ในวันที่รู้สึกเบื่อๆ เคยลองเสิร์ชเล่นๆ ว่าโตเกียวมีพิพิธภัณฑ์อะไรน่าสนใจบ้าง
ผลลัพธ์ที่ออกมาชวนกรี๊ดมาก เมืองนี้ช่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพิพิธภัณฑ์นานาประเภท สิ่งพื้นฐานอย่างอาร์ตมิวเซียมและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มีแทบทุกแขนง พิพิธภัณฑ์การ์ตูนก็เนืองแน่น ของแปลกที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีก็มากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์เกลือ พิพิธภัณฑ์อุปกรณ์และประวัติศาสตร์การดับเพลิง พิพิธภัณฑ์ค่าเงิน พิพิธภัณฑ์ปรสิต ฯลฯ
ใครจะไปคิดว่าโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่ปี 1869 เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า…
เฮ้ย! เรายังไม่มีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์!
หลังจากทางการโตเกียวไหวตัวทันว่ายังไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงโตเกียวเลย Edo-Tokyo Museum จึงถูกก่อตั้งในปี 1993 ที่เขต Sumida โดยมีสาขาย่อยที่เล่าเรื่องราวผ่านสถาปัตยกรรมและชีวิตของผู้คนคือ Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum ที่เขต Musashino ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากของเมืองเลยทีเดียว เพราะต้องใช้พื้นที่ในการจัดแสดง
นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum ยังต่างกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เล่าแค่ประวัติศาสตร์และคุณค่าของสิ่งก่อสร้าง แต่เน้นเรื่องวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนไม่แพ้กัน
เดินดูเองก็ว่าสนุกแล้ว แต่เมื่อได้ Hidehisa Takahashi ภัณฑารักษ์ผู้คร่ำหวอดในวงการจาก Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum มาเล่าให้ฟังถึงความพิเศษของอาคาร 30 หลังบนพื้นที่ 70,000 ตร.ม. มันยังสนุกกว่านั้นได้อีก!
Relocation for Conservation
Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum ได้พื้นที่กว้างใหญ่สมใจ คู่ควรกับการจัดแสดงอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ยิ่งอยู่ร่วมกับสวนสาธารณะ Koganei Park ที่เต็มไปด้วยต้นซากุระยิ่งส่งเสริมให้บรรยากาศที่นี่ร่มรื่นชื่นใจเหมาะกับการชื่นชมสิ่งสวยงามยิ่งนัก
“ตอนแรกที่วางแผนสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เล่าประวัติศาสตร์ของเอโดะและโตเกียว (เอโดะคือชื่อเก่าของโตเกียว) มีคนเสนอให้ทำเรื่องสถาปัตยกรรมขึ้นมา ซึ่งทุกคนเห็นด้วยแต่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่และกฎอันเข้มงวดในการสร้างอาคารไม้ที่ต้องระวังเรื่องไฟไหม้ต่างๆ มากมาย ทำให้ที่ตั้งของมิวเซียมที่ Sumida ไม่เหมาะสมเลยย้ายมาอยู่ที่นี่” ฮิเดะฮิสะเริ่มเล่า
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางการโตเกียวก่อตั้งที่นี่คือ โตเกียวสูญเสียอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไปมากมายในยุคเอโดะเพราะภัยทางธรรมชาติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมไปถึงผลกระทบจากสงคราม
แม้ในปัจจุบัน อาคารดีๆ มากมายก็ได้รับความเสียหายและสูญหายไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นบางครอบครัวได้รับบ้านไม้เก่าแก่เป็นมรดกตกทอดมา แต่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหรือปรับปรุงให้อยู่ได้สะดวกสบายแบบวิถีชีวิตปัจจุบัน เลยต้องจำใจปล่อยทิ้งร้างไปทั้งอย่างนั้น
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้จึงรวบรวมบ้านและอาคารญี่ปุ่นเก่าแก่ตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1867) จนถึงช่วงกลางของยุคโชวะ (ค.ศ. 1926 – 1989) เอาไว้
อาคารทุกหลังที่เห็นที่นี่คืออาคารเก่าแก่ที่ถูกรื้อและย้ายมาประกอบ/สร้างใหม่ เพราะไม่สามารถเก็บไว้ที่เดิมอีกต่อไป เมื่อย้ายมาแล้วก็ยังซ่อมบำรุงต่อเนื่องและเปิดให้ชมทั้งภายนอกและภายใน
“อาคารทุกหลังที่นี่จะเรียกว่าเราได้รับบริจาคมาก็ได้ครับ เจ้าของบ้านยินดียกให้ทางโตเกียวนำไปดูแลรักษาต่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ มีเงื่อนไขแค่ทางเราต้องดำเนินการรื้อถอนและประกอบใหม่เอง
“ในการย้ายอาคารต่างๆ ตัวแปรสำคัญคือ Timing เช่น บางหลังยังมีคนอาศัยอยู่ตอนที่เราจะทำพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องรอจนเจ้าของสะดวกให้เข้าไปรับบ้าน จากนั้นทีมเราก็ต้องวางแผนกันต่อ คุยงานกับผู้รับเหมาเรื่องการรื้อถอนต่างๆ จนการย้ายอาคารเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทีมคิวเรตถึงได้เข้าไปจัดการตกแต่งภายในต่อ
“กระบวนการทั้งหมดนี้ค่อนข้างใช้เวลา ตอนเปิดพิพิธภัณฑ์ในปี 1993 ถึงเริ่มต้นที่สิบสองหลัง แล้วค่อยๆ ย้ายมาจนครบสามสิบหลังเมื่อปี 2013 นี้เอง”
Retrace the Memories from East to West
พื้นที่อันกว้างใหญ่ของ Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum ถูกแบ่งเป็น 3 โซนใหญ่ๆ ได้แก่ Center, West และ East
สามโซนนี้ไม่ได้แบ่งตามสะดวกสร้าง แต่แฝงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือเขาจำลองพื้นที่แบบผังเมืองโตเกียวในสมัยก่อนจริงๆ!
“ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่าสวนของเราเป็นผอมยาว ซึ่งรูปทรงคล้ายกับแผนที่โตเกียวเลยครับ สมัยก่อนฝั่งตะวันออกจะเป็นย่าน Shitamachi ที่พ่อค้าและชาวบ้านอาศัย ตรงกลางเป็น Yamanote เรียกง่ายๆ ว่า Downtown ส่วนฝั่งตะวันตกเรียกว่า Tamachiiki จะมีบ้านชาวนา บ้านโบราณแบบมุงหลังคาหญ้าเยอะ ที่นี่ก็จัดแปลนอิงตามนั้นเลย”
ช่างเป็นดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนให้ประทับใจ นอกจากจะได้เห็นอาคารเก่าแก่ ยังเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเดินเล่นในมินิโตเกียวด้วย
