ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive มีนาคม 2567

ผมอยากชวนให้เพื่อนๆ ทุกคนมองอีกครั้งว่า ของดีไซน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ตามริมทางของผู้คนในเมือง ไม่ว่าโต๊ะเก้าอี้หรืออะไรก็ตามที่ดูตื่นตาตื่นใจนั้น นอกจากไอเดียการสร้างสรรค์ทำของพวกนี้ที่น่าชื่นชมแล้วนั้น ของเหล่านี้มักถูกเคลือบแฝงไปด้วยปัญหาของการออกแบบเมืองสารพัดที่ไม่ได้ถูกคิดมาเผื่อแต่แรก ทำให้เกิดการพยายามสร้างสรรค์และแก้ปัญหากันเองของผู้คน ด้วยวิธีการประดิษฐ์หรือเทคนิคดัดแปลงต่างๆ ด้วยวัสดุและสิ่งของใกล้ตัวโดยเฉพาะที่หาได้ในพื้นที่เมือง

เราสามารถนิยามคอนเซปต์ของการสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาเมืองนี้ได้ว่า ‘ความเป็นอยู่พื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในเมือง หรือ Urban Vernacular’ ซึ่งเราอาจจะเรียกมันว่า ‘สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง’ หรือเรียกย่อๆ ว่า ‘งานออกแบบพื้นถิ่นเมือง’ ก็ได้แล้วแต่ถนัด

ไอเดียพื้นถิ่นเมืองนี้ถือว่าเป็นรากความคิดเดียวกับพื้นถิ่นตามชานเมืองหรือต่างจังหวัดอย่างที่เพื่อนๆ หลายคนมักคุ้นเคย เช่น บ้านเรือนพื้นถิ่นที่มักมีใต้ถุนยกสูงไว้หนีปัญหาน้ำท่วม มักมุงหลังคาด้วยใบจากหรือใช้เสาจากต้นไม้ไผ่ เพราะวัสดุธรรมชาติเหล่านี้หาง่ายรอบตัว ในทำนองเดียวกันกับพื้นถิ่นเมืองอย่างเก้าอี้วินมอเตอร์ไซค์ที่จำเป็นต้องตัดขาหลังออก และเอาไปวางคร่อมกับกระบะต้นไม้หลบทางเดิน ก็เพราะปัญหาทางเท้าที่แคบเกิน หรือการพยายามทำหลังคากันแดดของซุ้มวินมอเตอร์ไซค์จากแผ่นป้ายหาเสียง เพราะเป็นวัสดุที่เหลือทิ้งไว้จากการเลือกตั้งในพื้นที่เมือง

ด้วยฐานคิดนี้แล้ว ทำให้ผมคิดว่าเวลาที่เราเจอดีไซน์สนุกๆ ข้างทางเหล่านี้ เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องมองให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเอาไว้ควบคู่กันเสมอ และน่าจะเป็นการดีที่คอลัมน์ ‘ดีไซน์-เค้าเจอ’ รอบนี้ จะขอชวนเพื่อนๆ ลองฝึกสายตาในการมองของพื้นถิ่นเมืองเหล่านี้ไปกับผมอีกครั้ง เผื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจเพิ่มเติม เวลาเพื่อนๆ บังเอิญเจอของเหล่านี้ที่ตามปากซอย อาจจะได้รู้สึก เอ๊ะ ตรงนี้มันมีปัญหานี้เกิดขึ้นนี่หว่า และเขาแก้กันแบบนี้เอง

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Table + Floor Balance

ขาลอยไม่ใช่แค่คำว่าอยู่เหนือปัญหา แต่โต๊ะที่ขาลอยในเชิงปฏิบัตินั้นคือปัญหาที่แท้ และอาจทำให้เกิดการล้มคว่ำได้ โดยเฉพาะตามร้าน Street Food ที่จัดพื้นที่ให้เรามีโต๊ะวางของนั่งกินได้ หลายครั้งโต๊ะเหล่านั้นมักไม่สามารถวางได้เต็ม 4 ขา ขาฝั่งใดฝั่งหนึ่งมักมีสิทธิ์จะลอย เนื่องด้วยฟุตพาทตรงนั้นๆ แคบเกินไป เพราะไม่ได้คิดมาเผื่อการมี Street Food นั่นแหละ

