ช่วงปลายปีนี้ คอฟุตบอลทั้งหลายคงกำลังตื่นเต้นและตั้งตารอการแข่งขันรายการใหญ่อย่าง ‘ฟุตบอลโลก 2022’ (FIFA World Cup 2022) ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่ประเทศกาตาร์ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ โดยที่ผ่านมาก็มีโปรแกรมแข่งขันระดับสูงสุดของอังกฤษอย่าง ‘พรีเมียร์ลีก’ (Premier League) ให้แฟนบอลยอมอดหลับอดนอน เฝ้าหน้าจอเพื่อลุ้นเอาใจช่วยทีมโปรดกันแบบตัวโก่ง
หลายๆ คนคงรู้จักสโมสรดังๆ ในพรีเมียร์ลีกอยู่แล้ว แต่วันนี้ Urban Creature อยากพาทุกคนขยับไปยังดิวิชันที่เล็กลงมาอย่าง ‘อีเอฟแอลลีกวัน’ (EFL League One) เพื่อทำความรู้จักกับสโมสร ‘Forest Green Rovers (FGR)’ ที่นอกจากเป็นทีมฟุตบอลเก่าแก่อายุกว่า 133 ปี ที่นี่ยังได้รับการรับรองให้เป็น ‘สโมสรฟุตบอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก’ โดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ รวมถึง ‘สโมสรฟุตบอลที่เป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกของโลก’ โดยสหประชาชาติ
Forest Green Rovers ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเกือบทุกมิติ ตั้งแต่ตัวสนามฟุตบอลที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ เมนูอาหารที่เป็นวีแกนทั้งหมด จนถึงเสื้อนักกีฬาที่ผลิตจากกากกาแฟ ที่สำคัญ ทีมฟุตบอลเล็กๆ จากเมือง Nailsworth ทีมนี้ยังสามารถส่งต่อแนวคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ให้กับแฟนบอลทั่วโลก แบบที่ทีมไหนๆ ก็ทำไม่ได้
สโมสรที่หัวเรือใหญ่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Forest Green Rovers เริ่มภารกิจมุ่งสู่การเป็นทีมฟุตบอลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutrality) แห่งแรกของโลกเมื่อปี 2010 ซึ่งต้องยกเครดิตทั้งหมดให้ Dale Vince ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรเมื่อเดือนสิงหาคมในปีนั้น ก่อนจะนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมของสโมสรทั้งหมด
ว่ากันตามตรงแล้ว Dale สนใจเรื่องพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ FGR เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 1996 เขาได้ก่อตั้ง Ecotricity บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจำหน่ายพลังงานสีเขียวที่ผลิตจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจนในยุคสมัยที่พลังงานหมุนเวียนยังเป็นเรื่องใหม่ในอังกฤษ บริษัทของเขาทำกำไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้ Dale กลายเป็นมหาเศรษฐีในที่สุด
นอกจากธุรกิจพลังงานสะอาด Dale ยังทำโปรเจกต์และธุรกิจต่างๆ ที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า Nemesis, เครือข่ายที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, เพชรที่ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับจากชั้นบรรยากาศ และบริษัทอาหารมังสวิรัติ The Devil’s Kitchen
เพราะความสนใจในสิ่งแวดล้อมที่จริงจังและยาวนานของ Dale จึงไม่แปลกใจที่หลายคนจะรู้จักเขาในฐานะ ‘Green Energy Industrialist’ หรือ ‘นักอุตสาหกรรมด้านพลังงานสีเขียว’ ที่ฟังชื่อแล้วอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วเขาได้เปลี่ยนแนวคิดที่ซับซ้อนให้เกิดขึ้นจริงและจับต้องได้ผ่านนโยบายเกือบทั้งหมดของสโมสร
สโมสรที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด
Forest Green Rovers มีเป้าหมายที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของ ‘The New Lawn’ สเตเดียมของสโมสรที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและกังหันลมที่อยู่บนเนินเขาบริเวณใกล้เคียง
ส่วนพื้นสนามฟุตบอลทำจาก ‘หญ้าออร์แกนิก’ ทั้งหมด โดยใช้สาหร่ายในการดูแลสนามแทนปุ๋ยเคมี และไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเลย นอกจากนี้ พื้นสนามหญ้ายังช่วยดักจับน้ำฝนเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในอาคาร แถมเครื่องตัดหญ้าก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ล้วนๆ ล่าสุดสเตเดียมยังมีกระบวนการเปลี่ยนน้ำเสียจากห้องสุขาให้เป็นน้ำสะอาด เพื่อนำกลับมาใช้หล่อเลี้ยงหญ้าบนสนามให้เขียวขจีตลอดฤดูกาลแข่งขัน
นอกจากการใช้พลังงานสะอาดในสเตเดียมแล้ว FGR ยังให้ความสำคัญเรื่องการเดินทางของนักกีฬาและผู้ชม โดยเลือกใช้รถโคชและมินิบัสไฟฟ้า รวมถึงบริการจุดชาร์จพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) รอบสเตเดียม เพื่อทำให้การเดินทางของทุกคนมีความยั่งยืนมากขึ้น
ในอนาคต Forest Green Rovers ยังมีแพลนสร้างสเตเดียมแห่งใหม่ชื่อว่า ‘Eco Park’ ซึ่งทำจากไม้ทั้งหมด และมีฟังก์ชันที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแบบจัดเต็ม ออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดังระดับโลกอย่าง Zaha Hadid ที่นอกจากจะดีไซน์ตัวอาคารให้สวยเนี้ยบทันสมัยแล้ว สนามฟุตบอลที่รองรับผู้ชมได้มากถึง 5,000 คนแห่งนี้ยังสร้างขึ้นให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เพื่อยกระดับเรื่องความยั่งยืนและสะท้อนจิตวิญญาณของสโมสรอย่างแท้จริง
