เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ เบื้องหลังงาน Yala Stories - Urban Creature

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้รู้จักกับ Yala Stories ผ่านโพสต์เฟซบุ๊กที่มิตรสหายคนทำงานสร้างสรรค์แชร์กัน ซึ่งโพสต์นั้นว่าด้วยการนำภาพของตัวอักษรบนป้ายร้านรวง ย่านสายกลาง จังหวัดยะลา มาเรียงกันเป็นคำว่า ‘ยะลา สตอรี่’ 

แน่นอนว่าความสวยเก๋ต้องไม่รองใคร เพราะจังหวัดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ยังมีการวาดโปสเตอร์ภาพยนตร์ด้วยมืออยู่ ดังนั้น มั่นใจได้เลยว่าสุนทรียะในศิลปะการออกแบบป้ายต้องหรอยแรงอยู่แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภายใต้ตัวอักษรหรือฟอนต์ (Font) เหล่านี้ล้วนมีประวัติศาสตร์ของเมืองซุกซ่อนอยู่ ซึ่ง ‘Yala Stories’ ก็ได้พาเราไปทัวร์ชมฟอนต์เหล่านี้ผ่านหน้าจอไปด้วย

หลังจากศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้เราทราบว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเล่าเรื่องเมืองยะลาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม 2565 ณ ย่านสายกลาง ซึ่ง ‘Yala Stories’ เป็นชื่อของนิทรรศการนี้นั่นเอง

นับว่าเป็นครั้งแรกของจังหวัดยะลาที่มีการจัดงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีครบหมดตั้งแต่นิทรรศการบอกเล่าเมืองยะลา งานศิลปะ วงเสวนา ฉายหนังสั้น การแสดงสด คอนเสิร์ต งานคราฟต์ แฟชั่น ไปจนถึงอาหารกับกาแฟ 

ด้วยความชอบใจและดีใจที่เห็นจังหวัดอื่นๆ เริ่มขยับตัวเคลื่อนไหวในแวดวงงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยมากขึ้น ทำให้เราติดต่อขอพูดคุยกับกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Yala Stories’ และได้พบกับ ‘บอล-เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์’ หัวหอกของโปรเจกต์นี้

แม้นิทรรศการจะจบลงไปแล้ว แต่มูฟเมนต์งานสร้างสรรค์ของยะลาเพิ่งจุดประกายขึ้นให้สว่างเจิดจ้า หลังจากหลายขวบปีที่ผ่านมาบอลขับเคลื่อนและซัปพอร์ตคนในชุมชนมาตลอด วงการสร้างสรรค์ของยะลาที่ผ่านมาเป็นยังไง และในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางไหน มาฟังคำบอกเล่าจากตัวแม่ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้แห่งดินแดนปลายด้ามขวานไทยกัน

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์

กลับบ้านมาขับเคลื่อนชุมชน

ก่อนจะมาทำนิทรรศการ ‘Yala Stories’ เมื่อปี 2017 บอลเคยขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในยะลาด้วยการรวมกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่นำเอาอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลามาใช้ในการออกแบบโปรดักต์ โดยนำเสนอพร้อมจัดจำหน่ายภายใต้ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ชื่อ ‘Yala Icon’ ก่อนจะขยับมาทำ SoulSouth Studio บริษัทออกแบบและทำแบรนดิ้งที่รวมเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานสายครีเอทีฟในยะลา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลไปกรุงเทพฯ

แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น บอลคือลูกหลานชาวยะลาที่สนใจศิลปะและงานสร้างสรรค์ บวกกับต้องการไปอยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้เขาตั้งใจเรียนจนสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ

“ตอนนั้นยังเรียนไม่ทันจบ ก็มีคนชวนไปทำงานนั่นนี่ เราเลยได้ทดลองทำงานจริงในสายอีเวนต์กับครีเอทีฟตั้งแต่ยังเรียนอยู่ และยึดเป็นอาชีพทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเลิกงาน นั่งรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายกลับบ้าน น้ำตาก็ไหลออกมา”

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์

เหตุการณ์นั้นทำให้บอลที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ขอลางานกลับบ้านเกิดที่ยะลา และเมื่อพ่อแม่ถามเขาว่า ‘กลับมาอยู่บ้านไหม’ ก็ทำให้บอลที่เก็บประสบการณ์ทำงานมามากพอแล้ว เริ่มมองหาลู่ทางทำงานที่บ้าน ด้วยการเปิดคาเฟ่ร่วมกับน้องสาวที่เรียนจบด้านไอศกรีมมาในชื่อ Living room homemade cafe