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นการพยายามทำของเพื่อเติมความสูงของขาโต๊ะให้เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ โดยเห็นได้ตามร้านรวงประเภทริมทางนั่นเอง ตัวอย่างรูปขาโต๊ะนี้ที่ผมเจอที่ถนนเยาวราช เป็นการตัดท่อนท่อน้ำพีวีซีมาสวมใส่ขาโต๊ะที่ลอยออกมาจากทางฟุตพาท เพื่อเพิ่มความสูงขาให้พอดีและวางบนถนนได้ เพียงแค่นี้ก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายแล้ว

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Sale Display + Table

คำว่าหาบเร่แผงลอยในปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะเริ่มนึกภาพออกไม่ค่อยตรงกันแล้ว เพราะการปรากฏตัวของเหล่าหาบเร่แผงลอยเดี๋ยวนี้มักมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายและคาดเดาไม่ได้ ไม่เป็นแค่หาบที่ยกมาตั้งเหมือนแต่ก่อน

แต่ถึงอย่างนั้น หัวใจของหาบเร่แผงลอยเดิมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือลักษณะโครงสร้างที่จำเป็นต้องน้ำหนักเบา พร้อมเคลื่อนที่หายไปได้ตลอดเวลา และสามารถอยู่กับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้อย่างพอดีตัว ไม่รบกวนทางเดินมากเกินไป อย่างภาพแผงลอยข้างทางที่ผมเจอแถวคลองถมในรูปนี้ เป็นการใช้วัสดุท่อน้ำพีวีซีมาตัดต่อเป็นโต๊ะสำหรับวางของขายที่มีขาแค่ฝั่งเดียว แต่ใช้ขอบของตัวอาคารที่โต๊ะไปตั้งอยู่ค้ำเป็นขาอีกฝั่งแทนที่ด้านหลัง อันเป็นการยุบรวบพื้นที่โต๊ะไปกับขอบอาคารเพื่อไม่ให้เกะกะทางเดิน ทั้งนี้ยังเป็นการดีไซน์โต๊ะที่เบาและถอดประกอบเก็บกลับได้สะดวกตามนิยามของหาบเร่แผงลอยนั่นเอง

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Clothes Dryer

หลายพื้นที่ในเมือง ผมเชื่อว่าหลายบ้านนั้นยังจำเป็นต้องหาวิธีนำเสื้อผ้ามาตากที่บริเวณหน้าบ้าน เพราะในตัวบ้านเองมักไม่มีพื้นที่ที่ได้รับลมและแดดลงเพียงพอ แต่นั่นแหละ พื้นที่หน้าบ้านแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

กลายเป็นว่าเราจะเห็นภาพการพยายามหาวิธีตากผ้าหน้าบ้านในรูปแบบต่างๆ ทั้งเอาราวแขวนมาวางง่ายๆ ทั่วไป ยันการดีไซน์วิธีตากผ้าด้วยราวแขวนผ้าสองตัวมาคล้องไขว้กันกลับหัวไปมา แล้วนำไปเกี่ยวเหล็กดัดรั้วประตูหน้าบ้านอีกทีแบบรูปนี้ ที่อาจเป็นการตั้งใจทำให้สัดส่วนความสูงในการแขวนผ้านั้นพอดีกับสรีระของผู้ตากผ้าเอง รวมถึงมีความตั้งใจเพิ่มช่องระหว่างแนวรั้วกับตัวเสื้อผ้าไม่ให้มันแนบกัน ด้วยการใช้หูของราวแขวนตัวแรกไปค้ำไว้กับรั้วอีกทีแบบเฉียงๆ นั่นเอง

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Clothes Dryer

ต่อเนื่องในเรื่องตากผ้า เรายังเข้าไปซูมดูใกล้ๆ ที่ราวตากผ้าหน้าบ้านคนอื่น เพื่อมองหาดีเทลการดีไซน์สำหรับแก้ปัญหาเพิ่มเติมได้อีกด้วย

อย่างการใช้สายรัดเคเบิลไททำเป็นวงคล้องที่ไขว้กับเคเบิลไทอีกเส้น และรัดไว้กับราวตากผ้าแบบรูปนี้ คล้ายๆ เป็นห่วงสำหรับคล้องหูราวแขวนเสื้อแบบทีละตัว ซึ่งการที่มีดีเทลหูคล้องเล็กๆ แบบนี้ก็เพื่อกำหนดระยะแขวนผ้าที่เหมาะสม รวมถึงมีไว้เพื่อแก้ปัญหาที่เมื่อผ้าตากๆ ไปแล้วลมอาจพัดแรงทำให้เสื้อที่แขวนถูกดันไปกองรวมกันที่ข้างใดข้างหนึ่ง นับเป็นภูมิปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจมองข้ามไป เพราะปีศาจมักซ่อนอยู่ในรายละเอียดนั่นเอง

