ตอนที่เดินไปยังสถานที่นัดหมาย ทุกตึกบนถนนเส้นนั้นหน้าตาดูเหมือนกันไปหมด แต่สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าประตูบานนี้เป็นของร้าน Day/DM Cafe แน่นอนคือ ธงสีรุ้งและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศที่ประดับประดาอยู่ รวมถึงโลเคชันที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้าหลีตีเมี้ยวตามคำบอกเล่าของเจ้าของร้าน
พอเดินเข้าไปในร้าน ความรู้สึกที่ค่อยๆ เข้ามาเกาะในใจเราคือ บรรยากาศอบอุ่นที่เหมือนกับเรามาเที่ยวบ้านเพื่อน อาจจะเป็นเพราะการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ กลิ่นหอมจากเมล็ดกาแฟ รวมถึงเจ้าของร้านทั้งสองที่ชวนคุยอย่างสนิทสนม
‘เอช-ประติมา รักษาชนม์’ และ ‘แต๋ม-วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี’ คือคู่รักนักเพศวิทยาเจ้าของที่นี่ ผู้ร่วมกันสร้างคาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
พื้นที่ปลอดภัยที่ว่าคือ พื้นที่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาปรึกษาพูดคุยถึงหัวข้อยากๆ ที่ไม่รู้จะไปคุยกับใครอย่างเรื่องเพศและเรื่องเซ็กซ์ ต่อให้เป็นเรื่องรสนิยมทางเพศ ประจำเดือนไม่มา เคยมีอะไรกับแฟนแล้วไม่อยากมี อยากลองเล่น Sex Toy ฯลฯ ทั้งสองคนก็พร้อมให้คำปรึกษาจากองค์ความรู้ด้านนี้ที่ร่ำเรียนมา
คาเฟ่ที่เกิดจากความสนใจเรื่องเพศ
ย้อนกลับไปหลายปีก่อนตอนที่ทั้งคู่ยังเรียนอยู่ เอชและแต๋มเรียนจบในคณะที่ตัวเองวาดหวังไว้ แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นเส้นทางของทั้งคู่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เอชที่เรียนคณะครุศาสตร์ เอกศิลปะ ต้องประสบกับปัญหาเงินๆ ทองๆ จนต้องทำงานส่งตัวเองเรียน บวกกับเคยถูกบุลลี่เพียงเพราะรูปร่างหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานที่สังคมตั้งไว้ แถมพอจบออกมาทำงานในสำนักพิมพ์ก็ถูกกดเงินเดือน
ส่วนแต๋มที่เรียนจบวิศวกรรมอุตสาหการ ก็ต้องไปเผชิญสังคมการทำงานที่ปิดกั้นโอกาสผู้หญิง ทั้งที่เธอมีความสามารถ อยากลองทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่แค่เพราะ ‘เพศ’ ที่เป็นเหมือนเพดานแก้วบางๆ ทำให้หญิงสาวไม่สามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้
ชีวิตของทั้งสองคนพบเจออะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เป็นธรรม จนพวกเธอได้รู้จักกับ Sex Toy ซึ่งเปรียบเป็นสะพานข้ามไปยังเขตแดนที่พวกเธอไม่ค่อยสนใจมาก่อน ทั้งยังทำให้ทั้งคู่รู้จักกับอำนาจที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกเองว่าจะสร้างความสุขให้ตัวเองตอนไหนก็ได้
หลังจากนั้นเอชกับแต๋มก็เริ่มสนใจเรื่องเพศ ศึกษาลงลึกในหลากหลายประเด็นมากขึ้น และในตอนนั้นเอง ไอเดียที่อยากนำความสนใจมาผสมผสานกับแพลนทำคาเฟ่ก็ก่อตัวขึ้น
คาเฟ่ของนักเพศวิทยา
ตั้งแต่เดินเข้าร้านมา เราสังเกตเห็นกระดาษสองใบที่ใส่กรอบไว้และตั้งอยู่บนเคาน์เตอร์ ก่อนจะได้รับคำตอบคลายข้อสงสัยว่าเป็นใบรับรองการเรียนจบคอร์ส Clinical Sexology (หลักสูตรเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ)