“เกณฑ์การเลือกอาคารต่างๆ คือ เราพยายามรวบรวมให้ครบทุกประเภท เช่นทั้งบ้านขุนนาง บ้านชาวนา ร้านค้าต่างๆ แต่ละหลังจะมีดีเทลและคุณค่าไม่เหมือนกัน ลิสต์บ้านนี้เรากำหนดมาตั้งแต่แรก ผู้เชี่ยวชาญทำลิสต์ขึ้นมาส่งให้ผู้ว่าโตเกียวในสมัยนั้นเลือกอีกที” คิวเรเตอร์หนุ่มแจกแจง
ตัวอย่างแรกที่เขายกมาเล่าให้ฟังคือ Residence of Hachirouemon Mitsui บ้านของตระกูล Mitsui กลุ่มบริษัทผู้มั่งคั่งที่สร้างขึ้นในปี 1952 บ้านหลังนี้ตัวบ้านโดยทั่วไปสร้างในโตเกียว แต่ห้องนอนแขกและห้องกินข้าวนั้นนำมาจากบ้านอีกหลังในเกียวโตในปี 1897
ที่นี่จึงเป็นบ้านที่ผสมผสานงานศิลปะของศิลปินจากสองเมืองไว้ในหลังเดียว อีกทั้งยังมีโกดังเก็บสมบัติ 3 ชั้นด้านใน ซึ่งจัดแสดงงานฝีมือสุดเนี้ยบของช่างสมัยก่อน เช่น ประตูไม้เพนต์ลาย หรืองานเหล็กบริเวณที่จับ
หลังถัดมาคือ Farmhouse of the Yoshino Family อดีตบ้านของตระกูลโยชิโนะ ผู้ดูแลหมู่บ้าน Nozaki ในสมัยเอโดะ ฮิเดะฮิสะบอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าใครใหญ่สุดในหมู่บ้านให้ดูที่หน้าบ้านเขาว่ามี ‘Shikidai’ รึเปล่า
“ชิกิไดคือชานไม้หน้าบ้านที่สร้างแยกออกมาจากทางเข้าบ้านจริงๆ มีไว้สำหรับต้อนรับชนชั้นสูง สมัยก่อนเวลาขุนนางเดินทางไกล เขามักจะแวะพักตามบ้านของผู้ดูแลหมู่บ้านนั้นๆ เจ้าบ้านจึงต้องทำทางเข้าพิเศษไว้ต้อนรับ ซึ่งทางเข้านี้แม้แต่สมาชิกในครอบครัวก็ใช้ไม่ได้
“ส่วนครอบครัวชาวบ้านทั่วไปที่ไม่น่ามีโอกาสได้รับแขกชั้นผู้ใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งนี้ไว้ บ้านเก่าบางหลังอาจจะดูเล็กๆ แต่ถ้าเห็นว่ามีสิ่งนี้ รู้ได้เลยว่าเจ้าของไม่ธรรมดา”
ส่วนบ้านอีกหลังที่ฮิเดะฮิสะพาไปแล้วทำให้เราดีดดิ้นอยากจะขอย้ายเข้าเดี๋ยวนั้นคือ House of Kunio Maekawa บ้านของสถาปนิกชื่อดังผู้ออกแบบ Tokyo Bunka Kaikan ในสวนอุเอโนะ
บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1942 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่วัสดุก่อสร้างขาดแคลนมาก ที่นี่จึงไม่ได้ถูกเลือกเพราะเป็นตัวแทนบ้านสวยๆ ของดีไซเนอร์ดัง แต่เป็นเพราะความคิดสร้างสรรค์ในการหาวัสดุทดแทน เช่น เสาหน้าบ้านที่มีไม้หุ้ม มองดีๆ จะเห็นปูนด้านใน เดากันถูกมั้ยว่านั่นคืออดีตเสาไฟฟ้า!
รางประตูบานเลื่อนก็น่าสนใจ สมัยนั้นเหล็กหายากมาก เขาจึงดัดแปลงใช้ไม้มาทำแทน แม้จะไม่ลื่นเท่าแต่ก็ออกแบบจนใช้งานได้ถึงปัจจุบัน
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ประตูบานเลื่อนตรงนี้จริงๆ แล้วมี 3 ชั้น คือประตูไม้ ประตูกระจก และมุ้งลวด แต่ถ้าติดบานมุ้งลวดไว้ตลอดเวลา เวลามองกระจกชมวิวก็ไม่สวย เขาจึงทำที่เก็บบานมุ้งลวดแยกไว้ต่างหากในตู้ไม้ที่เนียนไปกับกำแพงบ้านอย่างสวยงาม
มาดูเรื่องค่านิยมบ้านไฮโซญี่ปุ่นกันบ้าง ถ้าเป็นบ้านคนรวยไทยอาจจะตกแต่งด้วยสิ่งที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่ารวย! อย่างเสาโรมันหรืออินทีเรียฉลุเฉลาอลังการ
ส่วน Second House of the Nishikawa Family บ้านตากอากาศของ Izaemon Nishikawa พ่อค้าผู้ร่ำรวยจากธุรกิจผ้าไหมที่สร้างในปี 1922 สะท้อนให้เห็นว่า ไฮโซญี่ปุ่นเน้นอวดรวยแบบเงียบๆ ต้องแหงนมอง ‘เพดาน’ ถึงจะเห็น
