ยังจำตอนเด็กๆ ที่เราถูกสอนให้ระวังภัยจากยาเสพติดได้ไหม
เชื่อเลยว่าทุกคนต้องมีภาพจำเรื่องพวกนี้ในด้านที่เป็นภัยกับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาพเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นยาเสพติด ภาพคนขายยาที่ถูกแขวนกุญแจมือในคุก หรือแม้แต่ภาพการซื้อขายยากันตามที่ลับในละครจอแก้วที่ทำเอาลุ้นกันจนเหนื่อย เราเห็นข่าวยาเสพติดในสังคมไทยมาตลอด จนภาพพวกนี้แทบจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
คงไม่มีใครเถียงว่าเราถูกสอนให้หวาดกลัวยาเสพติด ใครหยิบยื่นอะไรไม่ดีให้ก็ต้องเซย์โนไว้ก่อน แต่ตัดภาพมาที่มุมหนึ่ง มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้สารเสพติดเพื่อเป็นตัวช่วยการลืมความทุกข์ เศร้า เหงา ซึม ซึ่งนอกเหนือจากความน่ากลัวของมันที่เรารู้กัน ทุกคนเคยทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังแล้วหรือยัง
เรามีนัดกับคุณหมอวศิน บำรุงชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพจิตและพฤติกรรม ผู้คลุกคลีกับผู้ป่วยติดสารเสพติดมากว่า 20 ปี มาคุยถึงปัญหายาเสพติดที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย พร้อมทำความรู้จักประเภทของสารเสพติด และเข้าใจคนติดยาให้มากขึ้น ไปจนถึงชีวิตการทำงานของแพทย์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ปัญหายาเสพติดในบ้านเราเบาบางลง
‘หมอบำบัดยาเสพติด’ มีหน้าที่ฟื้นฟูจิตใจ
จริงๆ แล้วหมอบำบัดยาเสพติดก็คือจิตแพทย์นั่นเอง ที่กว่าจะเรียนครบ 6 ปี ไหนจะต้องใช้ทุนและเรียนต่อเฉพาะทางก็ใช้เวลากว่า 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งกว่าที่คุณหมอวศินจะมาเป็นจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสารเสพติด ก็ต้องเอาตัวเองไปใกล้ชิดกับคนไข้และเปิดใจรับฟังปัญหา เพื่อหาหนทางแก้ไขและฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายของคนติดยา
คุณหมอวศิน : สมัย พ.ศ. 2534 หมออยู่กองทัพเรือ ก็จะทำงานดูแลพลทหารที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด โดยในช่วงแรกของการทำงาน เคสส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นกลุ่มที่ใช้เฮโรอีนที่ฮิตใช้กันมากในตอนนั้น รองลงมาก็คือกัญชา ซึ่งของทหารเรือเขาเกณฑ์มาสัก 3,000 คน แบ่งเป็น 4 ผลัด ก็มีคนไข้ติดยาประมาณ 30 – 40 คน ต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงสัก พ.ศ. 2540 ที่มีเรื่องของยาบ้าเยอะมาก แต่ลองคิดดูว่าทำไมปัญหาพวกนี้ถึงยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
ความยากของการทำงานคือการเจอคนที่เข้ามาด้วยอารมณ์แตกต่างกัน คนเข้ามาบำบัดบางคนก็จะมีความก้าวร้าว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ซึ่งหมอต้องเปิดใจรับฟังปัญหา และต้องเชื่อว่าพวกเขาสามารถหายจากการติดยาได้ แต่ของแบบนี้ต้องใช้เวลา หมอต้องฝึกฝนมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนเรียน ทั้งวิธีการพูดคุยกับคนไข้และการรับมือกับคนไข้
‘สารเสพติด’ เรื่องต้องรู้ แต่อย่าริลอง
