สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยทีมที่ปรึกษาและวิทยากรจาก G-Lab แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Research and Design Service Center KMUTT (Redek) แห่งมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA, TCDC เดิม), มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (TFF) และกรุงเทพมหานคร พัฒนาการให้บริการของภาครัฐ สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้ง่ายขึ้น
Begin | เริ่มพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ
เป็นที่รู้กันดีว่าการบริการของระบบราชการไทยทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาพะรุงพะรัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารที่ต้องใช้มากมายหลายฉบับ ความล่าช้าของการบริการ จนไทยแลนด์เข้าสู่ยุค 4.0 เข้าไปแล้วก็ยังไม่รับการแก้ไขเสียที แต่วันนี้พวกเขาได้เริ่มแล้ว เริ่มต้นที่จะคิด เริ่มวางแผน เริ่มที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงและรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562 ได้มีการจัดโครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ ภายใต้ชื่อว่า ‘Co-Design Lab’ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาต้นแบบและการทดสอบที่เหมาะสมกับโจทย์และประเด็นต่างๆ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ด้านการศึกษา ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs และด้านงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยในแต่ละหน่วยงานก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป โครงการนี้จึงจัดขึ้นเพื่อให้คนในหน่วยงานออกมาระดมความคิด (Brainstorm) กันว่าหน่วยงานของตนเองมีปัญหาอะไร สามารถจัดการกับปัญหาอย่างไรได้บ้าง โดยมี Designer และ Co-Designer ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน UX/UI, รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, กลุ่ม SATARANA/TRAWELL, ThoughtWorks, STUDIO150, Mixed Methods Co., Ltd. และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายคอยให้คำแนะนำ
Brainstorm | ระดมความคิดครีเอทนวัตกรรม
โดยการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาที่มีคือ การประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัวร์ปลอม ทัวร์เถื่อน หรือใบอนุญาตนำเที่ยวของมัคคุเทศก์
ส่วนทางด้านการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ อยากให้ผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มต้นจากการรับรู้ที่จะแบ่งตามช่วงอายุว่า อายุเท่าไรควรได้รับโอกาสอะไรบ้าง เพราะผู้ด้อยโอกาสหลายๆ คนยังไม่รู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตนเองจะได้รับ
ด้านการศึกษา หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ หอการค้าไทย-ไต้หวัน หอการค้าไทย-แอฟริกาใต้ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ หลักสูตรจากส่วนกลางส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนที่อยู่ในต่างจังหวัด เพราะขาดสื่อการเรียนการสอนหรือไม่เพียงพอต่อเด็กนักเรียนในชนบท
ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ ข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ ความสามารถของผู้ประกอบการด้านการบริหารจัดการ ทำให้ขาดสภาพคล่องตัวในธุรกิจ
ด้านงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมควบคุมโรค กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ การรายงานตัวของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน มีความล่าช้าและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เอกสารจำนวนมากที่มีความซับซ้อน
Change | เปลี่ยนเพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่าเคย
สุดท้ายแล้ว การระดมความคิดของคนในหน่วยงานราชการแต่ละกลุ่ม เป็นการเข้ามาเพื่อพูดคุย ร่วมทำกิจกรรม ร่วมรับรู้ปัญหาภายในหน่วยงานของตนเอง ซึ่งการใช้เวลาในการทำกิจกรรมในโครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐจะไม่สูญเปล่า ถึงแม้ว่าปัญหาของแต่ละหน่วยงานของภาครัฐจะแก้ไขได้หรือไม่นั้น ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า แต่ในวันนี้พวกเขาได้เริ่มที่จะคิด เริ่มต้นที่อยากจะทำ อยากหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ที่เคยมีมา เพียงเท่านี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว การระดมความคิดกันในครั้งนี้ อาจจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ และเข้าถึงภาครัฐได้มากขึ้น พร้อมมีความหวังว่าภาครัฐจะสามารถพัฒนาหน่วยงานของตนเองต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด