ยามเย็นของตลาดแม่กลอง ตลาดติดทางรถไฟหุบร่มไปเรียบร้อย คุณแม่แวะมาหิ้วมื้อเย็นไปฝากครอบครัว เด็กนักเรียนถือไม้ลูกชิ้นทอดแกล้มกับน้ำอัดลม ชายหนุ่มวัยเก๋าฝังตัวอยู่ในบาร์เบอร์ที่น่าจะใช้บริการกันมาแต่นานนม หมาปลอกคอเขียวใส่เสื้อกั๊กสีส้มกระโดดขึ้นมอ’ไซค์วินอย่างคุ้นเคย เจ้าตัวอวบอ้วนสีดำไม่สนิทคาบตะกร้าเดินตามคนรู้ใจ ประชากรสี่ขาครับกระจายตัวไปทั่วตลาดอย่างกลมกลืน บ้างเล่นกับพ่อค้าแม่ขาย บ้างนอนทอดอารมณ์ไม่สนใจความเป็นไปของผู้ใด พอจะกล่าวได้ว่าบรรยากาศตลาดแห่งนี้ดูแสนคึกคักแม้เป็นวันธรรมดา
หากลองทอดน่องเลยมาทางโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นอกจากจะพบ ‘กล้าหาญ’ ดาราตลาดที่เราบอกว่ากระโจนขึ้นลงรถพี่วินฯ อย่างคล่องแคล่วไร้ความเขินอายแล้ว ‘โอวัลติน’ สามขาพันธุ์ซ่าก็ออกมาทักทายคนรู้จักตามประสา ปลอกคอสีเหลืองเตือนเราว่าอย่าพึ่งรีบทักทายเพื่อนใหม่คนนี้ คอยดูท่าทีความเป็นมิตรอีกสักนิดหนึ่งดีกว่า
“โอวัลตินนี่แล้วแต่คนเลยครับ ต้องดูท่าเขาหน่อยว่าจะให้จับหรือเปล่า” พี่หนึ่ง-ณัฐพงษ์ งามสง่า เจ้าของร้านดอกไม้หน้า รพ.สมเด็จฯ และผู้ก่อตั้งโครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลอง เอ่ยปากแล้วบอกว่าส่วนเจ้ากล้าหาญนี่ใครอยากเล่นด้วยก็เอาเลย เพราะเป็นมิตรกับทุกคนอยู่แล้ว ยิ่งกับพี่วินฯ นี่จะยิ่งซี้เป็นพิเศษ อยากขึ้นมอเตอร์ไซค์คันไหนก็ได้หมดแถมไม่เสียตังค์ด้วย
ใครบอกว่าหมาจรต้องจับเอาไปตอนสถานเดียวพี่หนึ่งบอกว่าไม่จริง เพราะถ้าออกแบบและวางระเบียบให้ดีหมาอยู่กับคนได้แน่ ว่าแต่เจ้าของเสื้อสีฟ้าคนนี้มีวิธีอะไร ฉายาผู้ใหญ่บ้าน (ของชาวสี่ขา) ทำยังไงถึงได้มา ปลอกคอที่ใช้สีจราจรบอกความเป็นมิตรใช้ได้ผลแค่ไหน ชวนอ่านไปพร้อมกันเลยครับ การันตีว่าถูกใจทั้งคนรักและไม่รักหมาแน่นอน
เริ่มจากคนรักหมา
ในโลกของคนรักหมาผู้ใหญ่บ้านชาวสี่ขาตลาดแม่กลองอย่างพี่หนึ่ง ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีคนนับหน้าถือตาไม่น้อย เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาหมาจร จับหมาไม่มีเจ้าของไปฉีดวัคซีน ทำหมันจนเสร็จสรรพ พี่แกยังเป็นเจ้าของเพจ @มัชเฌ Never Die อัศวินหมาดำ ที่สมัยก่อนเป็นไดอารีของเจ้ามัชเฌ ลาบราดอร์สีดำต้นตำรับเซเลบแห่งตลาดแม่กลองที่ดังถึงขนาดไปออกทีวีที่ญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาพบปะตัวเป็นๆ มาแล้ว
