คราฟท์เบียร์ไทย ทำไมต้องจดต่างแดน ? - Urban Creature


กิจกรรมสังสรรค์ยอดนิยมในคืนวันศุกร์คงหนีพ้นการนั่งจิบเบียร์เย็นๆ ให้ชื่นใจ หลายคนหลงใหลเสน่ห์การจิบเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ บ้างว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บ้างว่าคือศิลปะแห่งรสชาติ ทุกครั้งที่สัมผัสรับรสก็เหมือนกำลังชมผลงานศิลปะอยู่ยังไงอย่างงั้น


แต่มากกว่าเบียร์ธรรมดาๆ ‘คราฟท์เบียร์ (Craft Beer)’ ของคนไทยก็เริ่มออกตัวรันวงการมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ซึ่งถ้ามองไปถึงการผลิต ‘คราฟท์เบียร์’ นั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการผลิตเบียร์โดยทั่วไปมากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างหลักๆ นั้นมีเพียงกำลังการผลิต และความกล้าที่ลองส่วนผสมพิเศษต่างๆ เช่น ธัญพืช สมุนไพร หรือผลไม้ท้องถิ่น จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ของเบียร์แบบทำมือก็ว่าได้ เพราะ ‘คราฟท์เบียร์’ จะมาช่วยสร้างมิติใหม่ของการดื่ม การดมกลิ่น และสัมผัสรสชาติที่แตกต่างตามเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ผลิต ปัจจุบันจำนวน ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ มีในตลาดอยู่ประมาณ 60 – 70 ยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบรนด์ที่อยู่ใต้ดิน ส่วนแบรนด์ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ก็ล้วนมาจากการย้ายฐานไปผลิตในต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย แล้วนำเข้ามาผ่านขั้นตอนการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อมาขายอีกที นั่นจึงเป็นสาเหตุที่คราฟต์เบียร์ไทยในตลาดมีราคาสูง


เช่นกันกับกรณีล่าสุดที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าแบรนด์ ‘ศิวิไลซ์’ คราฟท์เบียร์จากเครือมหานคร เพิ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวที ‘World Beer Awards 2020’ ที่ถึงแม้จะเป็นคราฟท์เบียร์จากคนไทย กลับต้องจดทะเบียนเป็นของประเทศเวียดนามซะอย่างงั้น จนเกิดเป็นคำถามตามมาว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น .เราจึงไปตามดูกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ของประเทศไทยว่า ในการสร้างแบรนด์คราฟต์เบียร์นั้นต้องผ่านอะไรบ้าง ซึ่งก็พบข้อกำหนดดังนี้


1. การขออนุญาตจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
2. ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด
3. ต้องสามารถผลิตได้อย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี และมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี


ด้วยข้อกำหนดนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีกำลังทุนอันน้อยนิดต้องออกไปผลิตที่ประเทศอื่น ซึ่งถ้ามองไปยังประเทศเวียดนาม กฎหมายเกี่ยวกับการผลิตและขายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ต้องผ่านเกณฑ์หลักๆ ดังนี้


1. ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ต้องลงทะเบียนการค้าอย่างถูกกฎหมาย
2. ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เบียร์จากกรมตรวจสอบคุณภาพสินค้า
3. ไม่มีการจำกัดสัญชาตินักลงทุนจะเป็นชาวเวียดนามหรือชาวต่างชาติก็ได้
4. ไม่จำกัดจำนวนการผลิต ซึ่งผู้ผลิตจะผลิตในปริมาณเท่าใดก็ได้


หากลองเปรียบเทียบจะเห็นความแตกต่างของข้อกฎหมายค่อนข้างเยอะ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มีข้อมูลที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับการกำกับดูแลการผลิตเบียร์ของภาครัฐในต่างประเทศหลักๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องคราฟท์เบียร์จะแยกการผลิตเบียร์ออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้


1. การผลิตที่ไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์หรือผลิตเพื่อบริโภคเอง จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องขออนุญาต แต่จะกำหนดอายุของผู้ที่สามารถผลิตหรืออาจจำกัดปริมาณการผลิตร่วมด้วย
2. การผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ แม้ต้องขออนุญาตแต่มิได้มีการกำหนดทุนจดทะเบียนและปริมาณการผลิตขั้นต่ำเหมือนประเทศไทยแต่อย่างใด


ซึ่งหากเกิดการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการผลิตคราฟท์เบียร์ได้อย่างจริงจังในประเทศไทย นอกจากจะทำให้ตลาดเบียร์ในประเทศมีการแข่งขันมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คนไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพไปเป็นผู้ผลิตเบียร์ในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย แทนที่จะต้องนำเข้าคราฟท์เบียร์จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำเข้าคราฟท์เบียร์มาดื่มในราคาที่แพงขึ้นทั้งๆ ที่คนไทยทำเองได้แท้ๆ


Sources: mmthailand.com/ | https://bit.ly/35Y6Hwe
https://www.becraftbeer.com/article/8/
https://www.bltbangkok.com/news/4320/
https://www.naewna.com/inter/497358
https://tdri.or.th/…//globthailand.com/vietnam_0075/

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.