เอชอธิบายว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาเรื่องเพศเยอะๆ เธอกับแต๋มได้มีโอกาสตอบคำถามเรื่องนี้ผ่านช่องทางออนไลน์อยู่เรื่อยๆ จนวันหนึ่งทั้งคู่ก็รู้สึกว่า หรือเราจะไปเรียนด้านนี้อย่างจริงจังเลยดี
“เราอยากส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องให้คนที่มาถาม เพราะถ้าหาข้อมูลเหล่านี้จากกูเกิลได้ตั้งแต่แรก คนเขาจะมาถามเราทำไม อีกอย่างมันมีบริบทของร่างกายแต่ละคนที่เกี่ยวโยงกัน ต่อให้มีอาการแบบเดียวกันแต่อาจไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวกันก็ได้ เราสองคนเลยเลือกที่จะไปเรียนคอร์ส Clinical Sexology ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เอชเล่า
รายละเอียดของคอร์สนี้เหมาะกับแพทย์และบุคคลทั่วไป ว่าด้วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องเพศของมนุษย์ในเชิงคลินิก โดยคณาจารย์จากหลากหลายสถาบันและสหวิชาชีพ เพื่อมองเรื่องเพศด้วยความเป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral), เพศสัมพันธ์เชิงบวก (Sex Positivity) และไม่ตัดสิน (Non-judgmental)
“พอได้ไปเรียน ไปสอน ไปแลกเปลี่ยนความรู้ เราก็คิดว่าความรู้และสังคมที่เกิดขึ้นที่นี่มันดีมากๆ เราอยากให้คนที่อยู่นอกคอร์สเรียนได้รู้เรื่องพวกนี้ด้วย เลยตัดสินใจเปิดร้านนี้ขึ้นมา” แต๋มพูด
คาเฟ่ที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้บทสนทนาเรื่องเพศ
“ตึกนี้ข้างล่างเคยเป็นโรงสีมาก่อน เพราะตึกแถวนี้เคยเป็นโซนที่ขายข้าว ชา กาแฟ แต่พอนานวันเข้าอากงเจ้าของตึกก็ไม่ได้ทำเรื่องข้าวแล้ว บวกกับเมืองเปลี่ยนไป เลยเอาอุปกรณ์ทำข้าวที่ชั้นหนึ่งออก แล้วชั้นสองถึงชั้นสี่ก็เป็นที่อยู่อาศัย
“เรารู้จักที่นี่จากเพื่อนที่เรียนในคอร์ส Clinical Sexology ประกอบกับเราอยากได้ที่แถวเจริญกรุง แถวเมืองเก่าอยู่แล้ว พอมาดูทำเลตรงนี้ก็เลือกเลย เพราะไปดูดวงมา เขาบอกว่าถ้าลมพัดผ่านตอนมาดูบ้านจะดี” ทั้งคู่ตอบไปขำไป
ในระหว่างที่แต๋มและเอชกำลังเล่าเรื่องร้าน เราก็สงสัยว่า แล้วทำไมร้านนี้ถึงมีชื่อว่า Day/DM Cafe แต่ไม่ทันที่ความสงสัยจะอยู่ได้นาน เอชก็ตอบคำถามในใจเราทันที
“ตอนแรกจะใช้ชื่อ They/Them ที่หมายถึงทุกคน แต่มันไม่เท่ เราเลยใช้ Day/DM แทน เพราะมันสะท้อนถึงการนำเรื่องที่ทุกคนชอบถามเราใน DM (Direct Message) มาพูดกันตอนกลางวันให้เป็นเรื่องปกติ โดยคอนเซปต์ของร้านคือ เม้าท์มอยบ้านเพื่อน พูดคุยเรื่องเพศในบ้านเพื่อน ในบรรยากาศสบายๆ ไม่เครียด ถ้าที่บ้านพูดไม่ได้ก็ให้มาคุยที่นี่แทน
“เราเปิดที่นี่เพราะต้องการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพเพศองค์รวม เราทำร้านนี้เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาถูกตัดสินว่าที่มีอาการแบบนั้นเพราะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เราอยากให้เขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้องไปจริงๆ