สโมสรที่เสิร์ฟเฉพาะอาหารวีแกน
สโมสรฟุตบอลที่ยืนหนึ่งเรื่องความรักษ์โลกแห่งนี้ ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องความยั่งยืนภาพใหญ่อย่างการออกแบบและการใช้พลังงานภายในสเตเดียมเท่านั้น แต่ยังใส่ใจดีเทลเล็กๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันอย่างเรื่อง ‘อาหาร’ ด้วย
ตั้งแต่ปี 2015 Forest Green Rovers ได้เปลี่ยนเมนูอาหารสำหรับนักกีฬาและแฟนบอลทั้งหมดเป็น ‘วีแกน’ หรือ ‘มังสวิรัติ’ เพราะอาหารวีแกนที่ทำสดใหม่มีประโยชน์มากกว่าเนื้อแปรรูป ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่า มากไปกว่านั้น เมนูที่ปราศจากวัตถุดิบที่ทำจากเนื้อสัตว์ยังสร้างผลกระทบต่อโลกน้อยกว่าด้วย เพราะปัจจุบันมนุษย์ใช้ทรัพยากรมหาศาลไปกับการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งฟาร์มปศุสัตว์เพียงอุตสาหกรรมเดียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.5 เปอร์เซ็นต์ของโลก
ในปี 2017 FGR ได้รับการยอมรับเป็นสโมสรฟุตบอลวีแกนแห่งแรกของโลก ซึ่งทางสโมสรเองเชื่อว่า การกินอาหารวีแกนช่วยเพิ่มสมรรถนะทางกีฬาแก่เหล่านักเตะได้จริง นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทีมคว้าชัยชนะใน EFL League Two และเลื่อนระดับขึ้นมาอยู่ใน EFL League One ได้สำเร็จในปี 2022
สโมสรที่ผลิตเสื้อจากกากกาแฟ
ความกรีนของ Forest Green Rovers ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะนอกจากมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดแล้ว ทางสโมสรยังนำขยะและของเสียกลับมาทำ ‘เสื้อนักฟุตบอล’ อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ นักกีฬาของสโมสรใส่ยูนิฟอร์มที่ทำจากเส้นใยไผ่อยู่แล้ว แต่ในปี 2021 ทางทีมตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ ‘กากกาแฟ’ และ ‘พลาสติกรีไซเคิล’ ผลิตเสื้อแทน เพราะมองว่าวัสดุเหล่านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีน้ำหนักเบากว่า ส่วนขั้นตอนการผลิตเสื้อก็ใช้กระบวนการพิเศษที่ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกและรีไซเคิลได้ทั้งหมด
นอกจากการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านเสื้อที่ทำจากวัสดุเหลือใช้แล้ว ทางสโมสรยังเชื่อว่าเสื้อลายม้าลายสีเขียวดำที่มีเนื้อผ้าสวมใส่สบายนี้ ยังมีส่วนผลักดันให้ทีมทำตามเป้าหมายและคว้าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้
สโมสรที่ส่งต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืน
อัตลักษณ์ที่ชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลงมือทำจริงๆ ของ Forest Green Rovers ไม่เพียงแค่ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นเท่านั้น แต่แนวคิดเหล่านี้ยังดีต่อภาคธุรกิจด้วย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางสโมสรได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์มากมาย โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เช่น Quorn, Oatly, Bolt, PlayerLayer และ Faith in Nature
FGR ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า วงการฟุตบอลหรืออุตสาหกรรมกีฬาล้วนมีส่วนช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เหมือนกัน และอาจเป็นต้นแบบให้คนในวงการนี้หันมาสนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างช่วงไม่กี่ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลใหญ่ๆ อย่าง Arsenal, Chelsea, Manchester United และ Liverpool ก็เริ่มสื่อสารเรื่องความยั่งยืนและมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้เห็นกันเรื่อยๆ
การที่ทางสโมสรสื่อสารและส่งต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้แฟนบอลทั่วโลกผ่านนโยบายต่างๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การกินอาหารวีแกนและการรีไซเคิลขยะ ที่ไม่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมล้ำๆ แบบนี้ ทำให้แฟนๆ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก ถือเป็นการเตะบอลนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะผู้ชมได้ทั้งเชียร์ทีมโปรด แล้วยังได้ซึมซับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนกลับบ้านกันแบบไม่รู้ตัวด้วย
เห็นสโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและจริงใจแบบนี้แล้ว คนไม่ดูฟุตบอลอย่างเราก็เริ่มเปลี่ยนความคิด อยากลองเปิดใจให้กีฬานี้บ้าง เริ่มจากการสมัครเป็นแฟนคลับ Forest Green Rovers โดยด่วนก่อนเลย
Sources :
BBC | t.ly/LUfy
Eco Park | eco-park.com
Forest Green Rovers | fgr.co.uk
Good Good Good | t.ly/wMyz
JobThai | t.ly/ggVq
United Nations Climate Change | t.ly/lsiN
YouTube : Bloomberg Quicktake : Originals | t.ly/XFJb