พี่หนึ่งบอกว่าตนเองเป็นคนแม่กลองโดยกำเนิด พอเรียนจบแล้วก็กลับบ้านมาประกอบอาชีพขายดอกไม้สด ทีแรกก็เฉยๆ กับสัตว์เลี้ยง แต่เผอิญไปบวชมาหนึ่งพรรษาเต็ม ได้ดูแลหมาวัดก็รู้สึกผูกพัน พอสึกออกมาก็อยากมีเพื่อนสักตัวก็ได้เจ้ามัชเฌนี่แหละมาเป็นคู่ซี้ ไปไหนไปกัน มาทำงานก็เอาลาบราดอร์เพื่อนยากมาด้วย
“พอเห็นเราเอาหมามาเลี้ยงที่ร้าน อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาหมามาปล่อย ตอนแรกผมก็ไม่ชอบหรอก ถึงจะเป็นลูกหมาแต่ก็ดูสกปรกมีเห็บมีหมัดไม่อยากให้มาเล่นกับหมาตัวเอง แต่เราก็ให้ยาป้องกันเห็บกับเจ้ามัชเฌอยู่แล้ว ก็แบ่งมาให้เจ้าตัวนี้บ้าง อย่างน้อยจะได้มาเล่นกับหมาเราได้ อีกอย่างก็สงสารด้วย คิดว่าเป็นเพื่อนลูกชายผม”
แม้จะไม่ใช่รักแรกพบ แต่โชคชะตาก็จับพลัดจับผลูให้อยู่ด้วยกันได้ ทีนี้พี่หนึ่งมีเหตุต้องไปทำธุระที่กรุงเทพฯ ก็เลยเอารูปถ่ายตัวเองขนาดนิ้วครึ่งที่มีอยู่แล้วมาเลี่ยมแล้วก็ห้อยคอเพื่อนลูกชายที่เป็นหมาจร ข้างหลังรูปก็เขียนลงไปว่าเป็นสุนัขที่อยู่ในความดูแลของตัวเอง ถ้าไปทำความเดือดร้อนให้ใครก็ยินดีที่จะขอโทษและรับผิดชอบโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงใส่เบอร์ติดต่อไว้ให้เรียบร้อย
“ผมรับผิดชอบหมาผมอยู่แล้ว ทุกคนจะรู้ว่าไอ้หนึ่งไม่ได้ห้อยเฉยๆ แต่ทำจริง ทีนี้คนก็เอามาปล่อยกันเยอะขึ้น ไม่ได้หวังให้ผมมาดูแลหรอก เพราะคนยังไม่ได้รู้จักผมในมุมนั้น ถ้าเป็นตอนนี้ล่ะก็แน่นอน (ฮา)”
หมากับคนอยู่ด้วยกันได้
วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อติดแอร์ ศาลาในหมู่บ้าน ข้างทาง ใต้รถ บนไฮเวย์ ไล่ไปที่ไหนในประเทศไทยก็แทบจะมีหมาจรจัดพักพิงอยู่แทบทั้งนั้น ต้องเรียนตามตรงว่าสถานะของหมาจรเหล่านี้ไม่ค่อยจะเป็นที่ต้อนรับสักเท่าไหร่ อาจจะเพราะความอันตราย ความสกปรก และอีกหลายปัจจัย
“สมัยก่อนคนกับสัตว์อยู่ด้วยกันไม่ได้ เดินมาใกล้ๆ นี่ไล่หมดนะ ยิ่งในตลาดยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่หมากับคนจะอยู่ร่วมกันได้” เจ้าของโครงการสุนัขชุมชนพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง แล้วก็บอกว่ารากฐานของโครงการนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้เจ้ามัชเฌผู้ล่วงลับ ที่เป็นสี่ขารายแรกๆ ของตลาดแม่กลอง ที่ทำให้เห็นว่าหมากับคนอยู่ด้วยกันได้จริง
“มัชเฌจะคาบตะกร้าจ่ายตลาดตามผมตลอด ผมเป็นไกด์ที่แม่กลองด้วยพอถ่ายเขาลงเพจ พาไปออกงานบ่อยๆ คนก็เริ่มยอมรับมากขึ้น เราก็ใช้ความดังให้เป็นประโยชน์แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวเรานะ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับหมาตัวอื่น มัชเฌจะเป็นสุนัขที่มีระเบียบวินัยมาก ไปไหนไม่มีถ่ายเรี่ยราด (หัวเราะ) พอหมาตัวอื่นมาเขาก็เริ่มยอมรับ เริ่มไม่ได้มองหมาว่าเป็นแค่หมาอย่างเดียว แต่มองเป็นเพื่อนที่อยู่ร่วมกับเราได้ ไม่ได้เอาแต่สร้างความเดือดร้อน