ด้วยความที่ร้านประสบความสำเร็จมาก กลายเป็นร้านดังที่แขกไปใครมาในยะลาต้องมาเยือน ทำให้บอลมักได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหลายงานของจังหวัด ประกอบกับงานในร้านที่ค่อนข้างเป็นงานรูทีนแล้ว เขาจึงเริ่มมองหาสิ่งอื่นที่สปาร์กจอยให้ตัวเอง

“เราคิดว่าองค์ความรู้ที่เรามีสามารถนำไปต่อยอดให้คนอื่นได้ และตอนนั้นมันถึงเวลาที่เราควรไปทำอะไรเพื่อคนรอบข้างบ้าง ไม่อยากมองแค่เรื่องตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะเมืองที่มีแต่คนที่มองแค่ผลประโยชน์ของตัวเองจะไม่มีความน่ารัก

“ด้วยความที่เรามีเพื่อนๆ ดีไซเนอร์ในกรุงเทพฯ เยอะ และพออยู่ยะลาไปหลายปี ก็มีโอกาสเจอกับคนที่มีความสนใจและเคมีตรงกับเรามากขึ้น คาแรกเตอร์ของเมืองเล็กๆ ที่ยังไม่โดนความเจริญภายนอกเข้ามาครอบขนาดนั้น มันทำให้มีความเกื้อกูลกัน รู้จักกันหมดว่าใครเป็นใคร เป็นเมืองที่น่ารักในแบบของคนชนบท ทำให้เราได้รู้จักกับนักออกแบบรุ่นใหม่ในยะลา ก็เลยชวนคนสองกลุ่มนี้มาทำ ‘Yala Icon’ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาโปรดักต์ แพ็กเกจจิ้ง และดีไซน์ต่างๆ รวมถึงให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องขายของโดยใช้ความสงสารว่ามาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่หน่วยงานรัฐทำ” บอลเล่า

ด้วยความเป็นคนในพื้นที่และเข้าใจสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ ทำให้ Yala Icon เป็นหลักไมล์สำคัญที่ทั้งตอบความตั้งใจของบอลและส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวยะลา เพราะเขากลายเป็นคนตรงกลางที่ชาวบ้านไว้ใจและนำปัญหามาปรึกษาเป็นคนแรก แทนที่จะต้องไปพึ่งพารัฐที่ต้องมีกระบวนการขั้นตอนมากมาย คล้ายเป็นมดงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในสเกลที่ภาครัฐอาจเข้าไม่ถึง

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์
yala icon เคส

เมืองที่ดีต้องมีพื้นที่ให้คนแสดงออก

เมื่อทำงานขับเคลื่อนเรื่องงานสร้างสรรค์นานเข้า และมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ทำให้บอลมีเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้อยู่แต่ในยะลา แต่ขยายไปถึงเครือข่ายสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับจังหวัดอื่นๆ ผ่านการไปเยี่ยมชมงานและได้รับชวนให้ไปทำงานร่วมกัน

“เราไปทำงานให้ที่อื่นมาบ่อย จนพอถึงจุดหนึ่ง ก็ตั้งคำถามว่าทำไมเรายังไม่สามารถทำงานสร้างสรรค์ที่ยะลาได้ ทำไมยังไม่มีคอมมูนิตี้ให้น้องๆ ในยะลาได้แสดงศักยภาพของตัวเองในพื้นที่ที่เขาอยู่ เราเลยอยากทลายกำแพงตรงนี้

“Yala Stories จึงประกอบด้วยสององค์ความรู้ นั่นคือ การนำเรื่องวัฒนธรรมของเรามาเล่าใหม่โดยให้หลุดพ้นไปจากภาพความรุนแรงของยะลา ที่สื่อมักสื่อสารออกไปจนติดเป็นปมในใจของคนยะลา โดยเราได้รวบรวมเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการทำนิทรรศการเล่าเรื่องเมืองยะลาในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีการย่อยองค์ความรู้และวัฒนธรรมสมัยนี้ให้ไม่หนักมาก เด็กๆ จะได้เข้าใจบริบทรากเหง้าของตัวเขา 

