จากสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้หลายแหล่งท่องเที่ยวขาดรายได้ ทั้งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบแล้ว คนที่เลี้ยงสัตว์และสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไปด้วย หนึ่งในนั้นคือควาญช้างกับช้าง หนึ่งในแม่เหล็กการท่องเที่ยวไทยที่ดึงดูดชาวต่างชาติ
นี่จึงทำให้ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หัวข้อควาญช้างกับช้างกลายเป็นที่ถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ความเหมาะสมของการนำสัตว์มาเลี้ยงดูเพื่อหาเงิน การวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐที่ละเลยกลุ่มควาญช้าง ไปจนถึงการช่วยเหลือช้างไทยยังไงให้ยั่งยืน เป็นต้น
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก องค์กรที่ดูแลสวัสดิภาพสัตว์จึงออก ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม ปลดแอกช้างไทยจากความทุกข์ทรมาน ปฏิรูปคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล โดยเชิญชวนให้ทุกคนลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้หมดไปโดยสมบูรณ์
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้รวบรวมปัญหาที่ช้างไทยต้องเจอ และบ้านเราไม่เคยมีการพิจารณาบริหารจัดการอย่างเป็นหลักการ ดังนี้
– กฎหมายคุ้มครองไม่ทั่วถึง สร้างช่องโหว่ให้ช้างจำนวนมากถูกนำมาหาประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างโหดร้ายทารุณ
– กระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ สร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่าของช้าง ให้พวกมันยอมทำตามคำสั่งมนุษย์
– ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ เพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว
– ความเป็นอยู่ในปางช้างย่ำแย่ เห็นได้จากผลสำรวจที่พบว่าช้างจำนวนกว่า 70% ยังไม่ได้รับสวัสดิภาพตามมาตรฐานสากล
– ช้างถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ ไม่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ โดยผู้ประกอบการจำนวนมากขาดรายได้ที่จะดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม
ร่าง พ.ร.บ.ช้างนี้ สร้างขึ้นเพื่อพยายามแก้หรือลดปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่กำหนดนิยามรูปแบบการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นกับช้างให้ชัดเจนและครอบคลุม กำหนดให้มีการจัดสวัสดิภาพช้าง ยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ สร้างความชัดเจนในกระบวนการแจ้งเกิด แจ้งตาย และเอกสารประจำตัวช้างที่รัดกุม ปรับเปลี่ยนปางช้างทั่วประเทศให้เป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง จัดตั้ง ‘คณะกรรมการช้างไทยแห่งชาติ’ และ ‘สมัชชาช้างไทย’ กำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืน รวมถึงยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่ทันสมัยและซ้ำซ้อน
ใครที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและต้องการร่วมลงชื่อสนับสนุน ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับนี้ สามารถทำได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/elephant-breeding-ban-legal-effect