พบผู้เสียชีวิตหลังจากไปดำน้ำในทะเล ไม่พบบาดแผลเด่นชัด เจอเพียงรอยบวมบนแขนเล็กๆ และเนื้อซีดจนเป็นสีน้ำเงินคล้ำ จากข้อมูลผู้ตายเป็นคนชอบดำน้ำและสะสมของสวยงาม คาดว่าฆาตกรน่าจะใช้ของมีคมปลายแหลมขนาดเล็กทำร้ายเหยื่อ แล้วคนร้ายคือใครกัน?
ผู้ต้องสงสัย 1 : หมึกสายวงน้ำเงิน ลายของมันเป็นวงแหวนสีน้ำเงินและเรืองแสงได้ พิษของมันอยู่ในน้ำลาย สามารถพบได้ในฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ผู้ต้องสงสัย 2 : หอยเต้าปูน มีลวดลายของหอยเป็นเอกลักษณ์ พิษของมันอยู่ที่งวงที่ยื่นออกมาเป็นเข็มพิษ มักจะพบตามแนวปะการัง
——————————————————————-
เฉลย : ผู้ร้ายคือ หอยเต้าปูน เนื่องจากแผลของผู้เสียชีวิตมีรอยบวมเล็กๆ จนแทบมองไม่เห็น สอดคล้องกับหอยเต้าปูนที่มีอาวุธตรงงวงเป็นเข็มพิษเล็กๆ และตัวมันมีลวดลายสวยงามตรงกับนิสัยผู้ตายที่ชอบสะสมของแปลกตา วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกหอยเต้าปูนทำร้ายคือ ใช้แอลกอฮอล์รีบเช็ดบาดแผล ดึงเข็มพิษออกแล้วคัดเลือดบริเวณแผลให้ออกมากที่สุดและรีบนำส่งโรงพยาบาล
จากเนื้อหาคดีฆาตกรรมดังกล่าวอาจจะมองเป็นเกมสืบสวนทั่วไป แต่สิ่งสำคัญที่ซ่อนไว้คือ การทำให้คนตระหนักถึงพิษสัตว์น้ำในมหาสมุทรและการป้องกันตนเองเบื้องต้น ผ่านการเล่าเรื่องสืบสวนคดีฆาตกรรมที่น่าติดตาม ซึ่งเป็นแนวคิดของ ‘แอล-นวพรรษ เอื้อพัทธยากร’ ผู้ทำหนังสือภาพประกอบแนวสืบสวนคดีฆาตกรรมเกี่ยวกับพิษสัตว์ทะเล ‘Criminal of the Sea’ ผลงานวิทยานิพนธ์ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
น้อยคนรู้จักพิษสัตว์ทะเล
จุดตั้งต้นทำหนังสือเกี่ยวกับพิษสัตว์ทะเล เริ่มมาจากแอลสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนและสัตว์เป็นสิ่งใกล้ตัว ส่วนใหญ่คนรับรู้อันตรายของสัตว์บก เช่น แมงป่อง ตะขาบ หรือแมงมุม น้อยคนนักที่จะรู้ข้อมูลป้องกันตัวเกี่ยวกับภัยสัตว์ทะเล รวมถึงในขณะนั้นมีข่าวที่คนเอาหมึกสายวงน้ำเงินมาย่างกิน ซึ่งมันเป็นสัตว์ที่มีพิษและเอามารับประทานไม่ได้ เหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากทำหนังสือความรู้เรื่องพิษของสัตว์ทะเล
เดิมทีหนังสือให้ความรู้หรือเตือนให้คนระวังสัตว์ทะเลมักมีแต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์เต็มไปหมด ซึ่งแอลเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่สนใจหรือเข้าถึงยาก เธอจึงลองสรรหาวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจด้วยการสืบสวนฆาตกรรม
“ส่วนตัวชอบเรื่องสืบสวนฆาตกรรมอยู่แล้ว พอมันพูดถึงเรื่องพิษแล้วทำให้คนตายเกิดขึ้น หากจะทำหนังสือเล่าเนื้อหาบอกเฉยๆ ว่า ทุกคนระวังสัตว์ทะเลนี้นะ มันมีพิษแบบนี้นะ อย่าเข้าใกล้นะ เดี๋ยวตายนะ คนก็อาจจะไม่ได้สนใจมากนัก แต่ถ้าเกิดเราเล่าสวนทางไปเลย
“โดยการยกตัวอย่างคดีฆาตกรรมที่มีคนตายจากสัตว์ทะเล และแต่ละเคสมันมีพิษรุนแรงถึงชีวิตได้เลยนะ เรารู้สึกว่ามันน่าติดตามว่าเกิดอะไรขึ้น บวกกับเราชอบเรื่องสืบสวนก็เลยคิดว่า ถ้าเราได้รับบทเป็นนักสืบและได้ไปร่วมไขคดีด้วย โดยจับข้อมูลที่มีทุกอย่างตามหาตัวคนร้าย เราคิดว่ามันทำให้คนสนใจเรื่องพิษสัตว์ทะเลมากยิ่งขึ้น”
การออกแบบหนังสือสืบสวนคดีฆาตกรรมแบ่งเป็น 2 เล่มหลักคือ แฟ้มบันทึกเหยื่อ แบบฟอร์มที่แสดงไดอะแกรมร่างกายและข้อมูลของเหยื่อทั้งหมด เช่น ชื่อ อาการ บาดแผลอยู่ตรงไหนของร่างกาย และเสียชีวิตอย่างไร ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือ หนังสือผู้ร้าย เนื้อหาเล่าประวัติของสัตว์ทะเลที่มีพิษอันตรายทั้ง 6 ตัว เช่น
ปลากระเบนชายธง หอยเต้าปูน แมงกะพรุนกล่อง หมึกสายวงน้ำเงิน ปลาหิน และงูสมิงทะเล
เวลาไขคดีต้องดูหนังสือ 2 เล่มนี้ไปพร้อมกัน โดยแต่ละเคสจะมีข้อความที่เป็นคำใบ้ซุกซ่อนอยู่ ด้วยรอยปากกาสีแดงขีดทับตัวอักษรทำให้อ่านไม่ค่อยถนัด ซึ่งก็จะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือเป็นแว่นขยายสีแดงอ่านข้อความที่บอกใบ้ให้ชัดเจน
“ในแต่ละเล่มจะมีคำใบ้ว่าเหยื่อกับผู้ร้ายอันไหนสัมพันธ์กัน เช่น เล่มเหยื่อจะบอกว่าคนตายมีบาดแผลตรงไหนบ้าง ลักษณะบาดแผลเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง คนตายมีบาดแผลคล้ายโดนแซ่ฟาดเป็นรอยไหม้ เมื่อไปดูเล่มผู้ร้ายก็จะตรงกับรูปร่างของแมงกะพรุนกล่องที่มีพิษรุนแรงตรงหนวดของมัน ยิ่งโดนหนวดมันเยอะ พิษยิ่งเข้าสู่ร่างกาย ต้องใช้น้ำส้มสายชูราดทันทีในสามสิบวินาที รวมถึงห้ามใช้น้ำเปล่าล้างหรือทรายมาถูเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษเข้าสู่ระบบเลือดเร็วมากกว่าเดิม”
ออกแบบกระดาษให้มีชีวิต
ขณะดูรูปภาพอย่างเพลิดเพลิน สังเกตว่าทุกหน้ากระดาษจะมีลูกเล่นไม่เหมือนกัน บางหน้าเป็นกระดาษป็อปอัป มีกระดาษเด้งขึ้นมาหรือผิวสัมผัสแปลกตา แอลอธิบายถึงรายละเอียดการดีไซน์กระดาษแต่ละหน้า เพราะต้องการให้คนเห็นภาพสัตว์ทะเลต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
“ทุกหน้าเรามีการออกแบบลูกเล่นทุกตัวหมดเลย อย่างหมึกสายวงน้ำเงิน ลักษณะเด่นของมันจะมีลายเป็นวงกลมและเรืองแสงเป็นสีน้ำเงินเมื่อเวลามันเจอภัย เราก็เลยพิมพ์กระดาษฟอยล์สีน้ำเงินตรงลาย เพราะเนื้อกระดาษฟอยล์ให้ความรู้สึกวิบวับเหมือนมันเรืองแสงออกมาบนกระดาษได้
“อีกอันหนึ่งคือปลาหิน ลักษณะคล้ายก้อนหิน ผิวของมันจะขรุขระและมีครีบหนามอยู่บนตัว มันชอบนอนนิ่งๆ อยู่ตามพื้นทะเล หากเราไปโดนตัว ครีบหนามจะพุ่งเข้ามาตำได้ เราก็เลยทำกระดาษแบบป็อปอัปขึ้นมา ให้รู้สึกว่า เวลาเปิดกระดาษออกมาก็จะมีปลาหินพุ่งออกจากกระดาษ และใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่บนตัวปลา โดยเอากระดาษมาตัดแปะเพื่อให้รู้สึกหยาบกระด้าง เพราะกระดาษเปเปอร์มาเช่มันจะมีผิวสัมผัสขรุขระเหมือนกับหิน”