“อีกส่วนคือการเล่าเรื่องเมืองยะลาผ่านศิลปะ โปรดักต์ งานคราฟต์ แฟชั่น รวมถึงหนังสั้น เพื่อทำให้วัฒนธรรมที่มีมาก่อนกลายเป็น Soft Power เล็กๆ ในเมือง โดยมีการปรับให้เข้ากับตัวตนของพวกเขามากที่สุด ทั้งหมดนี้เราอยากให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เรามี”

yala stories ยะลา

ผลักดันเมืองให้ไปข้างหน้าด้วยงานสร้างสรรค์

ส่วนเหตุผลที่นิทรรศการ ‘Yala Stories’ เลือกจัดที่ย่านสายกลาง นั่นเป็นเพราะว่าย่านนี้เป็นย่านตลาดแห่งแรกของเมืองยะลาที่ตั้งใกล้กับทางรถไฟ และมีถนนพังงาที่ทั้งสองข้างถนนเป็นที่ตั้งของบ้านไม้ห้องแถวที่เต็มไปด้วยร้านรับซื้อขายยาง ปะปนด้วยร้านขายของชำ ทั้งยังมีตลาดรัฐกิจ ที่เป็นตลาดแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในจังหวัด ทำให้มีความเจริญและรุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ โดยตัวนิทรรศการหลักที่เล่าเรื่องเมืองยะลานั้นจัดในโรงแรมเมโทร ที่เป็นโรงแรมเก่าแก่ของย่านนี้

นอกจากภายในโรงแรมแล้ว บริเวณด้านนอกยังปรับให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงกิจกรรมเดินสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ เดินย่าน หรือ Font Tour ที่เรากล่าวไปตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งสร้างความประทับใจให้ทั้งคนในและนอกพื้นที่ที่มาเยือน

yala stories นิทรรศการ ยะลา
yala stories นิทรรศการ ยะลา

เมื่อถามถึงกระแสตอบรับของผู้คนต่อ ‘Yala Stories’ บอลก็ตอบด้วยความตื่นเต้นว่า ‘เกินคาด’ ตั้งแต่เริ่มทำนิทรรศการด้วยซ้ำ 

“ด้วยความที่เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นภาพเมืองยะลาในมุมมองใหม่ๆ ก็เลยเปิดรับน้องๆ เยาวชนมาเป็นเครือข่ายอาสาสมัครในนิทรรศการของเรา ก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ เปิดรับสมัครง่ายๆ แค่ยี่สิบคน แต่ปรากฏว่าน้องๆ สมัครเข้ามาเกือบสามร้อยคน เพราะพวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมืองด้วยงานสร้างสรรค์ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากทำงานต่อ แม้ตัวนิทรรศการจะจบลงไปแล้ว

”นอกจากนี้ ด้วยความที่อยู่ยะลามานาน เราจึงค่อยๆ เก็บข้อมูลและเชื่อมสัมพันธไมตรีกับคนในย่านมาเป็นเวลากว่าสองปี เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ เวลาทำงานกับคน ไม่ว่าเจนฯ ไหนก็ตาม สิ่งที่ทำให้เราเข้าถึงพวกเขาได้ง่ายที่สุดคือความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างบางร้านที่ไม่เคยเปิดข้างในให้ใครเข้ามาก่อน แต่พอช่วงที่จัด Yala Stories เขาก็เรียกเรากับนักท่องเที่ยวให้เข้าไปดู แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นคนเจนฯ เก่าแต่เขาก็อยากให้คนรับรู้สิ่งที่เป็นเรื่องราวของเขา กลายเป็นการผสมผสานกันของความครีเอทีฟกับความดั้งเดิม”

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์

ก้าวต่อไปคือมีความหวังและทำให้เมืองดีขึ้นจริงให้ได้

“ความจริงแล้วยะลามีต้นทุนเรื่องงานสร้างสรรค์เยอะมาก เพียงแต่เด็กรุ่นใหม่จะเสพและนำเสนองานศิลปะด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป มีน้องคนหนึ่งถ่ายหนังสั้นในยะลา แต่ไปคว้ารางวัลศิลปกรรมช้างเผือก หรือน้องอีกคนที่ทำงานคราฟต์เรื่องผ้า เขาออกจากงานเดิมมาศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเองเกือบห้าปี เพื่อรื้อฟื้นผ้าพื้นเมืองดั้งเดิม เหมือนแต่ละคนก็ทำในสิ่งที่เป็นแพสชันของตัวเอง แต่ไม่มีใครนำเรื่องราวของพวกเขามาถ่ายทอดในพื้นที่จังหวัดยะลาเสียที” บอลบอกเล่าถึงสถานการณ์งานสร้างสรรค์ที่ผ่านมาในยะลาให้เราฟัง