“เราต้องพูดในสิ่งที่ถูกที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เรายินดีที่จะเป็นคนผิด ถ้าเราไม่รู้ก็คือไม่รู้ ก็รับฟังในสิ่งที่เขาพูด หลังเปิดร้านได้แป๊บหนึ่งก็ไปเรียนการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมมาด้วย พยายามเสริมความรู้ที่ขาดไปเรื่อยๆ”
คาเฟ่ที่จัดเวิร์กช็อปให้คนเข้าใจเนื้อตัวของตัวเองมากขึ้น
นอกจากการเป็นพื้นที่พูดคุย ให้คำปรึกษาเรื่องเพศโดยผู้มีความรู้แล้ว Day/DM ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ให้เข้าร่วมด้วย และแน่นอนว่าต้องไม่ใช่เวิร์กช็อปทั่วๆ ไปที่เห็นกันตามคาเฟ่ร้านอื่นๆ
“ในไทยยังไม่ค่อยมีพื้นที่ไว้ให้ทำกิจกรรมเรื่องเพศ ทำให้เราไม่ได้มีโมเดลจากที่ไหนให้ทำตามนัก และถ้าจะให้ทำแบบของต่างประเทศที่มานั่งล้อมวงกันแล้วทำกิจกรรม มันก็ดูไม่ค่อยเหมาะกับสังคมไทยเท่าไหร่” เอชอธิบาย
“เรานำความรู้ของโซน Therapist กับศิลปะมาผสมเรื่องเพศให้มันคิดง่ายขึ้น ไม่ต้องซับซ้อน เพราะเรามองว่าศิลปะกับเพศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้วในหลายๆ ทาง แล้วก็อยากให้มันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องมาเขินกัน
“กิจกรรมของเราค่อนข้างมีหลากหลายแบบ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมในลักษณะของการทดลองในเรื่องเพศ ที่เน้นเรื่องของการสำรวจข้างในตัวเราเป็นหลัก อย่างมุมข้างเป็นธีสิสของน้องๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับใครที่สนใจเรื่อง Sex Toy แล้วต้องการทำวิจัย สามารถมาทำร่วมกับเรา หรือจะให้เราแนะนำให้ก็ได้” เอชพูดพลางชี้ไปยังผนังบริเวณที่อัดแน่นไปด้วยงานศิลปะชิ้นเล็กชิ้นน้อย
“หรืออย่างตรงนั้น” เธอเอี้ยวตัวผายมือให้เรามองไปยังงานศิลปะแนว Abstract อีกเซต “กิจกรรมศิลปะไหล เป็นการเรียนรู้เรื่อง Gender Fluid ประสบการณ์การปรับตัว เช่น การที่เราเคยชอบผู้หญิง จะไปชอบผู้ชายก็ไม่ได้แปลกอะไร
“อีกกิจกรรมที่คนสนใจกันเยอะมากๆ คือ วาดภาพนู้ด ความพิเศษของที่นี่คือ ตัวแบบสามารถคิดเองได้เลยว่าต้องการสื่อสารอะไร อย่างล่าสุดเป็นระบำเปลื้องผ้า ตัวแบบก็เต้นไปรอบๆ ร้าน”
ทุกเวิร์กช็อปของ Day/DM สามารถเหมาเป็นรอบได้ โดยจะใช้พื้นที่ของคาเฟ่หรือไปนอกสถานที่ทั้งสองคนก็ไม่เกี่ยง เพียงแต่ถ้าจัดกิจกรรมที่ร้านจะรับคนได้สูงสุด 12 คน เพราะเอชอยากให้แต่ละคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง “เราเชื่อว่าเรื่องเพศมันมีเรื่องของระยะด้วย ที่จะเข้ามาใกล้ได้ในระดับไหน
“จะแวะเข้ามาแบบไม่ทำกิจกรรมก็ได้ แค่เข้ามานั่งกินน้ำ กินขนม อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเพศเรื่องความสัมพันธ์ตรงมุมที่เราจัดไว้ให้ หรือแค่อยากเข้ามาคุยเฉยๆ ก็ทำได้เช่นกัน”
คาเฟ่ที่อยากขับเคลื่อนเรื่องเพศไปให้ไกลกว่านี้
พ้นไปจากการเป็นนักเพศวิทยาและเจ้าของคาเฟ่ เอชกับแต๋มก็มีอีกบทบาทที่เป็นพาร์ตนักกิจกรรมทำงานขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศตามความเชื่อที่พวกเธอยึดถือ
ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนที่การตระหนักรู้เรื่องเพศยังไม่แพร่หลายในสังคม จนมาถึงตอนนี้ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องกันมากขึ้น ทั้งคู่ยอมรับว่าบ้านเรามีพัฒนาการมูฟเมนต์เรื่องเพศที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายเรื่องให้ต้องทำการบ้านต่อไป
“พวกเราดีใจกับความกล้าของคนรุ่นใหม่ที่พูดเรื่องเพศมากขึ้น แต่พอเจาะลึกเข้าไป มันจะมีคนที่อยากรู้สนใจจริงๆ รู้ไว้แค่คุยกับเพื่อน และมองเป็นแฟชั่นอย่างเดียว อย่างคำว่า Unisex ที่แบรนด์และคนดังนำมาใช้กันเยอะๆ บางคนก็เสพมันในมิติของแฟชั่นเฉยๆ ซึ่งมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ แต่เราอยากให้คนเข้าใจว่าเรื่องเพศจริงๆ แล้วมันเป็นยังไงด้วย” เอชอธิบาย
จากความตั้งใจนี้ จึงก่อให้เกิดโปรเจกต์ ‘ไข่คน’ ที่ทั้งคู่กำลังพัฒนาอยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะพูดเรื่องสุขภาวะของเด็กและเยาวชน เช่น การให้ความรู้เรื่องยาคุมอย่างง่าย ที่ไม่ได้พูดว่ายาคุมช่วยแค่คุมกำเนิด แต่ช่วยเรื่องการเปลี่ยนเพศได้ด้วย เป็นต้น
มากไปกว่านั้น พวกเธอก็อยากต่อยอด Day/DM Cafe ให้เป็นฮับของเรื่องเพศอย่างครบเครื่องมากขึ้น ด้วยการวางแผนจะทำดิสเพลย์อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศให้คนเข้ามาสัมผัสจริงๆ “ยกตัวอย่าง ถุงยาง ถ้วยอนามัย เพื่อให้คนลองจับดูว่าแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง เพราะบางทีดูแค่รีวิวก็ไม่รู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับเราจริงๆ” เราพยักหน้าหงึกหงักตามคำของแต๋ม
“เรามีแพลนจะพัฒนาที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ อีกเซอร์วิสที่คิดไว้คือ Day/DM Consult สำหรับคนที่มีปัญหาและต้องการปรึกษาเรื่องเพศอย่างจริงจังจากนักเพศวิทยาที่มีความหลากหลาย ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
“ถึงตอนนี้ Day/DM Cafe จะยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เราก็ไม่อยากทิ้ง เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของใครหลายคน ซึ่งสุดท้ายต่อให้ไม่ใช่ที่นี่ ในอนาคตก็อาจจะมีพื้นที่แบบนี้ขึ้นมาอีก เราแค่อยากทำที่นี่ให้ดีที่สุด” เอชทิ้งท้าย
ถึงแม้ในระหว่างที่สนทนากับทั้งคู่ เราพบว่ามีปัญหามากมายที่ซ่อนอยู่ แต่ทั้งเอชและแต๋มต่างก็ตอบคำถามพร้อมเสียงหัวเราะทุกครั้ง ซึ่งนั่นทำให้เราเชื่อว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความตั้งใจของทั้งคู่ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรื่องเพศจะไม่มีวันหายไปไหนแน่นอน
ร้าน Day/DM Cafe
เวลาทำการ : วันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 11.00 – 19.00 น. / วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 20.00 น. / ปิดทำการวันจันทร์-อังคาร
พิกัด : 499 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 (goo.gl/maps/sh9iKoWZGMZnc83n7)
ช่องทางติดต่อ :
เพจเฟซบุ๊ก facebook.com/DayDmCafe
ทวิตเตอร์ twitter.com/daydm_cafe