ต้องยอมรับความจริงว่าการที่จะเริ่มยอมรับอะไรก็เห็นจากอะไรที่สบายตา (หมายถึงไม่ขี้เรื้อนและไม่สกปรก) ผมไปบังคับให้ใครเชื่อไม่ได้ แต่เราต้องทำให้มันดี แล้วเขาจะยอมรับเอง”
แม้จะไม่ได้เพอร์เฟกต์ ขนสวยฟูฟ่อง น่ากอด น่าเล่นไปหมดทุกตัว แต่หลังจากตามพี่หนึ่งพาลัดเลาะเข้าวัดเข้าวา เดินทะลุตลาดจนทั่ว ปัญหาคลาสสิกอย่างขี้เรื้อนขอบอกเลยว่ายังไม่มีให้เห็น เพราะถูกจับใส่ยาเรียบร้อย แถมคุมกำเนิดให้ด้วย
แต่เดิมเจ้าของร้านดอกไม้ดูแลหมาจรจัดในตลาดแม่กลองจนเป็นกิจวัตร หมาตัวไหนไปทำปัญหาอะไรให้กับใครก็ตามไปจัดการดูแลให้ รับผิดชอบหมดทุกตัว จึงคิดว่าไหนๆ ก็รับผิดชอบให้ทุกปัญหาอยู่แล้ว และอยากจัดระเบียบให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็เลยเกิดแนวคิดในการก่อตั้งโครงการสุนัขชุมชนขึ้นมา
“จุดประสงค์อย่างแรกคืออยากให้สุนัขอยู่ร่วมกับคนได้ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่สุดสำหรับโครงการนี้ ผมเองมาเริ่มทำในตลาด เป็นพื้นที่ที่ท้าทายมาก”
โครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลอง
สมุทรสงครามเป็นเมืองท่องเที่ยว และตลาดแม่กลองก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายยอดนิยม และมีคนต่างถิ่นมาท่องเที่ยวเป็นประจำ ระหว่างการประชุมในจังหวัดก็มีการคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างไร ทีนี้พี่หนึ่งก็มองว่าถ้าปล่อยให้คนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่ได้คลุกคลีกับสุนัขมาแก้ปัญหา ผลลัพธ์ก็คงจะออกมาไม่ดีเท่าไหร่ในสายตาคนรักสัตว์
“ผมต่อยอดจากสิ่งที่ตัวเองทำอยู่แล้วมาตั้งเป็น ‘โครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลอง’ แล้วอย่าไปคิดว่าโครงการนี้มันยิ่งใหญ่ ต้องใช้คนดูแลมาก ใช้เงินทุนเยอะ เพราะที่จริงแทบจะไม่ต้องใช้อะไรมากมายเลย”
ถึงเจ้าตัวจะบอกว่าไม่ใช่โครงการที่ยิ่งใหญ่มากมายอะไร แต่คนนอกอย่างเราก็เห็นว่ามีภาระหน้าที่ให้ต้องจัดการไม่น้อย อย่างแรกต้องจับสุนัขทุกตัวในโครงการไปทำหมันให้หมด เพื่อตัดวงจรการเกิดสุนัขจรจัดตัวใหม่ อย่างที่สองคือหน้าที่รายปีเช่นการฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า หรือวัคซีนรวม และรายเดือนคือการให้ยาเห็บหมัด เพราะอย่างที่บอกไปว่ากลไกที่จะทำให้หมาอยู่กับคนได้คือต้องสะอาด น่ามอง ก่อนเป็นอันดับแรก
“ที่เหลือก็เป็นการแก้ปัญหากันไปรายวัน ใครมีปัญหาอะไร หรือมีหมาหลงเข้ามาก็โทรให้ผมเข้าไปช่วยดู เราก็เปรียบเสมือนผู้ใหญ่บ้านมีลูกบ้านเป็นหมา (ยิ้ม) อธิบายอย่างนี้น่าจะเห็นภาพ ผู้ใหญ่บ้านไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลตลอดเวลา แต่เวลามีข้อร้องเรียนเราต้องจัดการได้ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้เยอะแยะอะไรเพราะเป็นโครงการเพื่อสังคมเราขอการสนับสนุนได้ บางทีบริษัทวัคซีนก็ติดต่อมาเพราะว่าอยากทำบุญ จัดหมอลงมาฉีดให้ถึงที่ คุณทำไปเหอะมีคนช่วยอยู่แล้ว”
โครงการสุนัขชุมชน คือการวางกรอบในการดำเนินชีวิตให้กับหมาจรจัดในตลาดแม่กลอง ซึ่งการดูแลหมาแบบปกติที่เราคุ้นเคยกันนี่แหละ ที่ทำให้ความประพฤติของหมาดีขึ้น
“พอทำหมันหมาก็จะไม่ติดสัด ไม่กัดกัน ไม่ออกันเป็นกลุ่ม รถผ่านก็ไม่หงุดหงิด ไม่กัดใคร พูดง่ายๆ คือเราตัดวงจรไม่ให้ดื้อ ตกเย็นมาผมก็ให้อาหาร หมาจะมีพื้นที่ประจำของตัวเองก็มีคนช่วยให้ทั้งตลาดอยู่แล้ว ทีนี้ก็จะอยู่กันเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก เราเห็นคนที่ไม่รู้จักเดินผ่านมาก็ไม่มีปัญหาใช่ไหม หมาก็เหมือนกันนั่นแหละ ต่างคนต่างใช้ชีวิตไม่ต้องมาทะเลาะกัน”
เขียวเล่นได้ เหลืองควรระแวง ส่วนแดงต้องระวัง!
สัญลักษณ์ไฟสามสีสุดสากลที่ใครพบใครเห็นก็เข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการอธิบายให้มากความ ในเมื่อหมาพูดไม่ได้ ก็อาศัยให้ปลอกคอบอกแทนแล้วกันว่าเจ้าสี่ขาแต่ละตัวมีลักษณะนิสัยแบบไหนกันแน่ ในฐานะที่ตลาดแม่กลองคือแลนด์มาร์กสุดฮิต ถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และชาวปลาทูจะรู้จักมักจี่กับเพื่อนสี่ขาแค่ไหน แต่นักท่องเที่ยวขาจรคงไม่รู้หรอกว่าตัวไหนเล่นได้ ตัวไหนอย่าไปยุ่ง ปลอกคอสีเขียว เหลือง แดง จึงเข้ามาช่วยได้เป็นอย่างดี
“สีเหลืองจะเยอะมากที่สุด สีเขียวรองลงมา ผมใช้วิธีการแบ่งสีเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ถามว่ารู้ได้ยังไงว่าตัวไหนต้องเป็นสีอะไร ต้องบอกว่าผมเป็นคนที่คิดเผื่อคนอื่น ผมไม่ได้ทำโครงการนี้เพื่อตัวเอง อย่างเจ้าโอวัลตินเนี่ยมันจะน่ารักกับผม เพราะผมเลี้ยงมา แต่กับคนอื่นบางทีมันก็ไม่โอเค ทุกอย่างเราจะใช้วิธีสังเกตเรียนรู้เขา บางตัวจะนิสัยดีกับคนที่ให้ข้าว ผมก็ปรับเป็นสีเหลืองเพราะกับคนอื่นไม่ได้ทำตัวดีด้วย กับผมมันยังไม่ดีด้วยเลย (ฮา) ถ้ากับผมไม่ดีก็เป็นสีเหลืองแล้ว”
สุนัขชุมชนของที่นี่ไม่ใช่ว่าทำตัวดีครั้งเดียวจะได้อวยยศตลอดไป เพราะมีขึ้นชั้นตกชั้นกับเขาด้วยเหมือนกัน หากความประพฤติแย่ทำตัวไม่เหมาะสมก็อาจจะถูกปรับจากสีเขียวมาเป็นสีเหลือง แต่ถ้าเรียนรู้ได้นิสัยดี จากเหลืองก็ขึ้นชั้นไปเขียวกับเขาได้ด้วยเหมือนกัน พี่หนึ่งบอกว่าที่มาของไอเดียนี้คือมีคนรู้จักนำสุนัขไปอยู่ด้วยที่อังกฤษแล้วถ้าหมาดุเขาจะใส่ปลอกคอสีแดงเป็นการเตือน ก็เลยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของที่นี่
เมืองจะดีได้ ถ้าหมาดีด้วย
ลิ้นกับฟัน น้ำกับไฟ เสือกับสิงห์ หมากับแมว คนกับหมา คู่หลังสุดนี่กว่าจะทำให้อยู่ด้วยกันแล้วไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องพูดจาตกลงกันอยู่นาน แม้โครงการสุนัขชุมชน ตลาดแม่กลองจะมีอายุราว 2 ปี แต่ผู้ใหญ่บ้านของชาวสี่ขาที่เรากำลังคุยด้วยลงแรงเรื่องนี้มานานมากแล้ว พี่หนึ่งบอกว่าสิ่งที่น่าดีใจที่สุดคือการทำให้คนไม่รักสัตว์ยอมรับ และเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์
“คนรักสัตว์ชอบอยู่แล้วที่จะทำให้หมาอยู่ร่วมกับคนได้ แต่คนที่ไม่รักนี่สิเขาก็ชอบเหมือนกัน เพราะเขารู้ว่าผมทำจริง และเห็นได้เลยว่าหมาเป็นระเบียบมากขึ้น เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น พูดอย่างแย่ที่สุดถ้าวันหนึ่งเขาโดนกัดขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อเพราะหมาฉีดวัคซีนแล้ว บางคนแจ้งมาเองด้วยซ้ำว่าหมาอยู่ตรงไหนให้ผมเข้าไปดู เชิญชวนให้หมาเข้าโครงการ พออยู่นานไปมันก็เหมือนกับการสร้างเครือข่ายเข้าไปในตัว นี่เป็นเรื่องที่ผมโคตรภูมิใจเลย เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดในชีวิตแล้วด้วยซ้ำ”
ตะวันคล้อยต่ำในขณะที่เราเดินสำรวจประชากรหมา สายลมหนาวพัดมาพร้อมฟ้าครึ้มเตือนว่าฝนเจ้ากรรมน่าจะหนักเม็ด เป็นสัญญาณเตือนว่าเวลาเก็บภาพเหลือน้อยลงทุกที ช่างภาพมือหนึ่งของเราเดินเก้กังเล็กน้อยในการถ่ายภาพเจ้าของปลอกคอสีแดง แต่พวกเราที่เหลือยังเฉยๆ เพราะยืนอยู่ค่อนข้างห่าง แถมเดินตามหลังผู้ใหญ่บ้านชาวสี่ขามาด้วยจะกลัวอะไร
“ผมว่าสุนัขมันอยู่กับชุมชนได้” พี่หนึ่งย้ำอีกครั้ง “อยู่ร่วมกับชุมชนนี่แหละคือวิธีในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้ดีที่สุด ตอนนี้ผมทำโครงการออกมา อธิบดีกรมปศุสัตว์ก็เห็นด้วยจนออกนโยบายให้แต่ละเทศบาล แต่ละจังหวัดจัดทำโครงการสุนัขชุมชนขึ้นมา ต่อยอดกันไปหลายที่ เชียงใหม่ก็มี อีสานก็มี กรุงเทพฯ ก็มี ในจังหวัดผมผมก็ทำอีก โรงเรียน วัด กับสุนัขมันแยกกันไม่ขาด เราไม่สามารถเอาหมาทุกตัวออกจากโรงเรียนได้ เราก็ต้องทำให้โรงเรียนเรียนรู้ที่จะอยู่กับหมาให้ได้
“สิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือสอนเด็กรุ่นใหม่ให้เลี้ยงสุนัขให้เป็น เลี้ยงแมวให้เป็น คนเราพอเลี้ยงเป็นแล้วอันดับแรกจะรู้ว่าตัวเองพร้อมเลี้ยงเมื่อไหร่ พอรู้ว่าพร้อมเมื่อไหร่แล้วเราจะเลี้ยงได้ดีเอง สุดท้ายก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ปล่อยสัตว์ทิ้งๆ ขว้างๆ”
เจ้าของสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์เดินทางทักทายคนในตลาดอย่างเป็นกันเอง ถามไถ่ทั้งสารทุกข์สุกดิบของคนรู้จัก พร้อมเช็กความเป็นอยู่ของลูกบ้านไปพลางๆ เมื่อวันใกล้จะสิ้นสุดลง รอยยิ้มถูกแจกให้กันง่ายขึ้นเป็นพิเศษ หรืออาจจะง่ายเป็นธรรมดาของคนที่นี่อยู่แล้วก็ได้
“ผมโตมาแบบนี้ผมรักเมืองตัวเองมาก ผมเนี่ยโกหกว่าเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ พูดมาไม่กี่ประโยคเขาก็รู้หมดแล้วเหน่อขนาดนี้ (หัวเราะ) ผมเป็นคนที่ภูมิใจในสำเนียงตัวเองและรักแม่กลองมาก ที่ผมตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องหมาก็เพราะผมรักเมืองนี้นะ ผู้ว่าฯ คนไหนเขาเก่งเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องสาธารณสุข ทำไมไม่เห็นสนใจหมากันเลย ทั้งที่หมามันเกี่ยวกับทั้งสองเรื่อง สนใจกันเฉพาะตอนเป็นพิษสุนัขบ้าทั้งที่มันเป็นแค่ปัญหาหนึ่งในอีกหลายปัญหาของหมาด้วยซ้ำ ถ้าเราทำให้สังคมหมาดี มันก็เข้ากับสังคมคนได้ พอคนมีความสุขเมืองก็มีความสุขตามไปด้วย มันต่อยอดไปเรื่อยๆ ถ้าเราสนใจแต่การพัฒนาเมืองโดยไม่สนใจปัญหาเล็กๆ ที่อยู่รายทาง มันก็ไม่จบหรอก
“ผมหวังให้ทุกคนมีความสุข แล้วให้เมืองที่ผมรักผมเติบโตมามีความสวยงาม ยิ่งมันเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย เป็นหน้าเป็นตาของบ้านผม ถ้ามันสมบูรณ์แบบเราก็มีความสุข ผมยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน มีคนติดต่ออยากมาเที่ยวผมพาไปดูหมาได้เลย เดินจนทั่วหมดแล้ว (หัวเราะ)”
หลังจากเดินท่องตลาดแม้อาจจะยังไม่ทั่วเท่าพี่หนึ่ง เราพบว่าหมาแต่ละตัวของที่นี่จะมีพฤติกรรมต่างกันไปครับ บางตัวเข้าสังคมเก่งมากครับ มีลูกอ้อนให้เห็นตลอด บางตัวแค่เดินเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรก็เรียกรอยยิ้มได้แล้ว ส่วนบางตัวอาจจะขออยู่คนเดียวไม่สนใจใคร อันนี้ก็ว่ากันไม่ได้ ว่ากันตามตรงคือปลอกคอสีนี่ช่วยได้จริงครับ เรากล้าที่จะเล่นกับหมาที่ยินดีต้อนรับ เราเดินได้สบายใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนแว้งกัด ไม่มีตัวไหนแยกเขี้ยวขู่ อย่างมากก็ต่างคนต่างอยู่แค่นั้นเอง และเราก็คุยกันเองว่าต่อไปนี้ถ้าพูดถึงสมุทรสงครามคงไม่ได้นึกถึงแต่ปลาทูแล้วแน่ๆ