‘วันสตรีสากล’ มีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 เมื่อกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เดินขบวนเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากการต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ความพยายามของผู้หญิงกลุ่มนี้ ทำให้เกิดระบบการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้รับการปรับค่าแรงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก
แม้ว่าในปี ค.ศ. 1907 ‘ฟรีด้า คาห์โล’ ศิลปินหญิงเม็กซิกัน ไอคอนของชาวเฟมินิสต์จะเพิ่งลืมตาดูโลก (เธอใส่ปีเกิดตัวเองเป็นปี ค.ศ. 1910 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการปฏิวัติเม็กซิโก) และมีชีวิตเบ่งบานเพียง 47 ปี จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตใน ค.ศ. 1954 แต่ชื่อและผลงานของเธอกลับโด่งดังมากในยุค 70 ช่วงเวลาที่ทุกคนต่างพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเหล่าเฟมินิสต์ยกย่องให้เธอเป็นผู้หญิงที่มุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปิน ในยุคที่ศิลปะยังคงเป็นเรื่องของผู้ชาย และไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต
01 ใช้ศิลปะต่อสู้ ‘ความเจ็บปวด’ ทั้งร่างกายและจิตใจ
ภายใต้เสื้อผ้าสีสันสดใสและมงกุฎดอกไม้ของฟรีด้า คือเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายคนคาดเดาว่าฟรีด้าสวมกระโปรงเพื่อปกปิดความผิดปกติที่ขาของเธอ ฟรีด้าป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งทำให้ขาขวาของเธอสั้นและเรียวเล็กกว่าขาอีกข้าง
ซ้ำร้ายเธอยังประสบอุบัติเหตุตอนอายุ 18 ปี รถเมล์ที่เธอนั่งชนเข้ากับรถราง แท่งเหล็กแทงทะลุผ่านกระดูกเชิงกรานของเธอ ทำให้เธอต้องสวมเครื่องรัดตัวที่ทำจากเหล็ก ปูนพลาสเตอร์ หรือหนังทั้งตัว และพักรักษาตัวอยู่บนเตียงเป็นเดือนๆ
แม้จะไม่สามารถทำตามฝันในการเป็นหมอได้ แต่เธอก็ไม่เคยยอมแพ้ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการวาดรูป พ่อของเธอมอบอุปกรณ์วาดรูปให้ฟรีดาพร้อมทั้งติดกระจกไว้เหนือเตียง เพราะเธอชอบวาดรูปตัวเองเพื่อคลายความเบื่อหน่ายและบำบัดจิตใจ
02 ภาพวาดตัวเองสุด ‘เซอร์เรียล’ ที่ถ่ายทอดชีวิตจริง
ภาพวาดเซลฟ์พอร์ทเทรตเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดของฟรีด้า เธอวาดภาพทั้งหมด 143 รูป โดย 55 รูป เป็นภาพวาดตัวเธอเองที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เธอเผชิญในแต่ละช่วงชีวิต ฟรีด้ากล่าวว่า “ฉันวาดภาพตัวเองเพราะฉันมักจะอยู่คนเดียวและตัวฉันก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้จักดีที่สุด”
ภาพวาดของฟรีด้าเป็นแนวเซอร์เรียลลิสม์ หรือภาพเหนือจริงที่อ้างอิงจากความฝันและจิตใต้สำนึก แต่ฟรีด้านิยามงานของเธอว่า “สิ่งที่ฉันวาดเป็นความรู้สึกของฉัน มันเป็นการแสดงออกที่จริงใจและเป็นความจริงที่สุด”
ตลอดชีวิตของฟรีด้าต้องเข้ารับการผ่าตัดกว่า 35 ครั้ง เธอไม่สามารถมีลูกได้และแท้งลูกถึง 2 ครั้ง จึงมีหนึ่งในภาพวาดของฟรีด้าที่ชื่อ ‘Henry Ford Hospital’ ปี 1932 เธอวาดภาพตัวเองเต็มไปด้วยเลือด นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล มีริบบิ้นสีแดงที่เหมือนกับสายสะดือ ผูกโยงเธอไว้กับตัวอ่อน เด็กทารก ดอกกล้วยไม้ กระดูกเชิงกราน และหอยทาก สะท้อนความรู้สึกของฟรีด้าขณะที่เธอแท้งลูกที่โรงพยาบาลเฮนรีฟอร์ด
03 ชีวิตรักอันร้าวราน และการเผยตัวเองเป็น ‘ไบเซ็กชวล’
ชีวิตหลังแต่งงานของฟรีด้าไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก เธอแต่งงานกับ ‘Diego Riviera’ ศิลปินที่มีชื่อเสียงในตอนนั้น ซึ่งอายุมากกว่าเธอถึง 21 ปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากครอบครัว เพราะเขาขึ้นชื่อว่าเป็นเสือผู้หญิงแม้จะแต่งงานแล้วก็ยังคบชู้อยู่เรื่อยๆ