เพดานห้องที่ใช้รับแขกจะแตกต่างจากเพดานห้องที่สมาชิกในครอบครัวใช้ ถ้าไม่ตั้งใจสังเกตจริงๆ ก็อาจจะไม่เห็น เพราะเป็นเพดานไม้เหมือนกัน แต่ห้องรับแขกจะมีการใช้ไม้ระแนงตีเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำยาก นับว่าหรูหราไฮโซ
ที่น่าสังเกตคือนอกจากทางเข้าบ้านและห้องรับแขก บ้านคนรวยนิยมทำเพดานห้องน้ำไฮโซด้วย อาจจะเป็นที่ที่ใช้เวลาเยอะก็อยากจะสร้างความรื่นรมย์ให้ตนเองเช่นกัน
ส่วนโซนตะวันออก ฮิเดฮิสะบอกว่าเป็นโซนที่อาจจะดูคึกคักสุดเพราะมีร้านค้าวินเทจเรียงรายอยู่มากมาย ทั้งโรงอาบน้ำสาธารณะ ร้านขายเครื่องเขียน ร้านขายเครื่องครัว บาร์ และโรงแรม
จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมโซนนี้คืออาคารแบบ Kanban คือการใช้แผ่นทองแดงแปะที่ด้านหน้าอาคารเพื่อป้องกันไฟไหม้ เพราะสมัยก่อนไฟไหม้บ่อยมาก ส่วนอาคารที่เหมือนจะไม่ต่างกับปัจจุบันเท่าไหร่ แต่ก็แตกต่างอย่างมีนัยทางสังคม คือ ‘โรงอาบน้ำสาธารณะ’
Kodakara-yu คือโรงอาบน้ำสาธารณะสุดเท่ที่มีหน้าจั่วสไตล์จีนแบบที่เห็นกันตามวัดและศาลเจ้า มีงานแกะสลักไม้รูปเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ดอยู่ที่ทางเข้า ด้านในแบ่งโซนชายหญิงชัดเจน มีเพดานเป็นไม้ระแนงสุดเก๋บริเวณห้องแต่งตัว มีโปสเตอร์วินเทจโฆษณาสินค้าแปะอยู่ตามที่ต่างๆ ผนังด้านในเพนต์ลายทิวทัศน์ธรรมชาติเพื่อให้คนแช่รู้สึกเพลิดเพลินและรู้สึกถึงความโอ่โถง
แล้วมันต่างกับของปัจจุบันตรงไหน
“เวลาเดินเข้ามาด้านในจะต้องจ่ายเงินที่เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองห้อง ซึ่งทำให้มองข้ามฝั่งเห็นกันได้ ซึ่งผู้หญิงสมัยนี้เขาไม่ยอมแล้วครับ และถ้าดูดีๆ ผนังที่กั้นระหว่างห้องแช่ชายหญิงถือว่าต่ำมากเลยนะ แถมห้องผู้ชายยังได้วิวภูเขาไฟฟูจิ ในขณะที่ห้องผู้หญิงเป็นวิวทั่วไป” ภัณฑารักษ์หนุ่มช่วยแจกแจงให้หายข้องใจ
ไม่คิดเลยว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในสมัยก่อนได้จากที่นี่ด้วย
Remember the Past
เป้าหมายของ Edo-Tokyo Open-Air Architectural Museum ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แต่รวมไปถึงประเพณี ความเชื่อพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนั้นด้วย ภายในอาคารต่างๆ จึงมีไอเท็มที่ชาวบ้านใช้กันในสมัยนั้นจริงๆ
ทีมคิวเรเตอร์จึงต้องไปคุยกับเจ้าของบ้านเดิมหรือคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นั่น เพื่อศึกษาว่าในสมัยนั้นเขาใช้อะไรกัน ต้องวางยังไง
“ทุกวันเสาร์จะมี Museum Talk ที่จะพาเดินชมและเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดกว่าชมเอง ส่วนวันธรรมดามักจะมีอาสาสมัครคอยแนะนำเรื่องราวของบ้านแต่ละหลัง และสาธิตวิธีรมควันไล่แมลงด้วยเตาอิโอริในบ้าน เรื่องที่เล่าที่นี่ไม่หมดก็นำไปตีพิมพ์หรือเขียนในเว็บ เพราะอยากสร้าง Awareness ในหมู่คนทั่วไป ให้สื่อเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มสนใจ ไปค้นหาเพิ่มต่อเองได้ยิ่งดีครับ”
