ใครๆ ก็เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘หมาเป็นสัตว์ที่รู้ภาษา’ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไปแล้ว เพราะในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบรรดาสุนัขมีความสามารถด้านการแยกแยะความแตกต่างระหว่างภาษาต่างๆ ได้จริงๆ
ประเด็นนี้อ้างอิงมาจากรายงานของ Vice News ที่เผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยพิสูจน์ว่าสุนัขรับรู้ความแตกต่างทางภาษาของมนุษย์ได้ ซึ่งมีการตีพิมพ์รายละเอียดของการศึกษาทางวารสาร NeuroImage เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และพบว่า “สมองของสุนัขตรวจจับ และแยกแยะความแตกต่างระหว่างรูปแบบการพูดที่มันคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยได้ ที่สำคัญยังแยกความแตกต่างระหว่างแต่ละภาษาได้อีกด้วย”
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Eötvös Loránd ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ได้ทดสอบการประมวลผลทางภาษาผ่านสุนัขจำนวน 18 ตัว สุนัขกลุ่มนี้ได้รับการฝึกฝนให้นอนนิ่งๆ เพื่อถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (fMRI) ลูกสุนัขเหล่านี้ถูกทดสอบด้วยเสียงข้อความที่ตัดตอนมาจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง The Little Prince ในเวอร์ชันภาษาสเปนและฮังการี ซึ่งเป็นภาษาที่บรรดาสุนัขทั้งหมดเคยได้ยินมาจากเจ้าของคนเดียวกัน ทั้งนี้นักวิจัยยังเล่นเสียงแต่ละแทร็กย้อนหลัง เพื่อทดสอบความสามารถของสุนัขต่อการจดจำเสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ และเสียงที่มีสัญญาณรบกวน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษารูปแบบสมองของสุนัขขณะกำลังฟังเพลง พวกเขาสังเกตเห็นว่าบริเวณต่างๆ ในสมองของเหล่าสุนัขสว่างขึ้นเมื่อมีการเล่นเสียงสัญญาณรบกวน และเสียงพูดปกติ และพบรูปแบบสมองที่แตกต่างกันเมื่อมีการเล่นภาษาที่มันคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยด้วย
Laura Cuaya ผู้รายงานการศึกษาและนักวิจัยที่ Eötvös Loránd เผยว่าสุนัขเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ต่อการนำมันมาทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ สนใจสิ่งที่คนเรากระทำหรือแสดงออกมาหรือไม่ เพราะพวกมันอาศัยและอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว
เป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้ คือการทดสอบทักษะที่เรียกว่าการแยกแยะทางภาษา หรือการทดสอบความสามารถด้านการรับรู้ และความสม่ำเสมอของการได้ยิน เช่น โครงสร้างของพยางค์ รูปแบบของความเครียดที่สื่อสารออกมา และลักษณะของระดับเสียงที่มีอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่ง
แน่นอนว่า มนุษย์มีความสามารถที่ว่าอยู่แล้ว เพราะการศึกษาในอดีตได้ระบุว่า Superior Temporal Cortex (สมองส่วนที่รับผิดชอบการประมวลผลด้านการได้ยิน) เป็นส่วนที่มีฟังก์ชันด้านการรับรู้ผ่านการฟัง ซึ่งยังพบว่าสัตว์อย่างหนูและนกกระจอกก็แยกแยะภาษาต่างๆ เมื่อได้รับการฝึกฝนได้เช่นกัน
Cuaya อธิบายการรับรู้ผ่านเสียงของสุนัขว่า มีกระบวนการที่เกิดขึ้นสองขั้นตอน
หนึ่ง. สมองของพวกมันจะตรวจจับว่าเสียงนั้นเป็นคำพูดหรือเปล่า โดยพิจารณาจาก ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ของเสียง
สอง. คือการประมวลผลในระดับที่ซับซ้อนขึ้น เรียกว่าการได้ยินขั้นทุติยภูมิ สมองของเหล่าสุนัขจะแยกแยะได้ว่าภาษานั้นมันคุ้นเคยหรือเปล่า
Cuaya เล่าว่าสาเหตุที่เธอลงมือทำวิจัยนี้ มาจากประสบการณ์ของเธอกับสุนัขของตัวเองที่ชื่อ Kun-kun ซึ่งได้รับการฝึกฝนเป็นภาษาสเปนในขณะที่มันอยู่ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเมื่อเธอย้ายมันมาที่ประเทศฮังการี ทำให้ Kun-kun ต้องเจอกับพื้นที่ของภาษาใหม่ เธอจึงเริ่มสงสัยว่ามันใช้งานทั้งสองภาษาได้ยังไงกัน
หลังการวิจัย เธอชี้ให้เห็นว่า Kun-kun และสุนัขตัวอื่นๆ เรียนรู้ภาษาใหม่ได้จริง และหวังว่าการค้นพบนี้ จะเป็นก้าวหนึ่งที่ช่วยให้คนเข้าใจพัฒนาการด้านการรับรู้คำพูดในสุนัขได้
Attila Andics นักวิจัยอาวุโสของ Family Dog Project แห่ง Eötvös Loránd เชื่อว่าสุนัขอาจมีความสามารถพิเศษด้านการทำความเข้าใจภาษาของคน ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิดระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองสายพันธุ์
แม้ว่า Andics จะไม่แน่ใจว่านี่เป็นความสามารถพิเศษของสุนัขอยู่แล้ว หรือว่าเป็นความสามารถโดยทั่วไปของสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าสมองของสุนัขได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะเวลาหลายหมื่นปีที่มันอยู่ร่วมกับมนุษย์มาเรื่อยๆ ทำให้น้องหมาเป็นสัตว์ที่ฟังภาษาคนได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปตายตัวซะทีเดียว เพราะเราอาจต้องค้นหาคำตอบให้แน่ชัดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
Source : Vice News |