โควิด-19 ทำพิษเศรษฐกิจไทย หรือเราถดถอยมานานแล้ว ? - Urban Creature

“ที่ผ่านมาหลายคนต่างโบ้ยให้โควิด-19 เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ แต่ความจริงแล้วต้องเข้าใจวิกฤตก่อนเกิดโควิดเสียก่อน และจะเข้าใจว่าทำไมพอประเทศไทยเจอโควิดถึงหนักและหนักกว่าประเทศอื่น”

เสียงของ ‘อาจารย์เดชรัต สุขกําเนิด’ หรืออาจารย์ต้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่กำลังเริ่มบทสนทนากับเราผ่านแอปฟลิเคชันออนไลน์ ในประเด็นผลกระทบของเศรษฐกิจไทยทั้งก่อนเกิดและระหว่างเกิดโควิด รวมถึงธุรกิจที่ต้องแบกรับวิกฤติในช่วงนี้ว่าประเภทไหนบ้างจะรุ่งหรือจะล่วง และธุรกิจต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่

Photo FB : Decharut Sukkumnoed

ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ยอมรับว่าแอบตื่นเต้นไม่ใช่น้อย เพราะในหัวคิดว่าบรรยากาศคงเหมือนอาจารย์กับลูกศิษย์ในคลาสเรียน ไม่พูดพร่ำทำเพลงเมื่อเสียงจากปลายทางรับสาย พร้อมกับที่อาจารย์เริ่มเปิดสไลด์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น 

Source : https://www.isranews.org/isranews-news/84631-scb-eic.html  

| เศรษฐกิจไทยเริ่มตกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เจอโควิด-19 จึงทรุดหนัก 

ที่บ้านเราต่างต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่หนักกว่าเคยนั้น มีสัญญาณเตือนมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เผยข้อมูลออกมาทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าแม้ GDP จะเติบโต แต่รายได้ครัวเรือนของประชาชนนั้นกราฟค่อยๆ ดิ่งลงมาเรื่อยๆ แสดงว่าประชาชนไม่ได้มีรายได้เพิ่มตามแต่อย่างใด

อาจารย์ต้น : สิ่งที่น่าสนใจคือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP เส้นสีเหลืองมันไต่ระดับเติบโตตลอดถึง 7.6%  แต่ว่าเส้นสีขาวรายได้ครัวเรือนหรือรายได้ประชาชนตอนแรกเติบโตดี แต่พอมันถึงช่วง 2558 มีแนวโน้มลดลง 2.1% ในขณะที่ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 

ซึ่งมีสมมติฐานมารองรับอยู่ว่าทำไมรายได้ครัวเรือนถึงลดลงขนาดนี้ เนื่องจากประเทศเรามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แถมยังมีเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนแรงงาน พูดให้ง่ายขึ้นคือประชาชนเข้าไปรับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นน้อยลง

“ข้อมูลนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องหารือร่วมกัน ว่าทำไมเศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นแต่ทำไมรายได้ของประชาชนลดลง ซึ่งเมื่อต้นปียังไม่ได้มีเวลาคุยกัน พอเดือน ก.พ. ก็เข้าสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วย เมื่อคนมีรายได้น้อยลง เขาก็จะมีการใช้จ่ายน้อยลง”

สินค้าที่ประชาชนจับจ่ายน้อยลงนั้น มีทั้งเรื่องอาหารเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว การศึกษา การบริจาค หรือแม้กระทั่งยาสูบก็ลดลงตามกันไป จึงเกิดคำถามในหัวขึ้นว่า หากเราพ้นจากโควิด-19 แล้วล่ะ ประชาชนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้เหมือนเดิมไหม ?

อาจารย์ต้นค่อยๆ อธิบายและยืนยันว่า “คงจะไม่ได้” เพราะมันถูกลดลงมาก่อนช่วงโควิดแล้ว มันจะลดลงมาแบบที่เราเองนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวกันไป

Source : https://www.isranews.org/isranews-news/84631-scb-eic.html  

| เมื่อประชาชนเหลือเงินใช้จ่ายในช่วงวิกฤตและอยู่รอดได้ เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

คุยกันมาถึงตรงนี้แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นสนทนาแต่อาจารย์ต้นก็คลี่คลายความสงสัยในใจของเราไปได้ค่อนข้างเยอะ และบรรยากาศเริ่มเป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งผิดจากการคาดเดาของเราก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องเศรษฐกิจไทยดูเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ แต่อาจารย์ต้นอธิบายและยกตัวอย่างใกล้ตัวให้เข้าใจง่ายขึ้น

กลับมาที่เรื่องการปรับตัวของประชาชนในการใช้เงินกันบ้าง แม้จะค่อยๆ ปรับตัว แต่ “กันชนแห่งการเงิน” หรือเงินที่เหลืออยู่เพื่อดำรงชีวิตประจำวันนั้นกลับมีไม่ถึง 3 เดือน เพราะก่อนโควิดอัตราการออมนั้นลดลงจากปี 2554 ที่ออมได้ 11% แต่พอเข้าปี 2559 ลดลงเหลือ 6.4% เท่านั้นเอง 

อาจารย์ต้น : ดังนั้นคำที่เรียกว่า “กันชนแห่งการเงิน” ที่หมายความว่าถ้าเกิดอยู่ๆ รายได้เราหายไปแล้ว จะมีเงินเพียงพอหรือสินทรัพย์ทางการเงินรองรับกับสถานการณ์ที่รายได้เราลดลงกี่เดือน ?

