ท่ามกลางสภาพสังคมในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 งานพยาบาลถูกรังเกียจว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม เพราะถูกมองว่าต้องคลุกคลีอยู่กับความสกปรกอยู่ตลอดเวลา แต่ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ได้เปลี่ยนมุมมองในอาชีพพยาบาลให้ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่
| ฟลอเรนซ์ไนติงเกลหญิงผู้มีหัวใจเด็ดเดี่ยว
เรื่องราวของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1820 หญิงสาวผู้มีความตั้งใจอันแรงกล้าได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัว ไนติงเกล ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อเติบโตจนถึงวัยที่ต้องแต่งงานมีครอบครัวเธอปฏิเสธบทบาทการเป็นภรรยา และปฏิญาณตนเองที่จะทำงานพยาบาล ท่ามกลางความไม่พอใจของทั้งพ่อและแม่ เพราะในยุคนั้นงานพยาบาลถูกรังเกียจว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม เต็มไปด้วยผู้หญิงยากไร้ที่แขวนชีวิตไว้กับการติดตามไปรักษาให้กับกองทัพ ถูกมองว่าต้องอยู่กับความสกปรกและน่ารังเกียจ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล โกรธและทุกข์ใจอย่างหนัก
แต่ในที่สุดเมื่อธันวาคม ค.ศ. 1844 เธอก็ได้เป็นพยาบาลตามความมุ่งมั่น โดยเธอเริ่มต้นจากงานดูแลคนยากไร้ เรียนรู้และเริ่มปรับปรุงการดูแลรักษาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลไปจนถึงหลักปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วย เพราะด้วยความคิดของเธอที่เชื่อว่า
งานพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่าและต้องรักษาความสะอาด เทียบเท่ากับงานครัวที่แม้ตัวเองเปรอะเปื้อน
แต่ต้องทำอาหารให้สะอาดน่ากิน
และนั่นจึงเป็นที่มาของการบุกเบิก
ด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่
| เธอคือแสงสว่างท่ามกลางไฟสงคราม
เมื่อเวลาล่วงเลยเข้าสู่ปี ค.ศ. 1853 พ่อของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดล้มป่วยกะทันหันเธอจึงต้องอยู่ดูแลจนกระทั่งอาการป่วยทุเลาลง นั่นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้พ่อของเธอเข้าใจและเห็นคุณค่าที่แท้จริงของอาชีพพยาบาลมากขึ้น ตามที่เธอได้ตัดสินใจเลือกเป็นอาชีพ หลังจากนั้นเธอจึงกลับไปเริ่มทำงานที่สถานพยาบาลสำหรับกุลสตรีชั้นสูง ที่เจ็บป่วยในกรุงลอนดอน มีผลงานดีเด่นจนได้รับการยกย่องและยอมรับ ในด้านการเอาใจใส่ผู้ป่วยและจัดสิ่งแวดล้อมอย่างถูกสุขลักษณะ ที่เน้นความสะอาดเป็นสำคัญ รวมถึงประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดอย่างหนัก ณ ขณะนั้นด้วย
ในเวลาเดียวกันได้เกิดสงครามไครเมียที่ทหารอังกฤษถูกส่งไปช่วยพันธมิตรตุรกีรบกับรัสเซีย ซึ่งผลพวงของสงครามทำให้ทหารอังกฤษจำนวนมากเจ็บป่วย และล้มตายจากอหิวาตกโรคระบาดทำให้ ลอร์ดซิสนี่ เฮอร์เบิร์ท เสนาธิการกลาโหมของอังกฤษขอความช่วยเหลือจากฟลอเรนซ์ให้จัดหาพยาบาลไปทำงานที่สนามรบ เธอจึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงให้โลกเห็นถึงความสำคัญของการพยาบาล ต่อมาเธอพร้อมด้วยหญิงอาสาสมัครอีก 34 คนออกเดินทางจากอังกฤษไปยังตุรกี
เธอและคณะได้ทุ่มเทดูแลทหารที่เจ็บป่วยเป็นอย่างดี ทั้งยังศึกษาสถิติทำให้พบว่าสาเหตุการตายของทหารนั้นมาจากการติดเชื้อมากกว่าจากการสู้รบ จึงได้พยายามปรับปรุงสุขอนามัยของโรงพยาบาลและค่ายทหาร ทำให้อัตราการตายของทหารลดลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและครอบครัวทหารต่างชื่นชมเป็นอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงร่วมใจกันก่อตั้งกองทุนไนติงเกลเพื่อมอบให้เป็นของขวัญตอบแทนเมื่อสงครามสงบลง
จนเธอได้รับการขนานนามว่า สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป (Lady of the Lamp) จากภาพติดตาของผู้คนที่เห็นกิจวัตรการตรวจดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ ท่ามกลางความมืดมนของชีวิตแต่ผู้ป่วยกลับรู้สึกมีความหวังขึ้นทุกครั้ง เมื่อได้เห็นแสงสว่างจากตะเกียงที่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มักจะจุดเพื่อใช้เดินดูผู้ป่วยยามค่ำคืน
| 200 ปีตำนานแห่งการดูแลสุขลักษณะ
จากวันนั้นจนวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว เรื่องราวของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล กับแนวทางในการดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บและป่วยจากโรคระบาด ไปจนถึงการปรับปรุงสุขอนามัยของการรักษาและการพยาบาลให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านั้นยังคงสะท้อนมาถึงวันนี้ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ COVID-19 โดยการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของตัวเองกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ว่าทฤษฎีนี้จะถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วยปลายศตวรรษที่ 18 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงใช้ได้ดีในปัจจุบัน ทั้งการพยาบาลในคลินิกและการพยาบาลในชุมชนอีกทั้งยังเป็นรากฐานในการพัฒนาทฤษฎีการพยาบาลในปัจจุบันอีกด้วย
หากได้ลองดูทฤษฎีการพยาบาลของ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ มีเรื่องที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้อยู่ประมาณ 5 ข้อดังนี้
1. อากาศ คือเรื่องของการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพถ่ายเทอากาศได้ดี เพราะอากาศที่บริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตมนุษย์
2. อุณหภูมิ การรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หรือที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสมไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ถือเป็นการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ง่าย อย่างการใช้เสื้อผ้าที่เหมาะสม หรืออยู่ในพื้นที่หนาวจัดหรือร้อนจัดโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการป่วยได้
3. แสงสว่าง แสงจากดวงอาทิตย์เป็นสิ่งจำเป็นมาก รวมถึงแสงจากไฟฟ้าก็สำคัญในการทำกิจกรรมและอาจมีผลต่อจิตใจด้วย เช่น สภาพห้องที่มีความสว่างไม่เพียงพออาจก่อให้เกิดบรรยายกาศอึมครึม เศร้า เหงา ซึ่งห้องที่มีแสงสว่างพอเหมาะทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืนจะช่วยทั้งการใช้สายตาไปจนถึงเรื่องของสภาพจิตใจด้วย
4. กลิ่น เมื่อกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ การดูแลความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลความสะอาดของร่างกาย และการใช้เสื้อผ้าที่สะอาดอยู่เสมอ
5. สุขลักษณะที่ดี บ้านคือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดี เพราะหากตัวเราและสิ่งของใกล้ตัวไม่ผ่านการดูแลความสะอาด ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการกินอย่างถูกสุขลักษณะ ทั้งวิธีการประกอบอาหาร การเลือกวัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องสะอาดและสดใหม่อยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้คือสุขลักษณะขั้นพื้นฐานที่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นผู้ปลุกวิถีพยาบาลศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน
| โรงพยาบาลชั่วคราวสำหรับผู้ป่วย COVID-19 แรงบันดาลใจจากฟลอเรนซ์ไนติงเกล
ล่าสุดทางรัฐบาลอังกฤษได้แปลงศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมในลอนดอนให้เป็นโรงพยาบาลสนามกว่า 4,000 เตียง เพื่อรับมือคนไข้จำนวนมากที่ล้นไอซียูจากวิกฤต COVID-19 และใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลไนติงเกล เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากการอุทิศตัวรักษาผู้ป่วยของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องช่วยหายใจและถังออกซิเจน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทางรัฐบาลส่งคำร้องออกไปขอความช่วยเหลือ ประกอบไปด้วยแพทย์ 2,660 คน พยาบาล 6,147 คน ที่เกษียณไปแล้วให้กลับมาช่วยงานอีกครั้ง โดยมีความหวังในสิ่งเดียวกันที่จะหยุดการแพร่เชื้อ และหยุดตัวเลขของผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
Source:
sites.google.com | https://bit.ly/3afm5CV
independent.co.uk | https://bit.ly/3emFrcq
libguides.bolton.ac.uk | https://bit.ly/2VBRme0
th.wikipedia.org | https://bit.ly/3cqKbw2
bbc.com | https://bbc.in/2wL1dFQ
nam.ac.uk | https://bit.ly/2RMmTIS
historic-uk.com | https://bit.ly/3cqTvQA
th.garynevillegasm.com | https://bit.ly/3adQL7C