ถ้าเราสืบคดีต่างๆ จนเลือกตัวผู้ร้ายได้แล้ว หากอยากรู้ว่าตัวเองคิดถูกต้องหรือไม่ สามารถเข้าไปดูเฉลยได้ที่ ‘Investigation Guide’ แผ่นพับเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้ร้ายและเหยื่อ เหมือนที่เราเห็นในหนังต่างประเทศ เวลาสืบสวนต้องมีบอร์ดสำหรับแปะกระดาษและมีเชือกลิงก์ข้อมูลต่างๆ เวลาไขคดีสำเร็จ
ผลงานที่สอนให้รู้จักสัตว์ทะเลมากขึ้น
ระหว่างพูดคุยเกี่ยวกับพิษของสัตว์ทะเลมากมาย แอลเล่าให้ฟังว่า หลังทำผลงานวิทยานิพนธ์ เธอได้เรียนรู้เรื่องสัตว์ทะเลที่คาดไม่ถึง เพราะพิษของมันอันตรายไม่แพ้สัตว์อื่นๆ ที่ทุกคนต้องเข้าใจชีวิตของสัตว์และระวังตนเองไปด้วยกัน พร้อมยกตัวอย่างเคสของ ‘งูสมิงทะเล’ พิษของมันแรงกว่างูเห่า 2 – 10 เท่า เวลาโดนกัดจะไม่รู้สึกตัว ไม่เห็นบาดแผล และหมดสติเสียชีวิตได้ไม่รู้ตัว
“มันเป็นงูลายขาวสลับน้ำเงิน เมื่อโดนงูทะเลกัด มันไม่ค่อยมีบาดแผลทิ้งเอาไว้ (หรือมีรอยเลือดออกเล็กๆ สองถึงสามมิลลิเมตร) เพราะฟันมันค่อนข้างเล็กมากๆ และเราก็จะไม่รู้สึกตัวว่ามีบาดแผล แต่จะรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ แล้วก็หายไปเลย ซึ่งระหว่างนั้นพิษมันจะกระจายไปทั่วร่างกาย เริ่มแรกจะมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย สักพักหนึ่งก็จะอัมพาตทั่วตัว แล้วสุดท้ายก็มีปัญหาทางเดินหายใจ บางรายอาจหมดสติเสียชีวิตไม่รู้ตัวเลย น่ากลัวมาก
“การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้รีบทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ ห้ามนำใบไม้หรือสมุนไพรมาทาบนแผล เพราะทำให้แผลติดเชื้อได้ ซึ่งเราควรหาผ้ามารัดไว้หรือหาอะไรมาดาม เพื่อให้ตำแหน่งที่โดนกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล”
หนังสือภาพที่ย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่าย
สุดท้ายนี้ กว่าจะเป็นหนังสือภาพประกอบสวยงามร้อยเรียงไปกับการเล่าเรื่องน่าติดตาม ต้องใช้เวลาไปเกือบ 4 เดือนตั้งแต่ศึกษาข้อมูลสัตว์ทะเล และออกแบบกระดาษแต่ละหน้าให้คนอ่านเข้าใจชีวิตของสัตว์แต่ละตัวมากที่สุด ดังนั้น การทำหนังสือภาพประกอบจึงเป็นเหมือนตัวกลางที่ทำให้คนอ่านเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนต่อยอดความรู้ได้ไม่สิ้นสุด
“ถ้าเราอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือ คนอาจจะไม่สนใจทั้งหมด แต่ถ้าเราได้สื่อสารกับคนอ่านด้วยรูปภาพ ที่ช่วยย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่าย จากข้อมูลห้าหน้ากว่าให้เหลือหนึ่งหน้า โดยมีรูปภาพต่างๆ ช่วยอธิบายว่า มันเป็นอะไร หน้าตามันเป็นอย่างไร มันก็จะดึงดูดให้คนอยากศึกษาข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันเข้าถึงได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ก็อ่านได้”