ปรากฎว่าเรามีความสามารถในการรับมือได้ประมาณ 7.3 เดือนเท่านั้นเอง จากปกติเรารองรับได้ถึง 8.2 เดือน เรียกได้ว่าหายไปเดือนหนึ่งเลยทีเดียว แต่ตัวเลขนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่เพราะเป็นเลขค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 

ทางธนาคารไทยพานิชย์วิเคราะห์เจาะลงไปอีก ทำให้รู้ว่า 

“คนมีสินทรัพย์ทางการเงินน้อยกว่าและไม่เกิน 3 เดือน มีอยู่ถึง 59.2% ทำให้ปัญหาที่เห็นว่าบางคนไปขออาหารเพื่อประทังชีวิต หรือจนใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย สาเหตุมาจากตัวเลขชุดนี้ ที่คนจำนวนหนึ่งเผชิญปัญหาอยู่”

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เป็นหนี้สินอยู่แล้วกว่า 62% มีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือนเช่นกัน ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะเกิดปัญหาต่อไป คือหากปัญหาเกิน 3 เดือน และพวกเขาไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ หนี้ที่มีอยู่แล้วจะกลายเป็นหนี้เสียเพราะไม่มีเงินชำระกับธนาคารตามที่ตกลงกันไว้ ในที่สุดสามารถลุกลามเป็นปัญหาวิกฤตทางการเงินต่อไปได้

สรุปง่ายๆ : ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว ซึ่งหากฟังดูดีๆ ถ้าไม่เกิดสถานการณ์ขึ้นก็นับเป็นปัญหาใหญ่พอควรที่คล้ายรอวันแตก 

Source : Google’s Community Mobility Report – https://www.google.com/covid19/mobility/

| เข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 ทำเอาหลายธุรกิจหยุดชะงักและรับแรงกระแทกไปเต็มๆ 

ย่างสู่ช่วงเดือน ก.พ. จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นแวดวงสายการบิน ร้านอาหาร อัตราการจองห้องพัก ซึ่งปัญหาไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือเราส่งออกไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเน้นเศรษฐกิจการส่งออก อีกทั้งกระทบการผลิต และกระทบด้านอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งลดลงอย่างมากอีกด้วย

อาจารย์ต้น : ผลกระทบอาจจะลามไปสู่ภาวะหนี้เสียหรือสูญเสียทรัพย์ได้ มักเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าน่าจะดำเนินต่อได้บ้าง พออยู่ๆ มันไปไม่ได้รายได้ถูกล็อค ทีนี้การแตกหรือการสูญทรัพย์มันจะเกิดขึ้นกับประชาชนรายย่อยก่อน และลามไปที่ยอดคือผู้ที่คุมหรือเกร็งกำไรทั้งหลาย ลักษณะจะตรงข้ามกับสถานการณ์ฟองสบู่แตกแต่ให้ผลลัพธ์เหมือนกัน คือถ้าเราหยุดมันไม่ได้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเงิน

ซึ่งตัวเลขในภาพแสดงให้เห็นว่า ประชาชนเดินทางไปไหนมาไหนน้อยลง โดยเกือบทุกพื้นที่นั้นติดลบยิ่งเป็นด้านการท่องเที่ยวยิ่งกระทบหนัก และตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นคือประชาชนที่อยู่บ้านกันมากขึ้น เมื่อความต้องการซื้อน้อยลง ความต้องการขายก็ลดลงไปตามๆ กันซึ่งเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างจะรุนแรง

Photo :  unsplash.com 

แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะกระทบมากที่สุด ตามมาด้วยธุรกิจร้านอาหารรวมถึงเกษตรกร แต่อาจจะไม่ถึงขั้นต้องล้มละลาย เพราะยังมีหนทางที่จะมีผู้ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องหรือไปต่อได้ ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยและมาแรงในช่วงนี้คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเดลิเวอรี่, โปรแกรมการให้บริการผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์อย่าง Zoom กอบโกยเงินได้มากในช่วงนี้ ในอนาคตอาจจะต่อยอดไปได้อีกว่า จะทำอย่างไรให้เป็นสาธารณะมากขึ้นและคนมีเข้าถึงง่ายขึ้น แม้แต่เหล่าธุรกิจอาหารทั้งหลายอาจจะต้องแปรรูปเพื่อให้ผู้บริโภคเก็บไว้ทานได้นานขึ้น

