“ประเทศเราไม่ใช่จุดหมายปลายทางด้านเซ็กซ์ หากคุณต้องการเซ็กซ์ ให้ไปประเทศไทย”
ประโยคจู่โจมบ้านเราจากนายฮามัต บาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวแกมเบีย ออกมาประกาศผ่านสื่อเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวแกมเบียเพื่อเสพสุขทางเพศว่า ‘ไม่ต้องมาที่บ้านเขาหรอก โกทูไทยแลนด์ไปเลยดีกว่า’ ทำเอาชาวไทยออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้น ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่พออกพอใจ ถึงขั้นที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมออกมาพูดว่า ถึงในอดีตบ้านเราจะ “เคยจัด SEX Tour” จริง แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้วนะ!
แต่ยังมีเสียงอีกส่วนที่มองมุมกลับและลองคิดถึงสาเหตุที่นายบาห์พูดแบบนั้น เพราะว่ากันตามจริง พี่ไทยเราก็ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีการค้าบริการทางเพศรายใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชีย (เป็นน้องรองจากแดนอาทิตย์อุทัย และเมืองโสมกิมจิ) และมีสถิติผู้ขายบริการทางเพศมากถึง 2 ล้านคน เราเลยชวนมาล้วงลับเบื้องลึกเบื้องหลังของ “การขายบริการทางเพศ” ให้ลองขบคิดกัน
ร่างกายเป็นต้นทุน
Michel Foucault นักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เรื่องอำนาจกับบริบทรอบข้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับร่างกายในเรื่อง “Discipline and Punishment” – ร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย (Docile Body) มองว่าร่างกายคนเราอาจถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัวภายใต้การครอบงำด้วยความรู้ และชุดวาทกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจ ดั่งเช่น วาทกรรมว่าด้วย ร่างกายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม
“อำนาจปฏิบัติการอยู่ทุกที่ในสังคม รวมถึง ‘ร่างกายมนุษย์’ ด้วย”
จากวาทกรรมร่างกายมนุษย์เป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่ครองโลกอย่างทุนนิยม จึงเกิดความเชื่อที่ว่า ร่างกายของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนหรือระบบเศรษฐกิจที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในตลาด ดังนั้น ร่างกายจึงสยบยอมต่ออำนาจทุนและอำนาจเงิน ผสมเข้ากับเรื่อง “การเป็นนายตัวเอง” (Self Mastery) ที่มองว่าเราสามารถสร้างตัวตนของตัวเองแบบใหม่ขึ้นมาได้อย่างเต็มใจ กลายเป็นร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย สู่การใช้เรือนร่างเป็นต้นทุน ผลิตตัวเองเป็นสินค้าเข้าสู่อาชีพการขายบริการทางเพศ ที่บางคนเต็มใจและเลือกแล้วที่จะทำอาชีพนี้
เพศ กับ การขายบริการ
- หญิงขายบริการ
เรารู้กันอย่างดีแล้วว่า มีผู้หญิงโลดแล่นในวงการของการขายบริการ ซึ่งถ้าเท้าความกันจริงๆ มันเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมันโบราณด้วยซ้ำ ผ่านประเพณีพลีพรหมจรรย์เพื่อบูชาเทพเจ้า ทำให้หญิงสาวหลายคนที่ศรัทธา สมยอมพลีกายให้ชายแปลกหน้าในวิหารหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมต่างๆ ต่อมาในยุคคริสต์ศาสนา พิธีกรรมนี้ถูกยกเลิกไป แต่ถูกเปลี่ยนผ่านสู่การขายบริการทางเพศที่มีค่าตอบแทนให้ จนเกิดเป็น “สำนักโสเภณี” เปิดให้ใช้บริการกันอย่างเปิดเผย ลากยาวถึงปัจจุบันที่มีทั้งเปิดเผยแบบถูกกฎหมาย และแอบกินกันลับๆ