ก่อนมองถึงแรงจูงใจของคนเสพ มาลองรู้จักสารเสพติดให้กระจ่างขึ้น ซึ่งเรารู้กันว่ามันคือสิ่งที่เสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะกิน สูบ ฉีด หรือสูดดมเข้าไป แล้วออกฤทธิ์ต่อร่างกายและจิตใจ วันใดวันหนึ่งของขาด ใจมันก็จะอยากหามาเสพซะเหลือเกิน ซึ่งคุณหมอวศินได้แบ่งประเภทของสารเสพติดตามการออกฤทธิ์ของสารเป็น 3 กลุ่ม 3 คำจำง่ายๆ ได้แก่ กด กระตุ้น หลอน
คุณหมอวศิน : กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์กดประสาท คืออะไรก็ตามที่ใช้แล้วมึนเมาจนไปกดประสาทส่วนกลาง เช่น เหล้า เบียร์ ฝิ่น เฮโรอีน ซึ่งปัญหาที่มีมากตอนนี้คือพวกยาเม็ดเขียวเหลือง (Tramadol) หรือยาแก้ปวดที่กินเป็นแผงๆ พอเอาไปผสมกับยาแก้ไอจนคนที่เสพเกิดอาการมึนเมา คนไข้บางรายถึงขนาดชักหรือหยุดหายใจมาโรงพยาบาล แสดงให้เห็นว่ายาเสพติดมันก็สามารถหาได้ทั่วไปเลย
กลุ่มสองคือกลุ่มกระตุ้นประสาท พวกยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ โคเคน กระท่อม เป็นกลุ่มที่ใช้เยอะที่สุด เพราะหาง่าย ราคาถูก เจ้าหน้าที่จับเท่าไหร่ก็จับไม่หมด พวกนี้ใช้แล้วคึก อย่างสมัยรุ่นปู่รุ่นย่าที่ทำสวนยาง เขาเคี้ยวใบกระท่อมกันใบสองใบ เขาสามารถกรีดยางได้ตั้งแต่ตีสองยันสว่าง แต่พอมายุคนี้วัยรุ่นต้มกินกัน 40 – 50 ใบ แล้วเอาไปผสมน้ำอัดลมเพิ่มรสชาติ ลองคิดดูว่าอาการจะหนักแค่ไหน
ส่วนกลุ่มสามเป็นยาหลอนประสาท คือกลุ่มกัญชา ซึ่งเป็นได้ทั้งกดและหลอนประสาท หรือยาพวก LSD ที่คนพูดถึงกันว่าเป็นแสตมป์ที่แตะลิ้นแล้วหลอนลอยฟุ้งสวยๆ พอแตะแสตมป์ปุ๊บก็หัวเราะสนุกสนาน มีความสุขกันเลยทีเดียว
‘ครั้งเดียวไม่ติดหรอก’
ไม่ว่าจะสารเสพติดแบบไหนก็ล้วนมีผลต่อสมอง บางอย่างอาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจได้ ซึ่งหลายคนเริ่มต้นการเสพจากความอยากรู้อยากลอง โดยคุณหมอวศินบอกว่า ขึ้นชื่อว่าสารเสพติด ยังไงคนเสพก็ต้องติด ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ นี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะ
คุณหมอวศิน : คนไข้หลายคนชอบคิดว่าใช้แค่ครั้งสองครั้งยังไงก็ไม่ติดหรอก แล้วยังมีความเชื่อผิดๆ เช่น คิดว่ายาเสพติดประเภทนั้นมีผลเสียน้อยกว่าประเภทนี้ คิดว่าติดแล้วสามารถหยุดยาด้วยตนเองได้ ทั้งยังไม่เข้าใจว่ายิ่งเสพมานานก็ยิ่งหยุดยาได้ยากมากขึ้น เพราะไม่มีใครเคยบอกว่าเสพกี่ครั้งถึงติด
พอรู้สึกโกรธ เบื่อ เหงา เศร้า เซ็ง แล้วคุณไปเสพ มันก็ยิ่งกระตุ้นให้สมองติดยามากขึ้น
จริงๆ แล้วสมองของแต่ละคนจะมีเซลล์ที่ไวต่อการรับต่างกัน เรื่องของพันธุกรรมก็มีส่วน อย่างที่ออกข่าวว่ากัญชามีคนติดแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ดูน้อยจัง แต่นั่นมันก็เป็นสมองของแต่ละคน หมายความว่าบางคนเสพครั้งเดียวก็ติดได้
กระบวนการที่ทำให้สมองติดยาจากนิตยสาร TIME อธิบายว่า เวลาที่เรามีความสุข เช่น คุณจีบสาวติด คุณทำงานสำเร็จ คุณไปออกกำลังกาย หรือร้องเพลง มันจะมีสารโดพามีนหลั่งออกมาจำนวนหนึ่ง ในทางกลับกัน คุณใช้สารเสพติด มันจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติ คุณจะรู้สึกโอ้โห ฟีลมันได้เลย ซึ่งต่อไปร่างกายจะอยากใช้มันถี่ขึ้น เราถึงเรียกมันว่าสารเสพติด
ติดยาจนเหลือแต่ ‘สัญชาตญาณดิบ’
