ช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเข้าไปในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนก็มักเจอแต่ภาพและคลิปวิดีโอสัตว์น่ารักๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแพนด้ากินไผ่ คาปิบาราแช่น้ำร้อน วอมแบตเกาก้น หรือเหล่าหมาเด็กที่ชาวเน็ตอยากอมหัวออนไลน์
แน่นอนว่าการดูคลิปหรือภาพสัตว์น่ารักๆ ช่วยลดความเครียด เพิ่มความสุขให้กับเรา และแม้ว่าเราจะใช้เวลานอนดูคลิปไปวันๆ โดยไม่ได้ทำอะไร แต่เชื่อหรือไม่ว่า นอกเหนือจากการช่วยขจัดความรู้สึกอันหนักหน่วงออกไปแล้ว ความน่ารักแบบไม่รู้ตัวของเจ้าสัตว์พวกนี้ยังช่วยให้มนุษย์มีสมาธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นได้ด้วยความคิวต์ของสัตว์โลก
เวลาเครียดๆ เรามักหาวิธีการผ่อนคลายจากความหนักหนานั้นด้วยการไถหน้าจอดูอะไรสนุกๆ หรือน่ารักๆ ซึ่งภาพหรือคลิปสัตว์น่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึง โดยเฉพาะเจ้าสัตว์ตัวน้อยๆ ที่ยิ่งคูณความน่าเอ็นดูขึ้นไปอีก
แต่มากไปกว่าความตะมุตะมิเกินต้าน ยังมีการศึกษาของนักวิจัย ‘ฮิโรชิ นิตโตโน’ แห่งมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าสัตว์โลกเหล่านี้ช่วยให้เราโฟกัสได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยเขาได้ทำการทดลองผ่านการเล่นเกม แยกเป็นครั้งแรกให้ผู้ทดลองเล่นตามปกติ ส่วนครั้งที่สองแบ่งผู้ทดลองออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งดูภาพของลูกหมาและลูกแมว อีกกลุ่มหนึ่งดูภาพของหมาและแมวโตเต็มวัยที่มีความน่ารักน้อยกว่าวัยเด็ก
หลังจากกลับมาเล่นเกมอีกครั้ง ทีมผู้วิจัยพบว่า กลุ่มผู้ทดลองที่ดูภาพหมาเด็กแมวเด็กมีความรอบคอบมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดีขึ้นกว่ารอบแรก ส่วนกลุ่มที่ดูภาพหมาแมวตอนโตนั้นใช้เวลาในการเล่นเท่าเดิมและประสิทธิภาพที่ออกมานั้นไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่
การศึกษานี้ทำให้พบว่า สิ่งน่ารักๆ โดยเฉพาะลูกสัตว์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากสมาธิที่เพิ่มขึ้น เพราะขอบเขตความสนใจที่แคบลงจากการเพ่งความสนใจทั้งหมดไปอยู่ที่รูปภาพหรือคลิปวิดีโอของสัตว์น่ารักๆ ตรงหน้าไปแล้ว
สอดคล้องกับรายงานในปี 2009 ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียที่พบว่า การดูรูปน่ารักๆ อย่างลูกหมาและลูกแมวนั้นส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกได้ง่าย ช่วยให้มีความตั้งใจความเอาใจใส่มากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการอยากมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วย
เพราะความกระจุ๋มกระจิ๋ม ทำให้ลูกสัตว์ส่งผลต่อใจคนมากกว่า
เจ้าแมววิ่งติดบัค แพนด้าตกจากกิ่งไม้ น้องหมาหน้าเซเว่นที่นอนหลับรอให้ประตูหนีบ เหล่านี้คือพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ทำให้เจ้าสัตว์เหล่านั้นดูน่ารักน่าฟัด แต่ถ้าสำรวจลึกลงไปแล้ว เราอาจไม่ทันสังเกตว่า สัตว์วัยเด็กจะมีอิทธิพลกับคนมากกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัยหรืออยู่ในวัยชรา
ที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะ ‘Baby Schema’ ที่เป็นการอธิบายถึงลักษณะของเด็กทารก อย่างการมีหัวโต ตาโต หน้าผากใหญ่ จมูกเล็ก ปากเล็ก ที่พอมองโดยรวมแล้วทำให้ดูจิ้มลิ้มน่ารักจนเกิดความรู้สึกเอ็นดู แม้จะไม่ใช่ลูกหลานหรือคนรู้จักกันก็ตาม ซึ่งลูกสัตว์อายุน้อยก็มีสัดส่วนลักษณะคล้ายๆ กัน ทำให้หลายคนที่ต่อให้ไม่ชอบเด็กเล็กก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับความน่ารักของสัตว์โลกตัวน้อยพวกนี้
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเวลาเห็นลูกสัตว์ชนิดต่างๆ ผ่านมาบนหน้าโซเชียล เราถึงเกิดอาการอยากหอมอยากดม รวมถึงจดจ่อกับการดูรูปหรือคลิปวิดีโอของลูกสัตว์ตัวน้อยผ่านจอได้นานๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ
หลังจากนี้หากใครรู้สึกว่าไม่มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า ก็ลองไปเสิร์ชดูภาพหรือคลิปสัตว์น่ารักๆ สร้างสมาธิให้กับตัวเองกัน แต่ขอเตือนว่าอย่าดูเพลินเกินไป เพราะความน่ารักเหล่านั้นอาจทำให้ลืมไปว่ายังมีงานที่รอสะสางอยู่
Sources :
Association for Psychological Science | tinyurl.com/29yd88zd
Plos One | tinyurl.com/bdzx8ay5
ResearchGate | tinyurl.com/n4p25jww
ThaiPublica | tinyurl.com/43zr6eb6