ทางม้าลาย สัญลักษณ์บนท้องถนนสำหรับเดินข้ามที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจว่า แถบขาวสลับดำที่ถูกฉาบได้แรงบันดาลใจมาจากลายสองสีของเจ้าม้าลาย แต่รู้หรือเปล่าว่าความเข้าใจที่ว่านั้นผิดมหันต์ แถมช่วงแรกทางม้าลายยังไม่ใช่สีขาว-ดำ แล้วความจริงเป็นอย่างไร คอลัมน์ Urban Tales ชวนค้นคำตอบตั้งแต่จุดแรกเริ่มของทางม้าลายไปพร้อมกัน
ก่อนไปถึงเรื่องราวของสัญลักษณ์สำหรับข้ามถนน ขอเล่าประวัติการเดินข้ามถนนสู่กันฟังเสียก่อน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณราว 2,000 ปีที่แล้วในเมืองปอมเปอี นครโรมันโบราณ ตอนนั้นใช้หินก้อนใหญ่วางต่อกันโดยเว้นช่องว่างที่พอดีทั้งคนเดินข้าม และรถม้าวิ่งผ่าน เพื่อไม่ให้คนต้องย่ำเท้าลงถนนที่ด้านใต้เป็นระบบระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูล
เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ จากสิ่งประดิษฐ์ของนครปอมเปอีที่ล่มสลาย สู่จุดเริ่มต้นของทางข้ามถนนอีกครั้งในเดือนธันวาคม ปี 1868 ที่ถนน ‘Bridge Street’ เมืองเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดของ ‘John Peake Knight’ วิศวกรทางรถไฟผู้มองหาหนทางให้ชาวเมืองข้ามถนนที่เต็มไปด้วยรถราอย่างปลอดภัย ด้วยการนำเสาหางปลา (Semaphore Arm) ซึ่งเป็นสัญญาณของทางรถไฟมาปรับใช้ โดยด้านบนติดตะเกียงแก๊ส (Gas Illuminated Lights) สีเขียวและแดง และมอบหน้าที่ให้ตำรวจเป็นคนสับเสาขึ้น-ลงเพื่อส่งสัญญาณให้คนเดิน แต่เนื่องจากตะเกียงมีส่วนผสมของแก๊สที่ง่ายต่อการระเบิด ในปี 1896 จึงยกเลิกการใช้สัญลักษณ์เสาหางปลาสำหรับการข้ามถนน และไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้เป็นเวลานานกว่า 50 ปี
เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1930 สหราชอาณาจักรออกกฎหมายสำหรับการใช้ถนนปี 1934 (Road Traffic Act 1934) ที่รถทุกประเภทต้องหยุดให้คนเดินข้ามถนน การทำสัญลักษณ์จึงหวนกลับมาอีกครั้ง แต่สมัยนั้นใช้วิธี ‘Belisha Beacons’ ซึ่งเป็นการตั้งเสาคู่ พร้อมติดไฟกะพริบสีส้มเป็นตัวบ่งบอก แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะสัญญาณลักษณะนี้นั้นง่ายต่อคนเดินถนน แต่ยากสำหรับผู้ใช้รถ จนเข้าสู่ยุค 1940 ‘Leslie Hore-Belisha’ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมพัฒนาสัญลักษณ์คนเดินข้ามสู่การใช้สีทาลงบนถนน ซึ่งทดลองใช้สารพัดคู่สีทาสลับกันด้วยความกว้าง 40 – 60 เซนติเมตร ตั้งแต่เหลือง-น้ำเงิน แดง-ขาว จนมาจบที่สีขาว-ดำ เพราะมีผลการทดลองกว่า 1,000 ครั้งทั่วสหราชอาณาจักรยืนยันว่า สีขาวและสีดำตัดกับสีถนนได้ดีและมองเห็นชัดทั้งผู้ขับขี่และคนเดินข้าม
และเมื่อการทดลองผ่านพ้น ทางม้าลายแห่งแรกของโลกจึงถูกประกาศใช้งานในปี 1951 บนถนน Abbey ถนนสายเล็กๆ ในลอนดอน โดย ‘James Callaghan’ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (1976 – 1979) มองเห็นแล้วเอ่ยปากว่า “เห็นสีขาว-ดำสลับกันบนถนนแล้วนึกถึงม้าลายเลยล่ะ” นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ทางม้าลาย’ หรือ ‘Zebra Crossing’ หลังจากนั้นสหราชอาณาจักรก็กระจายวัฒนธรรมการใช้ทางม้าลายผ่านการล่าอาณานิคม 20 ปีถัดมา ทางม้าลายแรกของโลกโด่งดังเป็นพลุแตกจนกลายเป็นแลนด์มาร์ก เพราะวงดนตรีในตำนานอย่าง ‘The Beatles’ มาเดินข้ามเพื่อถ่ายปกอัลบั้ม Abbey Road นั่นเอง
Sources :
Ground to Ground | https://bit.ly/2ZAktkl
Smithsonian Magazine | https://bit.ly/3dMIWLD