ความคิดริเริ่มจะเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสถาปัตยกรรมนับว่าน่าสนใจ การซ่อมสร้างถือว่าทำได้ดีเลิศ และยังสิ่งพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลอีก แต่สิ่งที่เขาทำแล้วคนไทยอย่างเราไม่เข้าใจคือ ทำรายงานรายละเอียดการซ่อมบำรุงอย่างละเอียดของบ้านทุกหลัง! ทำขายด้วย! คำถามคือ ทำไปทำไม
“การบันทึกรายละเอียดการก่อสร้างเวลาซ่อมแซมอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมเป็นเรื่องพื้นฐานในวงการนี้อยู่แล้วครับ แม้จะเป็นอาคารทั่วไปที่ไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมาย” ชายหนุ่มผู้เชี่ยวชาญอธิบายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะเสริมว่า
“ยิ่งเราเป็นพิพิธภัณฑ์ นี่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว จริงไหมครับ เอกสารเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นต่อไปด้วย
“แม้ว่าตึกที่นี่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่อาคารเก่าแก่มากนักเหมือนวัด วัง ศาลเจ้าต่างๆ ที่เป็นโบราณสถาน เป็นบ้านคนธรรมดาที่วิธีการซ่อมสร้างไม่ได้ซับซ้อนหรือหาคนทำยากขนาดนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นวิชาที่กำลังจะตายอะไรแบบนั้น แต่ถ้าหมดรุ่นนี้แล้วไม่มีคนทำต่อก็อาจจะลำบากเหมือนกัน”
แล้วสิ่งที่ลำบากจริงๆ ในการเนรมิตโตเกียวในอดีตให้มีชีวิตขึ้นมาล่ะ
“เยอะมากเลยครับ” ฮิเดะฮิสะหัวเราะเบาๆ ก่อนขยายความ
“อย่างแรกคือเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกอาคาร ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศ ทั้ง UV และอื่นๆ ส่วนในแง่ของคนที่มาเยี่ยมชม เขาก็ไม่ค่อยมองว่าที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ เหมือนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าที่นี่คือสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม
“บางคนคิดว่าเป็นบ้านจำลองไม่ใช่ของจริงด้วยซ้ำ บางคนก็มาแค่ถ่ายรูปอัปลงโซเชียล มาที่นี่เหมือนมาดิสนีย์แลนด์มากกว่า ไม่ได้ทรีตอาคารเหล่านี้แบบเข้าใจคุณค่าอื่นๆ นอกเหนือจากความสวยงามที่เห็นภายนอก
“อย่างโซน Shitamachi ซึ่งดูค่อนข้างใหม่ รุ่นปู่ของปู่ตนเองอาจเคยอาศัยอยู่ เขาเลยมองว่าไม่ใช่ของเก่าขนาดนั้นสักหน่อย จึงไม่ได้ให้คุณค่ามากนัก คนที่มาจะไม่ได้รู้สึกว้าวขึ้นมาทันทีเหมือนเวลาบอกว่าที่นี่คือบ้านของโชกุนสมัยเอโดะ แต่ยังไงก็ตาม อาคารเหล่านี้ก็เป็นของที่ควรอนุรักษ์ไปให้คนรุ่นหลัง
“ผมว่าที่นี่น่าสนใจเพราะเรามีวิถีชีวิตให้เรียนรู้ผ่านสิ่งของในอดีตที่วางไว้ด้วย มันเลยมีชีวิตคู่กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กว่าจะหาของมาได้ ยากมากเลยนะครับ” คิวเรเตอร์ผู้ทุ่มเททิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม