‘อัครา นักทำนา’ ผู้ก่อตั้ง CTypeMag Gallery - Urban Creature

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟน เข้าแอปฯ แต่งสีแล้วโพสต์เป็นแกลเลอรีบนอินสตาแกรม และมักจะชื่นชมผลงานของช่างภาพมืออาชีพ หรือคนทั่วไปที่อยากถ่ายภาพเป็นงานศิลปะจากแพลตฟอร์มในอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ ทั้ง Pinterest หรือไถหน้า Tumblr ไม่ก็เข้าไปดูรูปสวยๆ ในนิตยสารออนไลน์ต่างประเทศอย่าง IGNANT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของช่างภาพเมืองนอก ทำให้แอบคิดว่า ในไทยจะมีอะไรแบบนี้บ้างไหม 

จนมาสะดุดกับ CTypeMag นิตยสารออนไลน์ที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายของช่างภาพจากทุกสารทิศโดยไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งคุณภาพรวมไปถึงคอนเซปต์ภาพที่คัดมาลงล้วนดีงาม และฉันสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า มีผลงานคนไทยอยู่บนเว็บไซต์เกินครึ่ง สืบไปสืบมาก็พบว่านิตยสารออนไลน์ที่ว่านี้ จัดทำโดยช่างภาพไทยผู้คร่ำหวอดในวงการ Street Photography มาเป็น 10 ปีอย่าง ‘พี่หนิง-อัครา นักทำนา’ ที่เริ่มถ่ายภาพด้วยตัวเองในปี 2008 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มช่างภาพ Street Photo Thailand ตั้งแต่ปี 2012 

หากจะให้ไล่ผลงานคร่าวๆ พี่หนิงเคยเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดภาพถ่ายสตรีทในเทศกาล Miami Street Photography Festival 2013 และได้แสดงผลงานในเทศกาลภาพถ่ายมาแล้วหลายที่ เช่น Singapore Photo Festival 2016 และ Photo Bangkok Festival 2015 – 2018 นอกจากนี้หนังสือภาพถ่ายของเขาชื่อ Signs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประกวดหนังสือภาพถ่าย The Anamorphosis Prize ที่ทำขึ้นในปี 2016 ปีเดียวกับนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรก ยังถูกเก็บไว้ที่ Franklin Furnace Archive และ MoMA Library ในนิวยอร์ก 

ก่อนจะหันมาจับนิตยสารออนไลน์อย่าง CTypeMag ตั้งแต่ปี 2016 ที่ยังคงทำหน้าที่นำเสนอภาพถ่ายที่น่าสนใจของช่างภาพทั่วโลก และล่าสุดปี 2021 เขากระโดดจากออนไลน์มาทำแกลเลอรีเล็กๆ ชื่อ CTypeMag Gallery ในซอยภูมิจิตร ย่านพระโขนง

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แกลเลอรีเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และหากใครจะเข้าชมนิทรรศการต้องนัดหมายล่วงหน้า ฉันทักอินบอกซ์ไปนัดพี่หนิงเรียบร้อย บ่ายวันเสาร์ก็นั่งพี่วินฯ มาถึงแกลเลอรีตามเวลานัด ฉันค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่แกลเลอรีขนาด 1 คูหา 2 ชั้น สีขาว เรียบง่าย จะโผล่มาอยู่ท่ามกลางชุมชนที่คึกคัก รายล้อมไปด้วยตึกแถวอย่างสงบเสงี่ยมและถ่อมตัว

วันที่ฉันไปเป็น 2 วันสุดท้ายของนิทรรศการ Open Call ที่พี่หนิงเปิดรับผลงานช่างภาพทั้งไทยและต่างประเทศ แล้วคัดเลือกมาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ น่าเสียดายที่โควิดระลอกใหม่ทำให้คนไม่สะดวกออกจากบ้านมาดูงานกันมากนัก แต่ใครที่พลาดก็เข้าไปดูผลงานจากนิทรรศการนี้ได้ที่ www.ctypemag.com/artists

แรกเริ่มรู้จักสตรีทโฟโต้

ฉันเปิดบทสนทนากับพี่หนิงที่เมื่อได้คุยก็สัมผัสได้ว่าเป็นคนอารมณ์ดี เขาเล่าจุดเริ่มต้นในการเข้าวงการถ่ายภาพสตรีทให้ฟังว่าเริ่มจับกล้องครั้งแรกตอนถ่ายรูปสินค้าลงเว็บไซต์สมัยทำงานด้าน E-commerce ในตอนนั้นเขายังมองกล้องเป็นเพียงไขควงหรืออุปกรณ์ทำงาน ไม่เคยมองมันเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์งานศิลปะเลยสักนิด อย่างมากก็เอาไว้ถ่ายรูปตอนไปเที่ยว จนกระทั่งได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Pegger และหนังสือภาพของช่างภาพสตรีท Elliott Erwitt

“เราไปเจอหนังเรื่อง Pegger หนังตลกปี 1998 เกี่ยวกับช่างภาพสมัครเล่นที่ทำงานอยู่ร้านพิซซ่า เขาถ่ายทุกอย่าง ถ่ายร้านพิซซ่า ถ่ายเพื่อนบ้าน ถ่ายน้องของเขาที่เป็นเด็กพิเศษกำลังกินขนม ถ่ายอะไรที่ไม่ได้สวยงาม เราก็เอ้ย มันมีการถ่ายภาพอย่างนี้ด้วย เลยไปหยิบกล้องฟิล์มป๊อกแป๊กในตู้ของพ่อ ซื้อฟิล์มขาวดำมาถ่ายเลียนแบบหนัง นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้ว่าภาพที่น่าสนใจไม่จำเป็นต้องสวยงามก็ได้” 

เวลาผ่านมาไม่นาน กล้องดิจิทัลที่เคยแพงกลับราคาถูกลง พี่หนิงไม่พลาดซื้อมาถ่ายรูปสวยงามทั่วไป จนถึงช่วงที่สยามพารากอนเปิดใหม่ เขาเดินเล่นเข้าไปในร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ ซึ่งจะมีมุมหนังสือภาพถ่ายอยู่ ทำให้พบกับหนังสือภาพของ Elliott Erwitt ที่ภาพหนึ่งในนั้นเป็นภาพผู้หญิงเอาสุนัขนั่งตัก แล้วหน้าของสุนัขซ้อนกับหน้าผู้หญิงคนนั้นอย่างพอดิบพอดี ภาพนั้นทำให้เขาคิดย้อนไปถึงหนังเรื่อง Pegger ที่เคยดู และเกิดมุมมองว่า ฝรั่งคิดอะไรพิสดารดี จนกลายเป็นจุดเริ่มความสนใจว่าการถ่ายภาพแบบนี้คืออะไร ท้ายที่สุดเขาก็ค้นเจอว่าสิ่งนี้คือ การถ่ายภาพแบบ Street Photography

ปลูกปั้นวงการสตรีทไทย

ยุคแรกของการถ่ายภาพแนวสตรีทในไทยจะเรียกว่าแนว Life หรือ Documentary ที่เราเห็นกันบ่อยๆ เป็นภาพถ่ายขาวดำ ถ่ายคนเดินถนน ถ่ายคนเข็นผักในตลาด หรือถ่ายนกบนสายไฟ พี่หนิงเล่าว่าสมัยนั้นช่างภาพเริ่มรู้จักกล้องขนาดเล็กลงจากเมื่อก่อน ก็ตื่นเต้นที่จะออกไปทดลองถ่ายวิถีชีวิตข้างนอก ยิ่งในยุคที่กล้องดิจิทัลราคาถูกมาก และมีโซเชียลมีเดียเข้ามาก็เริ่มมีการแบ่งปันภาพถ่ายกันทุกมุมโลก จึงมีการรวมตัวกันของช่างภาพสตรีท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Street Photo Thailand ที่พี่หนิงได้รับการชักชวนมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งยุคบุกเบิก

กลุ่ม Street Photo Thailand เกิดขึ้นจากการรวมตัวของช่างภาพระดับปรมาจารย์และช่างภาพรุ่นใหม่รวม 11 คน ที่ตั้งใจนำเสนอความสดใหม่ เน้นแนวคิดเฉียบคมและความกล้าที่จะสร้างงานที่แตกต่าง เพื่อผลักดันวงการ Street Photography ของไทยให้เป็นที่ยอมรับ นอกจากกลุ่มจะมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและเวิร์กช็อปการถ่ายภาพแล้ว พี่หนิงยังเป็นผู้ริเริ่ม E-magazine ของ Street Photo Thailand ที่มีทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ และการ Pin หรือปักหมุดภาพที่น่าสนใจซึ่งสำหรับพี่หนิง ภาพสตรีทที่ดีและน่าสนใจ คือภาพที่สร้างความประหลาดใจ หรือสร้างความงงงวยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในภาพกันแน่

“ภาพสตรีทนี่หาความสดใหม่ยากมากเพราะคนถ่ายกันทั่วโลก เราเลยจะมองว่าเขาต้องใช้ความพยายามแค่ไหนในการถ่ายภาพนี้ หรือว่ามันหายากเหมือนเราเจอ UFO ไหม เพราะว่ากันตามจริง ภาพสตรีทคือสิ่งธรรมดาทั่วไป แต่ในความธรรมดามันต้องมีความแปลกโผล่ขึ้นมา เช่น อยู่ๆ มีคนมาตีลังกาแล้วเขาจับภาพมาได้ มันคือจังหวะที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที แล้วก็หายไปตลอดกาล ไม่สามารถกลับมาถ่ายได้ใหม่ มันทำให้เราตื่นเต้นตกตะลึง ทำไมเขาไปเจอเหตุการณ์ที่มันไม่น่าจะเกิดขึ้นนี้มาได้”

ฉันถามต่อว่าแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะได้ภาพสตรีทดีๆ สักรูป พี่หนิงให้คำตอบว่า ความโชคดีของช่างภาพสตรีทไม่ได้มาเพราะดวง แต่ต้องแลกมาด้วยความมานะพยายามและความคิดที่นอกกรอบ

“คนภายนอกจะมองว่าถ่ายภาพนี้มาได้นั้นโชคดีจังเลย แต่เบื้องหลังความโชคดีคือการที่เขาพยายามมากกว่าคนอื่น เขาออกเดินทุกวันวันละหลายชั่วโมง เขามองทุกอย่างแล้วคิดตลอดเวลาว่า จะไปขุดหาความแปลกจากสิ่งธรรมดาที่เราเห็นทุกวันได้ยังไง นอกจากนั้นก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการที่เขาดูรูปมาเยอะ การจำภาพในหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตมาแล้วถ่ายให้เหมือน อันนี้ใครก็ทำได้ แต่จะทำยังไงให้มันต่างไปจากเดิมต่างหากคือสิ่งที่ยาก”

ต้องยอมรับว่า Street Photography ช่วง 10 ปีที่แล้วเรียกว่าบูมสุดๆ แต่วันหนึ่งเมื่อคนถ่ายภาพสตรีทเยอะขึ้น จนกลายเป็นการถ่ายภาพทั่วไปในชีวิตประจำวัน ความนิยมก็เริ่มซาลง เราจึงถามพี่หนิงว่า การถ่ายภาพสตรีทบ้านเราจะยังไปต่อได้ไหม

“ภาพสตรีทยังอยู่นะ แค่ผันตัวไปพูดเรื่องใหม่ หลากหลายขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น มีการใส่สัญลักษณ์ทางการเมือง หรือใช้เป็นศิลปะในการถ่ายทอดอะไรบางอย่าง สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเอาทักษะการถ่ายภาพสตรีทไปทำประโยชน์ ไปพูดเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในสังคม เราสามารถสื่อสารออกไปให้คนภายนอกเห็นว่า เกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่ใช่แค่ตัวช่างภาพที่จะได้ผลงาน แต่จะช่วยให้สังคมได้เห็นมุมมองด้วย”

CTypeMag พื้นที่ให้ดาวเคราะห์น้อยเฉิดฉาย

CType มาจากชื่อดาวเคราะห์น้อย ดาวเนปจูนจะมีวงแหวนครอบอยู่ ซึ่งมีดาวเคราะห์น้อยเต็มไปหมด Ctype เป็นหนึ่งในนั้น มีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็น Mtype และ Stype ที่สวยงามระยิบระยับ แต่ Ctype คือคาร์บอนที่ดำมืด เปรียบได้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นดาวเคราะห์น้อยก้อนเล็กๆ เป็นแสนล้านก้อน เราก็เลย เอ้อ ชื่อนี้ดีนะ บ่งบอกถึงความเป็นคนธรรมดา เราคือกลุ่มคนธรรมดาที่จะผลักดันอะไรบางอย่าง”

ชื่อของ CTypeMag ฟังแล้วเท่ไม่เบา แต่สิ่งที่เท่ยิ่งกว่าคือความตั้งใจของพี่หนิงที่สร้างพื้นที่ให้คนธรรมดามีโอกาสได้เฉิดฉาย ซึ่งต่อยอดจาก E-magazine ของ Street Photo Thailand และเปิดกว้างมากขึ้น CTypeMag เป็นนิตยสารออนไลน์ที่รวมภาพถ่ายแนว Contemporary Photography หรือภาพถ่ายร่วมสมัย ไม่จำกัดว่าต้องเป็นถ่ายสตรีทเท่านั้น และถึงแม้คุณจะยังไม่เป็นที่รู้จักก็สามารถ Submit ผลงานเข้ามา ขอแค่มีผลงานที่น่าสนใจ หรือกล้าฉีกจากมาตรฐานเดิมๆ ก็อาจได้รับคัดเลือกลงเว็บไซต์

“ทุกอย่างเกิดจากการที่เราไม่มีพื้นที่ เราไม่อยากให้งานดีๆ จบแค่การกดไลก์เฟซบุ๊ก แต่อยากให้เติบโตไปมากกว่านั้น เว็บไซต์ที่เอางานมาลงในเมืองไทยยังมีไม่เยอะ ซึ่งเมืองนอกเขามีเยอะมากเลยนะ เว็บไซต์ที่เปิด Submission ไม่ว่าจะฟรีหรือไม่ฟรี เราคิดว่า CTypeMag น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดให้ศิลปินหรืออาจจะไม่ใช่ศิลปิน มีช่องทางแสดงออกนอกจากช่องทางของตัวเอง เราต้องการกระจายงานของเขาให้ได้รับการมองเห็นมากขึ้น ไม่อยากให้โอกาสกระจุกตัวอยู่กับคนที่มีต้นทุนทางสังคมมากกว่า แทนที่เราจะนั่งมองตาปริบๆ มีโอกาสก็ทำเองเลย 

“เราคิดถึงตอนเราทำงานภาพถ่ายโดยที่ไม่ได้รู้จักใคร กว่าจะมาถึงจุดนี้ยากลำบาก ที่ผ่านมาก็มีคนสนับสนุนหลายคน สังคมเราต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าเก่งไปคนเดียว เราเห็นคนที่มีศักยภาพเขาควรจะไปได้ไกล ไม่ควรมาหยุดอยู่แค่นี้ ไม่อยากให้เป็นแค่งานคนนั้นดี รู้จักกัน ไปเอางานคนนั้นมาสิ เพราะจริงๆ นี่คือเรื่องของประชาชน ที่อยากจะแสดงงานที่ไหน ก็ควรมีช่องทางที่เปิดให้วอล์กอินเข้าไป”

นอกจากเปิดพื้นที่ให้ช่างภาพได้โชว์ผลงาน คนเสพก็ได้พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะ CTypeMag ไม่ได้มีแค่ผลงานจากช่างภาพในบ้านเราเท่านั้น ยังมีผลงานจากหลายประเทศที่ส่งเข้ามา ทำให้เราได้ดูผลงานดีๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศจากที่นี่ด้วย

CTypeMag ทำให้คนที่เข้ามาดูได้เห็นงานที่แปลกจากกรอบความคิดเดิมมากขึ้น บางทีเราเองก็ค้นพบแนวภาพใหม่ๆ เราชอบสไตล์สีฟิล์มๆ ชอบสตรีท ก็พยายามจะทำลายกรอบนั้นแล้วเอางานแนวอื่นมาให้ผู้ชมได้ดูบ้าง อย่างใน Instagram ก็จะมีคนทักประมาณนั้นว่า รูปเมื่อวานกับวันนี้คนละแนวกันเลย ทำไมเมื่อวานดูนัวๆ สวยๆ วันนี้ดูแปลกจัง เช่นเดียวกับบนเว็บไซต์ งานที่ Submit เข้ามาเราจะพยายามไม่เอาธีมเดิม ความสวยแบบเดิม หรือเนื้อหาแบบเดิมมากนัก”

CTypeMag Gallery
ออกจากโลกออนไลน์มาสู่แกลเลอรีจริง

หลังจากโลดแล่นอยู่บนออนไลน์มาหลายปีก็ถึงเวลาที่ CTypeMag ออกมาสู่แกลเลอรีจริงๆ ให้คนดูได้ใช้เวลาละเมียดกับภาพถ่าย ภายในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีปลั๊กไฟอยู่เยอะมาก พี่หนิงเฉลยว่านี่เคยเป็นออฟฟิศบริษัทสถาปนิกมาก่อน เลยมีปลั๊กไว้ต่อคอมฯ หลายจุด กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ดูแปลกตา และด้วยค่าเช่าที่พอรับได้บวกกับตึกแถวนี้ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน แถมมีสีขาวลอฟต์ๆ น่าจะเหมาะกับการเป็นแกลเลอรี พี่หนิงจึงตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งของ CTypeMag Gallery ซึ่งการเป็นเจ้าของแกลเลอรีและ Curator ในคนคนเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราทำคนเดียวเลย มีแฟนช่วยบ้าง แล้วก็เอาเพื่อนมาช่วยติดรางไฟ ไปซื้อกรอบรูปเอง ไปติดต่อพรินต์เอง ติดต่อศิลปินเอง ถูบ้านก็ถูเอง (หัวเราะ) สำหรับเราการเป็น Curator ไม่ใช่แค่เลือกรูป ดูว่ารูปนี้ติดตรงไหน แต่รวมไปถึงการเก็บรักษา พอได้มาลองทำมันเหนื่อยมากเลยนะ แต่ได้เห็นทุกขั้นตอน ได้รู้ว่ากระบวนการเป็นยังไง ได้เห็นคนมา ได้นั่งคุย แล้วก็ได้วางหนังสือภาพ ได้สัมผัส ทำให้เราจำได้และระลึกถึงมัน นี่คือความฝันอย่างหนึ่งของคนทำงานศิลปะที่อยากมีพื้นที่ที่ได้มาเดินดูรูปจริงๆ มาดูแสงตกกระทบบนรูป ได้เห็นบรรยากาศต่างๆ

“ผมไปอ่านเจอหัวข้อหนึ่งในเว็บไซต์บอกว่า การที่มนุษย์สบายเกินไปทำให้จดจำอะไรไม่ได้เพราะทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก อย่างในมือถือคนทำอาร์ติเคิลนานมากเลย แต่คนเปิดพรืดเดียวจบ คนอ่านอาจจะไม่ได้ซึมซับขนาดนั้น เราก็เลยอยากทำอะไรให้ช้าลง ทำให้รู้สึกถึงชีวิตมากขึ้น รู้สึกว่ามีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่รู้สึกว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่”

แกลเลอรีในโมงยามที่มีแสงสาดส่องเข้ามาให้บรรยากาศและความรู้สึกเปลี่ยนไป ภาพถ่ายที่แขวนอยู่นิ่งๆ บนผนังก็ยิ่งน่ามองกว่าเดิม ภาพที่พี่หนิงเลือกมาจัดนิทรรศการครั้งนี้ มาจากศิลปิน 4 คนที่เล่าเรื่องต่างกันแต่สอดรับกันได้อย่างลงตัว ทั้งภาพที่ถ่ายทอดความเป็นวัยรุ่น ภาพความงามของธรรมชาติ ภาพสะท้อนบริบทการเมือง ไปจนภาพถ่ายแนวนามธรรมที่พยายามอธิบายถึงอภิปรัชญา ซึ่งการคัดเลือกผลงานมาจัดแสดงยังคงเปิดกว้างด้วยวิธีการเปิด Open Call ให้คนทั่วไปส่งผลงานเข้ามา โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเล็กน้อย เพื่อเป็นเงินหล่อเลี้ยงให้แกลเลอรีอยู่ต่อไปได้ สลับกับนิทรรศการที่พี่หนิง Curate เอง

ในช่วงวิกฤติโควิดนี้ แน่นอนว่าทุกวงการได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แกลเลอรีหรือพื้นที่จัดแสดงศิลปะเองก็มีสะดุดไปบ้าง พี่หนิงยอมรับว่าเพิ่งเปิด CTypeMag Gallery มาไม่กี่เดือนก็ต้องเจอโควิดที่เป็นอุปสรรค แม้จะปรับตัวให้คนที่เข้าชมงานต้องนัดจองล่วงหน้า พี่หนิงก็ยังรู้สึกเสียดายแทนศิลปินที่มีผลงานจัดแสดงในช่วงนี้ เนื่องจากไม่สามารถขยายระยะเวลาจัดนิทรรศการออกไป และที่ผ่านมานอกจากไม่ได้กำไรยังถึงกับต้องควักเนื้อ แต่เขาก็ยืนยันว่าจะยังคงเปิดพื้นที่เพื่อผลักดันและส่งเสริมวงการช่างภาพไทยให้ไปได้ไกลกว่าจุดที่เป็นอยู่

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.