‘Comfort Town’ คืออาคารที่อยู่อาศัยแห่งแรกในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครน ที่ใช้แบบแผนการพัฒนาเมืองที่มีลักษณะเป็น ‘บล็อก’ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการพัฒนาชุมชนและย่านที่อยู่อาศัย ก่อเกิดเป็นภาพเงาของอาคารที่งดงาม ตัวอะพาร์ตเมนต์ที่จัดวางอย่างประณีต และลานคนเดินเต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความสะดวกสบายของการสร้างรูปแบบอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยของคนยูเครน
การสร้างเมืองที่เป็นบล็อกเช่นนี้ ทำให้เกิดพื้นที่ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘ถนน’ ซึ่งอนุญาตให้ใช้มอเตอร์ไซค์สัญจรได้ และ ‘ลาน’ ด้านในที่มีพื้นที่สำหรับสนามเด็กเล่น ม้านั่ง และแบ่งเป็นตรอกซอกซอยเชื่อมถึงกัน แน่นอนว่าเพื่อความปลอดภัย ยานยนต์ชนิดต่างๆ จะไม่สามารถเข้าไปในลานด้านในนี้ได้ ยกเว้นรถบริการฉุกเฉินเท่านั้น
ด้วยงบประมาณที่จำกัด สถาปนิกได้สร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยรูปทรงเรขาคณิตแบบง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นเปลือกอาคารที่เรียบแบน แต่ความเรียบง่ายของเคหะแห่งนี้ได้ฉายภาพความน่าสนใจผ่าน 3 สิ่งอย่างคือ
1) ภาพเงา : ความสูงที่แตกต่างกันของอาคารต่างระดับช่วยให้เกิดรูปทรงของตึกที่น่าสนใจ
2) หน้าต่าง : ที่นี่เป็นโครงการที่อยู่อาศัยแห่งแรกที่ใช้ระเบียงแบบฝรั่งเศส และจัดวางหน้าต่างสลับไปมาให้ดูไม่ซ้ำจำเจ
3) สี : พื้นที่นี้ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยแห่งแรกในยูเครนที่เลือกใช้สีสันที่โดดเด่นไม่เหมือนใครอีกด้วย
ในส่วนรายละเอียดของพื้นที่อยู่อาศัยแห่งนี้ จะมีคอมมูนิตี้ที่ประกอบด้วยอะพาร์ตเมนต์ 8,500 ห้อง มี Academy of Modern Education ที่มีโรงเรียนอนุบาลรองรับเด็กเล็กได้ถึง 160 คน โรงเรียนประถม 140 คน และโรงเรียนมัธยมปลายคุณภาพระดับ A+ อีก 600 คน ยังมีคอมเพล็กซ์ค้าปลีกขนาด 4,500 ตร.ม. และฟิตเนสคอมเพล็กซ์ขนาด 4,600 ตร.ม. พร้อมสระว่ายน้ำ 3 สระ บวกด้วยห้องออกกำลังกาย มีคอมเพล็กซ์สนามกีฬากลางแจ้งขนาด 15,000 ตร.ม. ร้านกาแฟ ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งยังมีสำนักงานที่ชั้นล่างของอาคารอะพาร์ตเมนต์ สนามเด็กเล่นอีก 22 แห่ง ที่มีบริการซ่อมบำรุงไว้รองรับ
การพัฒนาเมืองด้วยรูปแบบบล็อกเช่นนี้ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นย่านชุมชนมากยิ่งขึ้น มีลานคนเดินที่ผู้คนสามารถเดินได้ เด็กก็สามารถเล่นสนุกกันได้อย่างปลอดภัย มีระบบขนส่งสาธารณะดีและมีพื้นที่สาธารณะเพียบ ด้วยเหตุนี้ Comfort Town จึงไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่เพียงแค่สีสันสดใส แต่พร้อมรองรับการสร้างชีวิตของคนยูเครนรุ่นใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม
Sources :
Arch2O | bit.ly/3N1ohEH
ArchDaily | bit.ly/3BZH0u5