เพราะแบบนั้น ผู้คนที่รอคอยงานอย่าง Yala Stories มานาน จึงพากันแห่แหนมาร่วมกิจกรรมที่ย่านสายกลางกันอย่างล้นหลาม ในระยะเวลา 3 วันที่จัดงาน บอลบอกว่ามีคนเดินทางมาร่วมถึงหลักหมื่นคน ซึ่งเกินความคาดหมายของเขามาก

มากไปกว่านั้น งานนี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่ภาคภูมิใจในต้นทุนทางวัฒนธรรมของพวกเขา ทั้งยังมีการพูดคุยเสวนากันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองยะลาด้วยงานสร้างสรรค์ ซึ่งระหว่างคุยกัน บอลได้หอบกระดาษโน้ตที่อัดแน่นไปด้วยความคิดเห็นของคนมาร่วมงานที่แปะบนบอร์ดรับความคิดเห็นหัวข้อ ‘อีก 5 ปีคุณอยากเห็นอะไรในยะลา’ มาให้เราดู

yala stories นิทรรศการ ยะลา
yala stories นิทรรศการ ยะลา

“เด็กรุ่นใหม่เขียนมาเยอะว่าอยากมีพื้นที่แสดงงานศิลปะ มีหอศิลป์ มีงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ที่พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารได้ โดยไม่โดนปิดกั้นมุมมอง หลายคนอยากให้มีห้องสมุดประชาชน อยากให้จังหวัดเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่แสดงศักยภาพมากกว่านี้ อยากให้งาน Yala Stories ปีหน้าใหญ่กว่านี้ดีกว่านี้ ซึ่งพอมาสรุปสุดท้ายคือพวกเขาเห็นตรงกันว่าอยากให้ยะลาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เราเลยดีใจมากที่พอจัดงานแบบนี้ขึ้นแล้วทุกคนรับรู้เข้าใจ ซึ่งมันก็กลายเป็นจุดมุ่งหมายต่อไปว่าอย่าให้สิ่งที่เราทำเป็นแค่อีเวนต์แล้วจบ แต่เราต้องสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในเมืองรับรู้ว่าจบงานนี้จะมีงานอะไรจัดต่อเนื่องอีกบ้าง มูฟเมนต์งานสร้างสรรค์อื่นๆ อะไรที่จะเกิดขึ้นอีก

“เราอยากให้ Yala Stories เป็นเหมือนจุดสตาร์ทที่ทำให้ทุกคนรับรู้ว่าจะมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มารวมตัวกันได้อีก อาจจะไม่ต้องพูดเรื่องงานศิลปะกับงานสร้างสรรค์ก็ได้ เราพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา อย่างช่วงที่จัดงานสามวันนั้นเราไม่มีการใช้เจ้าหน้าที่รัฐมาดูแลความปลอดภัยเลย เพราะเราต้องการแสดงให้เห็นว่าคนในเมืองยะลาก้าวข้ามผ่านจุดที่คนอื่นติดภาพเรื่องพื้นที่ที่มีความรุนแรงและเหตุการณ์ไม่สงบมาแล้ว นอกจากขออนุญาตจัดงานก็ไม่ได้ต้องมีการระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษ ดังนั้น งานนี้เป็นเหมือนการแสดงสัญลักษณ์ด้วยว่าเมืองต้องเดินต่อ เป็นด้านบวกที่คนในชุมชนอยากให้คนนอกพื้นที่มองเห็นบ้าง”

yala stories นิทรรศการ ยะลา

ก่อนจากกัน บอลทิ้งท้ายว่าอยากเห็นมูฟเมนต์ของการขับเคลื่อนเมืองยะลาด้วยงานสร้างสรรค์ที่จริงจังขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าที่ใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับงานสร้างสรรค์ มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาเมือง พัฒนาคน และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด 

“ไม่ว่าจะญี่ปุ่น ขอนแก่น หรือสงขลา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนอยู่ในการพัฒนาเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าสิ่งที่เราอยากทำและอยากให้เกิดในยะลาต้องใช้เวลานานหลายปี เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราไม่ขาดเลยคือความหวัง Yala Stories ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าเราไม่ได้อยากเห็นเมืองนี้เปลี่ยนแปลงอยู่คนเดียว แต่เด็กรุ่นใหม่ก็อยากเห็นเมืองของพวกเขาเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น นี่ไม่ใช่ความหวังของเราคนเดียวแล้ว แต่เป็นความหวังที่เกิดขึ้นร่วมกันของเด็กรุ่นใหม่ด้วย”

yala stories นิทรรศการ ยะลา

ติดตามเรื่องเล่าสนุกๆ และอีเวนต์น่าสนใจในเมืองยะลาที่ facebook.com/YalaStories 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.