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Stuff Storage

อาชีพพนักงานทำความสะอาด นับเป็นอาชีพในเมืองไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ริมทางที่มีความสำคัญและหลายคนมักมองข้าม กลายเป็นว่าอุปกรณ์ทำความสะอาดของเหล่าคนทำอาชีพนี้ อันได้แก่ ไม้กวาดทั้งขนาดเล็กใหญ่และที่โกยขยะนั้น ก็มีความจำเป็นต้องถูกจัดเก็บในพื้นริมทางอยู่ตลอดเวลา โดยที่พวกเราอาจไม่ทันสังเกต เพราะบางครั้งมันอาจเนียนอยู่กับพุ่มต้นไม้ที่ริมทางไปเลยก็มีแบบรูปนี้

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Floor Water Draining

ทางเดินในซอยแคบๆ ตามพื้นที่ชุมชนหนาแน่น หากเดินไปเรื่อยๆ โดยมองแต่ที่ปลายทาง เราอาจจะไม่รู้เลยว่าในซอยนี้มีปัญหาอะไรอยู่ ต้องลองก้มหน้ามองไปตามพื้นถนนบ้าง

เพราะเราอาจจะได้เจอทางร่องน้ำเล็กๆ ที่ลากโยงใยเป็นเส้นไปมาตามพื้นซอย ที่ไปจบปลายทางที่ฝาท่อระบายน้ำแบบรูปนี้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า ซอยนี้อาจมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่นองบนพื้นถนนแน่ๆ กลายเป็นว่าร่องน้ำนี้ที่ใครทำก็ไม่รู้เป็นการช่วยลากน้ำลงกลับไปที่ท่อสาธารณะนั่นเอง

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Slope Wheel Stopper

ในช่วงเวลาหนึ่ง เราจะเห็นเหล่ารถเข็นขายของไปจอดแอบไว้ตามมุมซอกซอยหรือในจุดที่ลับตาผู้คน และแน่นอนว่าเหมือนการจอดรถยนต์ รถเข็นเหล่านี้ก็จะต้องมีการจอดที่ล้อถูกหยุดไว้นิ่งๆ เหมือนมีเบรกมือ

ผมได้เจอรถเข็นจำนวนหนึ่งที่จอดทิ้งไว้กลางสะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่คนไม่ค่อยเดินผ่านกัน ซึ่งมีความตั้งใจทำที่หยุดล้อรถเข็นไว้ในตำแหน่งที่เอียงสุดๆ ไปตามสโลปของสะพาน โดยการเชื่อมเหล็กกล่องเป็นชิ้นสามเหลี่ยมเล็กๆ ทำเป็นเหมือนเนินไว้ค้ำพอดีล้อของรถเข็นแบบรูปนี้ ถือเป็นการท้าทายระบบของแรงโน้มถ่วงที่ดูตั้งใจดี

ดีไซน์ การออกแบบ Urban Vernacular สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมือง

Wheel Stopper

นอกจากการจอดรถเข็นทิ้งเก็บไว้ริมทางในแบบที่ต้องทำที่หยุดล้อแบบจริงจัง ในลักษณะเดียวกันเวลาที่รถเข็นถูกเข็นไปจอดเพื่อทำการค้าในทำเลทอง การหยุดล้อจอดรถเข็นในลักษณะนี้ก็มักมีความจริงจังที่น้อยกว่า เพราะต้องพร้อมเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลา

ที่สี่แยกปากซอยบ้านผม ผมเจอร้านรถเข็นคันหนึ่ง ใช้คลิปหนีบกระดาษเล็กๆ มาวางขัดเหมือนเนินเล็กๆ สำหรับหยุดล้อ อันที่จริง นี่เป็นวิธีการหยุดล้อในทำนองเดียวกับรูปก่อนหน้าเลย แต่เป็นแบบมินิมอล ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีเลือกหยิบของเล็กๆ รอบตัวมาใช้ได้ถูกที่ น่าชื่นชม

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.