นอกจากอาการติดอกติดใจอยากใช้สารเสพติดมากขึ้น ฤทธิ์ของสารเสพติดจะส่งผลไปยังเซลล์สมอง จนทำให้คนเสพกลายเป็นโรคสมองเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่หายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ อีกทั้งสมองส่วนยับยั้งชั่งใจ การคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจก็จะพัง
คุณหมอวศิน : ถ้าคุณใช้สารเสพติดนานๆ เซลล์สมองส่วนหน้าคุณจะหายไปเลย ไม่ใช่เป็นเอ๋อหรือไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่คุณจะขาดความยับยั้งชั่งใจ และการคิดวิเคราะห์จะต่ำ เห็นได้จากข่าวทีวี อย่างยายเลี้ยงหลานมา 20 ปี หลานก็รักยายมาก แต่พอหลานติดยา แล้วไปขอเงินยาย 200 บาท ยายไม่ให้ สมองส่วนหน้าที่ถูกทำลายไปก็จะเหลือแต่สัญชาตญาณดิบ สุดท้ายหลานก็ทำร้ายยายจนเสียชีวิต
การเสพยาก็เหมือนการกิน เหมือนคุณชอบน้ำพริกปลาทู ไปเรียนเมืองนอกมาหลายปี คุณยังจำได้อยู่ว่ารสชาตินั้นมันอร่อยยังไง
พอสมองส่วนหน้าเหลือน้อย แน่นอนว่ามันส่งผลต่อการเรียนรู้ ถ้าเกิดผู้เสพเลิกได้จริงๆ ภายใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน มันอาจจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้บ้าง แต่คงไม่ได้ไบรต์เท่าเดิม
สิ่งที่พ่วงมาด้วยคือ มี Amotivation Syndrome คือการหมดแรงจูงใจของชีวิต จะมีอาการเฉื่อย ไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไร ไม่รู้จะเรียนทำไม อยู่ไปวันๆ ซึ่งสมองคนเราไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เมมโมรีแล้วดีลีตได้ สมองคุณจำไป วันดีคืนดีหยุดยาไป 4 – 5 ปี ก็มีโอกาสกลับมาเสพยาได้
‘บำบัด’ หนทางเดียวที่ช่วยได้
การช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ คุณหมอวศินบอกว่า ต้องใช้การบำบัดเพื่อการเสริมสร้างแรงจูงใจในการเลิกยาเสพติด หรือ Motivational Enhancement Therapy (MET) โดยคนไข้ที่มาบำบัดที่โรงพยาบาลต้องเป็นคนไข้ที่ยังสามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในบรรดาผู้เสพติดทั้งหมด
คุณหมอวศิน : ที่โรงพยาบาลมนารมย์จะมีจิตแพทย์และทีมนักจิตวิทยา มาพูดคุยโน้มน้าวสร้างแรงจูงใจและการแก้ไขปัญหา โดยสิ่งเดียวที่จะรู้ว่าคนไข้เลิกใช้ยาหรือไม่ ก็คือต้องตรวจสุขภาวะทุกสัปดาห์ เมื่อผ่านไป 8 สัปดาห์ จะเห็นเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการควบคุมตนเองไปในทิศทางไหน ทีนี้ก็จะมาปรับเรื่องของจิตใจและการจัดการความเครียด การเข้าสังคม และปรับวิถีชีวิตใหม่ เมื่อเลิกได้ประมาณ 2 – 3 เดือน หมอก็จะนัดห่างออกไป บางคนถึงขั้นเลิกได้เลยก็มี หรือบางคน 4 – 5 ปีก็ยังมีมาหาอยู่
คุณต้องหยุดวิถีชีวิตเดิม เริ่มวิถีชีวิตใหม่
ปัจจัยด้านสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้คนไข้กลับมาเสพซ้ำมากที่สุด โดยเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องปรับเปลี่ยนเอง เช่นการกินดื่มเที่ยว มีเคสหนึ่งที่พ่อแม่ยอมย้ายบ้านออกจากหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งคนไข้มารักษาตั้งแต่เรียนจนเรียนจบ ได้เกรดดีด้วย ผ่านมา 4 – 5 ปี ไม่เคยใช้สารเสพติดเลย แต่วันหนึ่งกลับไปเตะบอลกับเพื่อนที่หมู่บ้านเดิม ดันกลับไปเสพใหม่ซะงั้น เห็นเลยว่าสังคมเป็นอุปสรรคสำคัญเลยทีเดียว
อาการหนักมาก ต้องพึ่ง ‘สถานบำบัด’ สถานเดียว
