นที่ภายนอกได้แบบเยอะมาก แถมยังทำให้พื้นที่เหล่านั้นมันมีพลังงาน และการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
| คิดอย่างไรกับการใช้พื้นที่ภายนอกของคนไทย
เราอยากเห็นคนออกมาใช้พื้นที่ภายนอกกันมากขึ้นกว่านี้นะ ซึ่งเรามองว่าคนทั่วไป อยากใช้พื้นที่ภายนอกกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันขาดคือสถานที่ที่มันเหมาะสม จริงๆ แล้วนิสัยของเราอะมันก็เป็นไปตามเมือง เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าคนไทยไม่ค่อยใช้พื้นที่ภายนอกกันเท่าไหร่ เพราะว่ามันร้อน ซึ่งเราเคยไปที่ไต้หวันมันก็ร้อนเหมือนที่ไทยเลย แต่เขามีทางเท้าที่มันกว้างให้คนเดินได้สะดวก มีสวนที่สามารถเชื่อมต่อคนให้เข้ามาได้ เราก็เลยรู้สึกว่า เอ้ยยย คนไต้หวันก็ออกมาข้างนอกกันนะ ก็เลยแบบปัญหามันก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวคนแล้วล่ะ มันกลายเป็นเรื่องของการออกแบบ และบริหารเมืองมากกว่า ที่จะทำยังไงให้มันน่าใช้ น่าออกมาเดิน อยากออกมาทำกิจกรรมกับพื้นที่ข้างนอกกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละมันจะพาเราไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
| สิ่งสำคัญของการเป็นภูมิสถาปนิกคืออะไร
“อย่างแรกเลยคือต้องเข้าใจในเรื่องของสภาพแวดล้อมของพื้นที่ก่อนนะ การทำงานดีไซน์ไม่ใช่แค่งานอะไรก็ได้
สร้างขึ้นมาแล้วให้มันไปอยู่ตรงไหนก็ได้”
แต่ว่ามันต้องเข้ากับสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และนิสัยของคนตรงนั้น อย่างคนกรุงเทพฯ เขาทำอะไรกันบ้าง เขาใช้งานอะไร เขาต้องการอะไร รวมไปถึงสภาพอากาศ ภูมิศาสตร์ด้วยนะ คือรายละเอียดมันเยอะ เราต้องใส่ใจและเข้าอกเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้มากๆ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาปรับเข้ากับงานออกแบบของเรา
| เล่าถึงผลงานที่ประกวดที่นิวซีแลนด์ให้ฟังหน่อย
พวกเราก็เริ่มทำมาด้วยกันเนอะ ซึ่งงานของเราเนี่ยทำเป็น Pop Up Garden ขึ้นมาในเมืองไครสต์เชิร์ช ของประเทศนิวซีแลนด์นั่นแหละ ซึ่งเมืองนี้จะเป็นอารมณ์เหงาๆ สีเทาๆ หน่อย เขาก็เลยอยากเติมสีสันให้กับเมือง ก็เลยเป็นแนวคิดที่จะทำเป็นสวนที่ให้คนออกมาเล่น ออกมาใช้พื้นที่ภายนอก โดยทางนั้นเขาก็ซัพพอร์ตในเรื่องการก่อสร้างคือเรามีหน้าที่แค่นำเสนอไอเดียไปแค่นั้น
ซึ่งผลงานที่เราออกแบบนี้เรามีไอเดียที่อยากเล่นกับวัสดุใหม่ๆ ดูบ้าง เราก็เลยลองใช้สิ่งที่เรียกว่า Pool Noodle โฟมสำหรับช่วยว่ายน้ำ เอามาปรับใช้กับงาน ด้วยคุณสมบัติที่มันเป็นของสำเร็จรูป น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ ถอดประกอบง่าย แถมสีสันของเจ้าโฟมอันนี้มันก็สดใสด้วย ทำให้งานของเรามันน่าสนใจมากขึ้น แบบสะดุดตาให้คนเข้ามาเล่น เข้ามาถ่ายรูปกัน ซึ่งแบบมันเพิ่มความมีความมีชีวิตชีวาให้กับงานมากๆ เลย
| จุดเริ่มต้นของ GEDES ในงาน Bangkok Design Week 2019
จริงๆ แล้วมันต่อเนื่องจากงานประกวดแบบที่นิวซีแลนด์แหละ ซึ่งระหว่างนั้นเรามีเวลาว่างก็เลยเริ่มหางานประกวดแบบไปเรื่อยๆ แล้วมันก็มีงานของ Bangkok Design Week ขึ้นมาพอดี เราก็เลยร่วมทำกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ยังคงคอนเซ็ปต์ที่อยากทำ Landscape Installation ที่อยากดึงคนให้มาใช้พื้นที่ภายนอกร่วมกัน
เลยต่อยอดคิดว่าจะทำอะไรกันดี ให้มันเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น จับต้องได้ง่ายมากขึ้น และใช้ได้จริงด้วย เหมือนมันเป็นการทดลองเหมือนกันนะ แบบเราอยากพิสูจน์พฤติกรรมว่าคนไทยด้วยว่าจริงๆ แล้วคนไทยอะชอบหรือไม่ชอบการใช้พื้นที่ภายนอกกันแน่ หรือจริงๆ แล้วเพราะเราไม่มีพื้นที่ดีๆ เราก็พากันไปอยู่ในห้างก็เลยกลายเป็นค่านิยม ทำให้คิดกันไปว่าห้างมันเหมาะกับคนไทย ใครๆ ก็เลยแห่กันสร้างแต่ห้างทั้งที่จริงแล้วพื้นที่ข้างนอกมันก็ทำได้ แค่ไม่มีใครมาใส่ใจที่จะพัฒนามันมากกว่า
ก็เลยกลายเป็นเสื่อจากยางเป่าลมนี้ขึ้นมา ซึ่งตอนแรกเราก็จะสั่งทำนะ แต่งบมันก็เยอะมาก เราเลยพยายามหาวิธีลดพวกค่าใช้จ่าย ก็เลยลองซื้อแล้วเอามาทำกันเองแบบราคามันก็น้อยกว่า แถมมันก็ได้ผลตอบรับตามที่เราต้องการด้วย ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งในการทดลองใช้วัสดุอีกเหมือนกัน
| มุมมองแบบภูมิสถาปนิกกับสถานการณ์ฝุ่นตอนนี้
คือมันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้นะว่าต้นไม้มันให้ออกซิเจน แต่ทำไมไม่มีใครคิดที่จะปลูกต้นไม้เลย แล้วก็รู้สึกว่าหลายๆ คนไม่เข้าใจว่าต้นไม้เค้ามีหน้าที่อะไร มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วต้นไม้เค้าคือตัวช่วยสำคัญในการดูดซับฝุ่นเลยนะ อย่างในประเทศที่เขามีฝุ่นน้อย เพราะต้นไม้เขาเยอะ เขามีพื้นที่สีเขียว
“เราก็ต้องหันกลับมาดูสาเหตุว่าฝุ่นในบ้านเรามันเกิดจากอะไร
ควรสนใจแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วก็ปัญหาในเรื่องของการตรวจวัดของโรงงาน หรือในรถยนต์ต่างๆ มันต้องตรงไปตรงมาและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”
อย่างเคสของประเทศจีน ที่เขาปิดโรงงานอุตสาหกรรม แล้วก็เริ่มปลูกป่าขึ้นมาทดแทนเลย ซึ่งมันยิ่งกว่าปลูกต้นไม้อีกนะ และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยคือการวางผังเมืองที่ดี มันส่งผลในแง่ของการบริหารประเทศเลย แบบจะวางพื้นที่สีเขียวเอาไว้เท่าไหร่ คือมันต้องผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว ก่อนที่จะสร้างหรือทำอะไรก็แล้วแต่ คือต้องคิดถึงปลายทางว่าสิ่งที่กำลังจะทำมันส่งผลกระทบอะไรบ้าง แล้วต้องทำอะไรมาทดแทนบ้าง ซึ่งเราต้องหันมาใส่ใจและสนใจ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
| อยากเห็นอะไรในประเทศไทยยุคนี้
อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นการจัดการที่ดีขึ้น การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งทุกคนควรจะได้รับนะ ทั้งหมดมันคือความหมายของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือตอนนี้เราเห็นว่าคนรุ่นเราพยายามทำอะไรบางอย่างแล้วเราก็เป็นหนึ่งในนั้น พอมองไปรอบๆ ก็เห็นพี่ๆ น้องๆ ก็พยายามช่วยกันทำอะไรขึ้นมา เพราะในระบบของคนไทยกว่าจะทำอะไรได้มันค่อนข้างยาก เราก็เลยเลือกที่จะลงมือทำเองดีกว่า
| คำนิยามของ Urban Creature
ทุกคนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกล้วนคือ Urban Creature นะ เพราะสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่อยู่มาก่อนเรา พวกเขาเป็นแรงขับเคลื่อนวัฏจักรที่มันเป็นไปอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่แค่คนแต่เป็นธรรมชาติต่างหาก ซึ่งถ้าเรามองว่ามันเป็นคำนิยามของความเป็นเมืองที่อยู่บนโลก ที่คนพยายามสร้างและควบคุมทุกอย่าง แต่แท้จริงแล้วเราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย