5 ประเด็นเดือดหลังสงกรานต์ที่ชวนติดตาม - Urban Creature

ช่วงสงกรานต์นี้คงเป็นเวลาที่หลายคนได้หยุดพักผ่อน เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเล่นน้ำสงกรานต์กัน ไม่ต่างจากกระแสทางสังคมที่อาจมีเพียงคลื่นกระเพื่อมเบาๆ หรือค่อนข้างเงียบสงบ แต่ใครเล่าจะรู้ มันอาจเป็นความเงียบสงบเหมือนทะเลก่อนคลื่นลมใหญ่จะมาเยือนก็เป็นได้

เมื่อลองเช็กปฏิทินทางการเมืองและหมุดหมายเหตุการณ์สำคัญในสังคมแล้วล่ะก็ เราเชื่อแน่ๆ ว่าเทศกาลสงกรานต์เหมือนเป็นใจให้เราได้พักหายใจกับสิ่งที่เจอมาเกือบ 3 เดือนหลังจากเข้าปีใหม่ แต่หลังจากนี้ล่ะ…เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและสังคมจะประดังประดาเข้ามา

รับรองว่าเดือดกว่าแดดหน้าร้อนเมืองไทยแน่!

ก่อนที่ทุกคนต้องบอกลาวันหยุดเพื่อกลับไปทำงาน เราอยากชวนดูว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมอะไรที่น่าติดตามบ้าง ทิศทางของบ้านเมืองจะเดินหน้าหรือถอยหลังอีก ไปดูกันเลย

01
22 พฤษภาคม เปลี่ยนกรุงเทพฯ และพัทยาที่คูหาเลือกตั้ง

อย่างแรกคงเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก ‘การเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา’ ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้นั่นเอง

ห่างหายจากการเลือกตั้งในสองพื้นที่มากว่า 9 ปี ในที่สุดชาวกรุงเทพฯ จะได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพฯ รวมถึงชาวเมืองพัทยาที่จะได้เลือกนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองกันเสียที

ความดุเดือดไม่แพ้แดดหน้าร้อนของการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งที่รอมาอย่างยาวนานอย่างที่บอกแล้ว ยังเป็นครั้งที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งดุเดือดเป็นประวัติการณ์

ในส่วนของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ท้าชิงถึง 31 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในหน้าประวัติศาสตร์

จากเมืองหลวงมาที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีก็เข้มข้นไม่แพ้กัน ครั้งนี้จำนวนผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งนายกเมืองพัทยานั้นมีทั้งหมด 4 คน แม้จำนวนการแข่งขันจะไม่เท่ากับกรุงเทพฯ แต่ที่น่าสนใจคือมีการประกาศท้าชิงตัวแทนจาก ‘บ้านใหญ่’ ในทางการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่มาอย่างยาวนานของตระกูล ‘คุณปลื้ม’ ทั้งจากกลุ่มการเมืองที่แตกตัวออกมาก็ดี หรือจาก ‘คณะก้าวหน้า’ ที่พรรคอนาคตใหม่เดิมเคยกวาดคะแนน ส.ส.เขตในชลบุรีได้ถึง 2 ที่นั่ง ชนะตัวแทนจากตระกูล ‘คุณปลื้ม’ ไปได้เมื่อการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2562 

นอกเหนือจากความเข้มข้นในสนามแข่งขันแล้ว ก็ยังมีนโยบายหลากหลายประเด็นที่ผู้สมัครแต่ละคนจะนำเสนอเพื่อพัฒนาเมือง แก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมาในกรุงเทพฯ​ และเมืองพัทยา 

ผู้สมัครแต่ละคนจะมีไม้เด็ดอะไร นโยบายไหนชวนติดใจคิดต่อ ชวนติดตาม!

02
‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ แคมเปญกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการจากคณะก้าวหน้า

อ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับคนที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองพัทยาก็คงคิดสงสัยว่า เอ…ทำไมเราไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตำแหน่งอื่นๆ ที่มีอำนาจบริหารเหมือนอย่างสองที่นี้บ้างกันนะ 

แม้ว่าเราจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ไปในปี 2564 แล้วก็ตาม แต่คนต่างจังหวัดก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย หรือทิศทางของงบประมาณยังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตำแหน่งอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางหรือส่วนราชการ 

หรือหากพูดให้ใกล้ตัวกว่านั้นหน่อย เราก็จะเห็นได้ว่าช่วงสงกรานต์อย่างนี้ เรามักจะเห็นร้านรวงตามกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ปิดทำการ ผู้คนและรถราจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นเพราะว่าหลายคนที่จากบ้านเกิดมาเพื่อหางานหรือเรียนหนังสือจะเดินทางกลับภูมิลำเนากันอย่างคับคั่ง คำถามที่ตามมาคือ แล้วทำไมความเจริญ งานที่ดี หรือสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพไม่อยู่ใกล้บ้านเราบ้างล่ะ ทำไมต้องกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่ที่?

‘คณะก้าวหน้า’ ได้เริ่มต้นการผลักดันแคมเปญที่ชื่อ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ เป็นการล่ารายชื่อและรณรงค์เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มอิสระการบริหารจัดการในพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การเพิ่มสัดส่วนภาษีของท้องถิ่นต่อส่วนกลางเพื่อท้องถิ่นมีรายได้ไปบริการประชาชนมากขึ้น ลดการควบคุมจากส่วนกลางให้ประชาชนบริหารเลือกผู้แทนของตัวเอง และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเมืองหลวง เป็นต้น

ข้อเสนอเหล่านี้อาจจะตรงใจกับหลายๆ คนที่อยากจะเห็นบ้านเกิดหรือพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคยพัฒนาขึ้น มีขนส่งสาธารณะ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานเพียงพอ มีความเจริญไม่แพ้หัวเมืองใหญ่ โดยการมีส่วนร่วมบริหารจัดการของผู้คนในพื้นที่จริงๆ 

ชวนอ่านรายละเอียดข้อเสนอเต็มๆ และพิจารณาลงชื่อเสนอกฎหมายได้เลยที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization/

03
1 กรกฎาคม 65 ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติประกาศให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นวันที่เปลี่ยนสถานะของโควิด-19 เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ 

ถ้าถามว่าแล้วมันจะต่างจากเดิมอย่างไร ตอนนี้การระบาดของโควิดตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นอยู่ในระยะที่เป็น ‘การระบาดใหญ่ทั่วโลก’ หรือ ‘Pandemic’ แต่ถ้าประเทศไทยจะเปลี่ยนสถานะเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ หรือ ‘Endemic’ ที่มีความหมายตามชื่อว่าโรคระบาดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่ควบคุมและคาดการณ์การแพร่กระจายได้ นั่นเท่ากับการปรับลดสถานะความรุนแรงของโรคนั่นเอง 

แม้ไทยจะประกาศวางแผนเดินหน้าเปลี่ยนสถานะโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเพราะมองว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง และคนไทยส่วนมากได้รับวัคซีนเพียงพอจะป้องกันไม่ให้มีอาการสาหัสได้แล้ว แต่หากมองในภาพรวมของสถานการณ์ นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ตัวเลขการติดเชื้อรายวันมีจำนวนมากกว่าสองหมื่นคน และผู้เสียชีวิตเกือบแตะหลักร้อย รวมไปถึงตัวเลขสะสมจนถึงวันอังคารที่ 5 เมษายนก็บอกเราว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจกว่า 781 คนเลยทีเดียว 

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับเทศกาลสงกรานต์ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเมษายนที่ผู้คนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด หรือออกไปท่องเที่ยวซึ่งอาจจะส่งผลให้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีก และกรมควบคุมโรคก็ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม หลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผู้คนเดินทางไปกลับภูมิลำเนา

หากลองนับคร่าวๆ นับจากเดือนพฤษภาคมที่ตัวเลขคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูง ถึง 1 กรกฎาคมที่จะปรับเป็นโรคประจำถิ่น ก็ยังพอมีเวลาอีกสองเดือนที่เราจะรับมือกับโควิด-19 นี้ต่อไป 

แต่ยังไงก็ตาม เราก็ไม่รู้ว่าจะมีสิ่งที่เหนือความคาดหมายอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ การกลายพันธุ์จะมีอีกมากขนาดไหน วัคซีนที่ใช้อยู่จะเพียงพอกับทุกคนในประเทศหรือยัง หลังจากหยุดเล่นน้ำช่วงสงกรานต์ไปแล้ว เราคงต้องมายกการ์ดสูง จับตาดูกันอีกรอบ และอย่าลืมใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ หรือทดสอบ ATK เป็นประจำกันด้วยนะ

04
ครึ่งหลังของปี 65 อีเวนต์จุใจ สัญญาณปั๊มหัวใจให้เศรษฐกิจฟื้น

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงช่วงต้นปีนี้ เราเห็นปัญหาเศรษฐกิจปากท้องไม่เว้นวัน เริ่มต้นด้วยเนื้อหมูแพง สลากกินแบ่งขึ้นราคา น้ำมันแพง ลามถึงข้าวของเครื่องใช้ที่พากันขึ้นราคา ทำให้ผู้คนต้องใช้สอยกันอย่างประหยัด 