ส่วนฟรีด้าเองก็มีชู้หลายคน แถมยังประกาศตัวว่าเป็นไบเซ็กชวล ในยามที่เธอไม่ได้นอนป่วยอยู่บนเตียง ฟรีด้าหลงใหลการออกงานสังคม การเต้นรำ และหว่านเสน่ห์ เธอเคยคบหากับ ‘Leon Trotzky’ นักการเมืองพรรคคอมมิวนิตส์ที่ลี้ภัยมาพักที่บ้านของเธอในเม็กซิโก ไปจนถึงมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักแสดงหญิงผู้โด่งดัง ‘Josephine Baker’
แต่การนอกใจที่ดิเอโก้ทำให้ฟรีด้าเจ็บปวดที่สุดคือ เขาแอบมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคริสติน่า น้องสาวแท้ๆ ของเธอเอง ถึงอย่างนั้น ดิเอโก้ก็เป็นคนรักที่มีอิทธิพลต่อฟรีด้าในแง่การทำงานศิลปะเป็นอย่างมาก เขาถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติ รสนิยม ไปจนถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และสนับสนุนชักนำให้ฟรีด้ารู้จักกับคนในวงการศิลปะ
04 สไตล์จัดจ้านใน ‘ชุดพื้นเมือง’ และ ‘คิ้วหนาชนกัน’
ชุดกระโปรงสีสันสดใสและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ป๊อปอัพขึ้นมาทันทีเมื่อเรานึกถึงฟรีด้า ชุดพื้นเมืองเม็กซิโกที่เรียกว่า ‘ชุดเทฮัวนา’ แสดงถึงความภาคภูมิใจในชาติกำเนิด ซึ่งสไตล์ของฟรีด้ากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Valentino, Jean Paul Gaultier หรือ Dolce & Gabbana
แต่ภายใต้ความเก๋ของเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด กลับซุกซ่อนความเจ็บปวดไว้มากมาย หลักจากฟรีด้าเสียชีวิต ดิเอโก้สามีของเธอสั่งให้ปิดผนึกข้าวของทั้งหมดของฟรีด้าไว้ในห้องน้ำที่บ้านในเม็กซิโก จนกระทั่งดิเอโก้เสียชีวิตในปี 1957 และอีก 50 ปีให้หลัง ในปี 2004 บ้านสีฟ้าของฟรีด้าจึงถูกเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ‘Ishiuchi Miyako’ ได้เก็บภาพตู้เสื้อผ้าของฟรีด้า และรวบรวมเป็นหนังสือชื่อว่า ‘Frida by Ishiuchi’
ในหนังสือรวบรวมภาพสิ่งของในตู้เสื้อผ้าของฟรีด้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นกระโปรงยาวกรอมเท้าที่ปกปิดความผิดปกติของขา รองเท้าที่ออกแบบมาให้ส้นสองข้างหนาไม่เท่ากัน คอร์เซ็ตที่เธอเพ้นท์ลวดลายแท้จริงคือเฝือกคอยพยุงร่างที่แทบแหลกสลาย ไปจนถึงขาเทียมสวมบู้ทสีแดงตกแต่งกระดิ่งตอนที่ขาของเธอถูกตัดในปี 1953
05 ศิลปินตัวแม่ไอคอนชาว ‘เฟมินิสต์’
เรื่องราวการฟันฝ่าอุปสรรคที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญ ฟรีด้าต่อสู้กับจิตใจและร่างกายที่ทนทุกข์ แสดงความเข้มแข็งของสตรีเพศผ่านศิลปะ เธอมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินท่ามกลางข้อจำกัดทางร่างกาย และค่านิยมของสังคมในยุคนั้น รวมถึงกล้าที่จะมีความงามในแบบของตัวเอง และแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดอย่างเปิดเผย
แม้ว่าช่วงเวลาที่เธอมีชีวิต ฟรีด้าจะเป็นที่รู้จักภายใต้เงา “ภรรยาของศิลปิน” แต่ในยุค 70 ที่แนวคิดเรื่องสตรีนิยมเฟื่องฟู ชื่อของเธอถูกกล่าวขานขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นไอคอนของเฟมินิสต์ และหนึ่งในศิลปินที่โด่งดังที่สุดในโลก
ภาพวาดของฟรีด้าได้รับการยอมรับว่า เล่าประสบการณ์ความรู้สึกของผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ เธอไม่ยอมถูกนิยามโดยคำจำกัดความของใคร ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เฟมินิสต์ยุคใหม่ ต่างให้ความสำคัญกับบทบาททางเพศและความภูมิใจในเรือนร่างของตน
Source : https://www.anothermag.com/art-photography/7385/the-secret-possessions-of-frida-kahlo
http://mentalfloss.com/article/80067/17-artful-facts-about-frida-kahlo
Graphic Designer : Sasicha H.