ต้องยอมรับว่าคนติดยาในสังคมเรา บางรายมีอาการถึงขั้นก้าวร้าวรุนแรงและควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยคุณหมอวศินบอกว่าต้องส่งไปที่สถานบำบัดสถานเดียว และที่นั่นก็จะมีรูปแบบการบำบัดที่เรียกว่า พฤติกรรมสังคมบำบัด ซึ่งมีความแตกต่างจากโรงพยาบาลอยู่พอสมควร
คุณหมอวศิน : การที่มาหาหมอทุกสัปดาห์ คนไข้เจอหมอครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง แต่อีก 6 – 7 วันที่เหลือคุณจะอยู่กับตัวเองหรืออยู่กับสังคมข้างนอก แต่ในสถานบำบัด คุณจะออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีสารเสพติดให้ใช้ เขาจะฝึกวินัยคุณ เช่น ตื่นตี 5 ออกกำลังกาย ออกมาวิ่ง ปลูกผัก ปั้นปูน มันคือ Social Therapy ที่มีกิจกรรมไม่ให้คุณรู้สึกว่าง จนเมื่อคนไข้รู้สึกแล้วว่าไม่ต้องมีสารเสพติดก็มีชีวิตอยู่ได้ ก็สามารถกลับมาสู่สังคมได้ตามปกติ
ผมจะบอกคนไข้เสมอว่า คุณเดินถนนขรุขระมาทั้งชีวิตแล้ว ลองเดินบนถนนเรียบๆ แบบคนอื่นเขาดูไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามให้เขาเรียนรู้ว่าชีวิตเราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเสพติด ถ้าเสพติดยังไงมันอยู่ลำบากแน่นอน ชีวิตก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ บางคนหยุดยามาติดเหล้า หยุดเหล้ามาติดบุหรี่ ยังไงก็ไม่มีวันดีขึ้น
‘อาการติดยา’ แค่มายาที่เอาไว้หลอกตัวเอง
ในยุคนี้มีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะ สถานที่บางแห่งกว่าจะออกจากปากซอยนี่ต้องสู้กับหลายอย่าง ขวามือก็กัญชา ซ้ายมือก็ยาบ้า ข้างหน้าก็ยาไอซ์ ผจญภัยยิ่งกว่าเล่นเกมมือถือเสียอีก ซึ่งดูเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่คนคนหนึ่งจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของสารเสพติด แต่ทั้งนี้ การที่คนคนหนึ่งจะติดยาได้ก็อยู่ที่ใจตัวเองล้วนๆ
คุณหมอวศิน : เมื่อคุณเริ่มใช้สารเสพติด กระบวนการเรียนรู้ของคุณจะไปสร้างเงื่อนไขของมันเมื่อเกิดตรงนั้นอยู่เรื่อยๆ เช่น คุณบอกว่าตอนเช้าถ้าผมไม่สูบบุหรี่ ผมขับถ่ายไม่ได้เลยนะ แต่ในความเป็นจริงคือนิโคตินทำให้ท้องผูก ถ้าอยากท้องไส้ดีทำไมไม่ดื่มน้ำให้เยอะล่ะ หรือเวลาคุณเครียดแล้วต้องออกไปสูบบุหรี่ คุณไปสร้างเงื่อนไขให้สมอง ต่อให้เลิกบุหรี่ได้ 2 – 3 ปี แต่วันหนึ่งเจองานเครียดมากก็กลับมาสูบต่อเหมือนเดิม
สิ่งสำคัญที่คนยุคนี้ต้องมีคือการฝึกอดทน อดกลั้น ยับยั้งชั่งใจ คุณรู้อยู่แล้วว่ายาเสพติดเป็นของไม่ดี แต่มันอยากลอง คุณยับยั้งชั่งใจไม่ได้ก็ไม่มีใครช่วยคุณได้ ยิ่งยุคนี้ใครอยากได้กัญชา อยากได้เฮโรอีน หรือใครอยากเสพอะไรก็ตาม แค่โทรสั่งปุ๊บมาถึงหน้าบ้านได้ แต่จำไว้เลยว่า ยาเสพติดเสพง่าย แต่เลิกยาก ต่อให้เลิกได้ แต่ยังไงก็ลืมไม่ลง
หลังจากที่เราได้คุยกับคุณหมอวศิน นอกจากความทุ่มเทของแพทย์คนหนึ่งในการเปลี่ยนด้านมืดให้กลายเป็นด้านสว่าง เรายังได้เข้าใจจุดเริ่มต้นของการติดยา นั่นคือความอยากรู้อยากลอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อตัวเองและสังคม หากคนคนหนึ่งจะกลายเป็นคนติดยา สิ่งที่เราอยากให้ปรับมุมมองเลยคือการยอมรับความจริง หรือยอมรับตัวเองว่าฉันเป็นคนติดยา เพื่อหาทางบำบัดรักษาให้กลับมามีความหวังในการใช้ชีวิตแบบปกติสุข