ซึ่งมีผลวิเคราะห์แบบ Big Data จากคุณชารินทร์ พลภาณุมาศ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่สำรวจจากฐานข้อมูลเว็บไซต์ยอดนิยมในหมู่ผู้ซื้อและนักท่องเที่ยว โดยอ้างอิงราคา อายุ รูปร่างสัดส่วน กิจกรรมทางเพศที่ให้บริการ สถานที่รับงาน และเบอร์ติดต่อออกมาแล้วว่า แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ มีผู้หญิงขายบริการทางเพศกว่า 693 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่รีเสิร์ชจากเพียงในโลกออนไลน์ แต่ที่เรายังไม่รู้ หรือยังไม่เปิดเผยกัน คงมีมากมายนับไม่ถ้วน
- ชายขายน้ำ
นอกจากจะมีหญิงขายบริการที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ชายขายบริการ’ เกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเพศภาวะ หรือเพศวิถี รวมถึงการเปิดกว้างของสังคม ทำให้การขายบริการไม่ได้จำกัดแค่เพศหญิงเท่านั้น แต่ยังมีเพศชาย รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย โดยต้นกำเนิดของผู้ชายขายบริการทางเพศ เกิดจากการรับค่านิยมตะวันตกเข้ามา ทำให้ผู้หญิงเริ่มกล้าที่จะเข้าไปใช้บริการทางเพศกันมากขึ้น ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการจะมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป
คุยกับคนขาย
ได้รู้ถึงเรื่องราวของความเต็มใจที่พาร่างกายไปขายบริการกันไปแล้ว เราขอปิดท้ายอย่างดุเดือดกับบทสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟของหญิงขายบริการบริเวณรอบองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ที่เพื่อนเราเคยไปสัมภาษณ์มาครั้งทำวิจัยสมัยเรียน
พี่หนึ่ง (นามสมมติ) / 44 ปี
Q : ก่อนมาทำอาชีพนี้?
A : ไม่ได้ทำอะไรจริงจังมาก่อน
Q: ทำมานานแค่ไหนแล้ว ทำไมถึงเลือกมาทำที่นี่?
A : ทำมาประมาณ 7 – 8 ปี แต่ไม่ได้ทำทุกวัน 1 เดือนอาจจะประมาณ 10 – 15 วัน
Q : วันหนึ่งรับเยอะไหม?
A : 5 – 6 รอบ แต่ถ้าบางคนเขาขี้เกียจก็ 2 รอบ บางคนทำแค่บางวัน บางคนทำทุกวันก็ได้เยอะมันก็แล้วแต่เขา
Q : มีเคสที่เคยปฏิเสธไหม?
A : พวกคนเมาน่ะ ไม่เอาเลย
Q : ป้องกันตัวเองหรือเปล่า?
A : ป้องกัน ใส่ถุงยางทุกครั้ง ปกติผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้จะมีชื่อขึ้นตรงต่อสาธารณสุข จะมีการตรวจเลือดเป็นประจำทุกเดือน และมีการตรวจภายในทุกๆ 2 – 3 เดือน ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละคน
Q : รายได้แต่ละวันพอไหม?
A : รายได้จะขึ้นอยู่กับความขยัน ถ้าขยันก็จะได้มาก แต่หลักๆ แล้วคือพอนะ ซึ่งเงินที่ได้ก็จะส่งกลับไปให้ที่บ้านมี พ่อ แม่ พี่ น้อง และหลาน
Q : ทำไมถึงทำอาชีพนี้?
A : ก็ไม่มีเหตุผลมากมายหรอก จริงๆ คืออยากได้เงินนั่นแหละ และคิดว่าเป็นอาชีพที่สบาย
Q : รู้สึกว่าคนอื่นมองอาชีพนี้อย่างไร และตัวเองมองอาชีพนี้อย่างไร?
A : เข้าใจเขานะว่าชาวบ้านเขาจะรังเกียจ แต่อาชีพนี้ทำให้เลี้ยงครอบครัวได้ ถ้าไม่มีอาชีพนี้ก็คิดว่าคงแย่ บางคนทำจนส่งลูกเรียนจบ ป.ตรี มีรถเก๋งขับก็มี
Q : รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นไหม แล้วรู้สึกอย่างไรที่คนมองว่าอาชีพขายบริการไม่ดี?
“ไม่สนนะ เพราะตอนเราไม่มีเขาก็ไม่ได้ให้เงินเรา เวลาเราไม่มี ห้าบาทเขายังไม่ให้เราเลย เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครด้วย”
Sources :
– Blogger
– The Matter
– งานศึกษาวิวัฒนาการแต่ละช่วงความเป็นมาเกี่ยวกับการบริการทางเพศ กรณีศึกษาหญิงขายบริการบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม โดยนักศึกษาภาควิชาสังคมศาสตร์การพัฒนา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)