แต่พอถึงช่วงกลางปี 2565 มานี้ เราเห็นสัญญาณที่อีเวนต์ กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างทยอยเปิดกิจกรรมให้ผู้คนเข้าร่วมแบบไม่ใช่ออนไลน์มากขึ้น ทั้งเทศกาลหนังสือประจำปีที่สถานีกลางบางซื่อที่ผู้คนต่างเข้าร่วมอย่างคับคั่ง จนถึงเทศกาลหนังสือฤดูร้อนในปลายเดือนเมษายนที่ใกล้เข้ามา 

นอกจากนั้นยังมีเทศกาลดนตรีอย่าง CAT EXPO ที่จะจัดขึ้นวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม หรือเทศกาลดนตรีต่างประเทศสายอิสระ Maho Rasop ก็ประกาศกลับมาจัดงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนอีกเช่นกันหลังจากไม่ได้จัดมาหลายปีเนื่องจากโรคระบาด

หรือแม้แต่การแข่งขันฟุตบอลที่เป็นเหมือน ‘ศึกศักดิ์ศรี’ ของแฟนฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ก็ตั้งตารอคอยการแข่งขันของทั้งสองสโมสรที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการเจอกันของทั้งสองทีมครั้งแรกในทวีปเอเชีย และทางผู้จัดอีเวนต์นี้ก็ต่างหวังว่าแมตช์หยุดโลกนี้จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีนักท่องเที่ยวบินมารับชมเกมในประเทศไทย 

อาจจะหวังลึกๆ ว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เข้มงวดจนถึงห้ามจัดกิจกรรมออฟไลน์อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนจะได้ออกมาทำกิจกรรมที่เจอหน้ากัน ทั้งปลดปล่อย เพลิดเพลินไปกับดนตรี ฟุตบอล ฯลฯ แล้วก็ยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้เช่นกัน 

05
จะอยู่หรือไป! ติดตามนับเสียงโหวตในอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์

การตรวจสอบ-ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยคือ ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีกลไกสำคัญคือ ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจ’ รัฐบาลนั่นเอง 

ในเชิงหลักการแล้ว หมายความว่าที่รัฐบาลทำงานได้อยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะสภาผู้แทนนั้น ‘ไว้วางใจ’ ให้ทำงาน การอภิปราย ‘ไม่ไว้วางใจ’ ก็คือการหยิบสิ่งที่รัฐบาลเคยทำไม่ว่าจะเป็นนโยบายสาธารณะ หรือประเด็นทางการเมืองขึ้นมาเพื่อสื่อสารต่อทั้งรัฐบาลและประชาชน อาจจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของการอภิปรายคือช่วงสุดท้ายเลย นั่นคือจะมีการโหวตลงคะแนน ‘ความไว้วางใจ’ ต่อรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

หากใครไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ถือว่า ‘ไม่ได้รับความไว้วางใจ’ ให้ทำงานต่อ และต้องพิจารณาลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่นั่นเอง (แต่จะใช้หลักการนี้กับไทยได้ขนาดไหนกันนะ…)

และการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นอกจากจะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ​ กทม. และนายกเมืองพัทยาแล้ว ยังเป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง ประจำปี 2565 อีกด้วย 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้ประกาศว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 หลังจากการเปิดสมัยประชุมหนึ่งวัน และเมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติเรียบร้อยแล้วนั้น จะทำให้รัฐบาล ‘ยุบสภา’ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้และต้องรอให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจบก่อน

นั่นทำให้เกิดข่าวสารว่ามีโอกาสที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาก่อนการเปิดสมัยประชุมสภาในเดือนพฤษภาคมนั่นเอง 

เราอาจจะได้นับคะแนนกันในปีนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นการนับเสียงโหวตมือไว้วางใจ-หรือไม่ไว้วางใจ หรือจะเป็นนับเสียงโหวตในคูหาเลือกตั้งใหญ่เลยก็เป็นได้ 


Sources

Bangkok Post | https://bit.ly/3jnTv9b
กรุงเทพธุรกิจ | https://bit.ly/3rat0st
คณะก้าวหน้า | https://bit.ly/37pQpPq
ฐานเศรษฐกิจ | https://bit.ly/3KrDsmP
ไทยรัฐ | https://bit.ly/3KkSNWc
บีบีซีไทย | https://bbc.in/3xcPMDJ
ประชาชาติ | https://bit.ly/3NUhUS2, https://bit.ly/3jhZ2OE, https://bit.ly/3DUBzwI
มติชน | https://bit.ly/3LMucdh

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.