Source : moneybuffalo.in.th 

| วิกฤตเศรษฐกิจหนักกว่าแฮมเบอร์เกอร์ และใกล้เคียงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ตอนนี้ประเทศไทยเรามีความกังวลเกิดขึ้น ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวถึง 46% ซึ่งมากกว่าสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย ซึ่งจีนมีความกังวลแค่ 10% เท่านั้นเอง แม้จะเจอผลกระทบมากกว่าเรา นั่นแสดงว่าปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างจะไม่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดเลย แต่ปัญหาก่อนหน้านี้ทำให้ประเทศเราเกิดความกังวลมากจริงๆ 

อาจารย์ต้น : ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะลดลงประมาณ -5.3 % ที่หนักที่สุดคือการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ โดยตัวเลขจะเห็นว่า

“หนักกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ไปใกล้ๆ กับต้มยำกุ้งแน่นอน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มากเท่ากับต้มยำกุ้ง” 

อย่างไรก็ตามตัวเลขที่แน่นอนยังคงต้องติดตามกันต่อไป

Photo :  unsplash.com 

| เศรษฐกิจฟื้นตัวได้แต่ต้องใช้เวลา อาจจะไม่ดีเหมือนเก่าแต่ต้องไม่ติดลบ

คำถามที่ว่าหากรัฐบาลมีการคลายล็อกดาวน์แล้วบ้าง เศรษฐกิจจะกลับมาดีอย่างเดิมหรือไม่ ต้องจับตามองเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไปพร้อมกันด้วยว่าเขาดีขึ้นแล้วหรือยัง พร้อมกับแก้ไขในประเทศตัวเอง

อาจารย์ต้นเน้นย้ำว่าธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ในประเทศ 40% และทั่วโลก 60% ซึ่งช่วงปลายปีอาจจะดีขึ้น

อาจารย์ต้น : ภาคธุรกิจต้องมีสภาพคล่องรัฐบาลจึงต้องให้ธนาคารเข้ามาคลายล็อก เช่น พักชำระหนี้ออกไปแล้วให้เงินลงทุนในดอกเบี้ยที่ถูกลง เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้ธุรกิจจะมีการปรับตัวแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำให้ประชาชนนั้นมีกำลังซื้อ รัฐบาลเลยทำมาตรการเราไม่ทิ้งกันโดยอัดฉีดเงินให้คนมีกำลังซื้อ แม้ว่าจะไม่ได้กลับมาเท่าเดิมแต่ช่วยได้บ้าง หากมองวิธีปฎิบัติของรัฐบาลยังคงมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงอยู่จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข 

นอกจากกำลังซื้อแล้วยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนซื้อด้วย เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน ว่าถ้าคนออกไปใช้บริการ เดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือตลาด ทำอย่างไรถึงจะรู้สึกปลอดภัยและสะอาด ซึ่งจะทำให้ผู้คนมั่นใจอยากออกไปจับจ่ายเช่นเคย

Photo :  unsplash.com 

อาจารย์ต้นสรุปให้ฟังอย่างกระชับว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและดีขึ้นช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าหากควบคุมโรคได้ แต่ถ้าแย่กว่านั้นอาจจะต้องรอปีถัดไปเศรษฐกิจถึงจะกลับมา ซึ่งไทยเราไม่ได้เกิดวิกฤตทางการเงิน แต่เป็นธุรกิจของการส่งออกที่เป็นปัญหาใหญ่

“นักเศรษฐศาสตร์เน้นย้ำว่าไม่ต้องตั้งความหวังให้เศรษฐกิจดีเหมือนเดิม แต่ขอทำให้ทุกอย่างไม่ติดลบในอัตราที่เป็นอยู่ ขอเพียงแค่ให้พอมีเงินหมุนที่จะพอไปต่อได้บ้าง”

Photo :  unsplash.com 

| ปรับตัวบริหารเงินในมุมนักเศรษฐศาสตร์ 

สุดท้ายนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับตัว เมื่อเจอวิกฤตจำเป็นต้องหาช่องทาง และเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองบ้าง 

อาจารย์ต้น : ถ้ามีความจำเป็นในการใช้เงิน อันดับแรก ‘คิดเรื่องการหาเงินก่อน’ โดยงัดทักษะที่ซ่อนอยู่ในตัวเองและหาวิธีที่จะนำออกมาใช้ หรือสามารถ ‘ใช้จ่ายทีเดียวและทำให้งอกเงย’ เช่น ซื้อผักมากินและหัดเพาะปลูกเมล็ด เพื่อเก็บไว้กินต่อได้ในมื้ออื่นๆ และ ‘ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น’ ให้ได้มากที่สุด แม้การที่ประชาชนไม่ได้ออกไปจับจ่ายจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่หากเราเดือดร้อนก็ต้องหาช่องทางสร้างรายรับกับรายจ่ายให้บาลานซ์กัน 


Source : ดร.เดชรัต สุขกําเนิด – นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.