วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา Meta – บริษัทแม่ของเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กประกาศแผนจำกัดการใช้งานระบบตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ (Facial Recognition System) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เฟซบุ๊กจะไม่แท็กใบหน้าผู้ใช้งานในรูปภาพและวิดีโอโดยอัตโนมัติอีกต่อไป รวมถึงจะลบข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้เดิมกว่า 1 พันล้านคน
Jerome Pesenti รองประธานบริษัทฝ่าย AI ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้คือ “การขยับครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้งานเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า” ซึ่งมีผู้ใช้งานถึงหนึ่งในสามของผู้ใช้ทั้งหมด
นอกจากหยุดแท็กใบหน้าอัตโนมัติ และลบข้อมูลใบหน้าผู้ใช้แล้ว เฟซบุ๊กจะยุติระบบสร้างข้อความบรรยายภาพ (Automatic Alt Text System) ที่บริษัทกล่าวว่ามีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้บกพร่องทางการมองเห็น
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงการจำกัดขอบเขตเท่านั้น เพราะระบบตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ยังถูกใช้งานในบัญชีส่วนตัวอยู่ เช่น เพื่อปลดล็อกบัญชีผู้ใช้ หรือการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมการเงิน รวมทั้งอาจมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวทางสาธารณะในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊กครั้งนี้จุดประเด็นถกเถียงในสหรัฐอเมริกาว่าขอบเขตของเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าผู้ใช้ควรอยู่ตรงไหน
ประเด็นที่ถกเถียงกันต่อมาคือ ความกังวลด้านสิทธิเสรีภาพและการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเทคโนโลยีซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวในสหรัฐฯ รวมถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นในการใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวัง (Surveillance) ในประเทศจีน
การขยับครั้งนี้ของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์หลังการออกมาเปิดเผยของอดีตพนักงานบริษัทว่าเฟซบุ๊กตั้งใจปล่อยผ่าน ‘กิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังและข้อมูลผิดๆ’
ด้าน Luke Stark ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ (University of Western Ontario) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กครั้งนี้ แม้จะมองได้ว่าเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับตัวบริษัท และไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเบื้องหลังจริงๆ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บริษัทขยับตัวออกห่างการใช้งานเทคโนโลยีที่ ‘เป็นพิษภัย’ ต่อสังคม
และแม้ว่าเฟซบุ๊กจะออกมาเคลื่อนไหวก่อนนโยบายของภาครัฐ แต่ Stark ก็ชี้ให้เห็นว่านี่คือ ‘จุดเปลี่ยนของสังคม’ เพื่อให้เกิดบทสนทนาเพื่อหาทางออกว่าเทคโนโลยีนี้ควรมีบทบาทในสังคมยังไง และการออกนโยบายของผู้แทนประชาชนควรจะเป็นไปในทิศทางไหนกันแน่
Sources :
Meta | https://bit.ly/3EIqTQH
New York Times | https://nyti.ms/3mIhPFv
WIRED | https://bit.ly/31u5oF8
The Guardian | https://bit.ly/3bHiqkh