มีคำกล่าวว่า ‘ระบบขนส่งในเมืองเป็นเหมือนหลอดเลือดในร่างกาย’
ทว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ มักฉายภาพการจราจรอันแออัด ไม่มีพื้นที่ให้เมืองได้พักหายใจ พื้นที่ในเมืองถูกจับจองด้วยรถยนต์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ การขนส่งรูปแบบอื่นๆ กลายเป็นเพียงทางเลือก ไม่ใช่ทางหลักของการเดินทางในเมืองหลวง ซึ่งการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลักในการเดินทางของคนเมืองที่ไม่สอดคล้องกับผังเมืองและถนน นำมาสู่ปัญหาต่างๆ อย่างรถติด มลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางเสียง จนทำให้ระบบขนส่งที่ควรจะแข็งแรงของเมืองกลับเจ็บป่วยและปวดใจไม่ต่างกับที่เรารู้สึก
แต่หากระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพและหลากหลายเพียงพอต่อความต้องการ ก็จะส่งผลให้เมืองเติบโตขึ้น ลองไปดูตัวเลขความสามารถในการคมนาคมที่แตกต่าง ด้วยเงื่อนไขการออกแบบให้ถนนมีขนาดที่เท่ากันหมด 3 เมตร และทุกอย่างไหลลื่นไม่ติดขัด ผ่านการใช้รูปแบบการขนส่ง 4 รูปแบบ ตั้งแต่ถนนสำหรับรถยนต์ส่วนตัว ช่องทางสำหรับจักรยาน ทางเดินเท้า และช่องทางเฉพาะสำหรับขนส่งสาธารณะ ว่าภายใน 1 ชั่วโมง ถนนสายหนึ่งเคลื่อนย้ายผู้คนได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำกลับมาคิดกันต่อว่าเราอยากให้ทิศทางเมืองของเราเป็นแบบไหนในอนาคต
Car Lane ถนนสำหรับรถยนต์ส่วนตัว เคลื่อนย้ายคนได้เฉลี่ย 1,600 คนต่อชั่วโมง
กรณีมีคนนั่งในรถ 1 – 2 คน จะเห็นได้ว่ารูปแบบการขนส่งด้วยรถยนต์ส่วนตัว เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายคนได้น้อยที่สุด ถ้าเทียบกับการขนส่งประเภทอื่นๆ แต่กลับมีปริมาณการใช้งานมากที่สุดในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่ควรจะเป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางกลับไม่ตอบโจทย์การใช้งาน อาทิ รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงพื้นที่ชานเมือง รถเมล์น้อย ทำให้ผู้คนต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางแทนการใช้ขนส่งสาธารณะ ทว่านอกจากจะเคลื่อนย้ายผู้คนได้น้อยแล้ว รถยนต์ส่วนตัวยังส่งผลเสียต่อเมืองมากกว่าขนส่งรูปแบบอื่น ในเรื่องของมลพิษจากท่อไอเสีย มลภาวะทางเสียง เป็นต้น
Bike Lane ช่องทางสำหรับจักรยาน เคลื่อนย้ายคนได้เฉลี่ย 7,500 คนต่อชั่วโมง
หากเราเปลี่ยนถนนสำหรับรถยนต์ให้เป็นช่องทางสำหรับจักรยาน ซึ่งข้อดีของช่องทางดังกล่าวสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้ประชากรออกกำลังกายทางอ้อมไปในตัว ทว่าทางจักรยานในกรุงเทพฯ ดันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาจเพราะเส้นทางรอบตัวเมืองไม่เชื่อมต่อกัน ก่อให้เกิดความลำบากในการขับขี่ เพราะมักถูกกีดขวางด้วยสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น มีท่อระบายน้ำบนเส้นทางซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เส้นทางจักรยานกลายเป็นร้านค้าข้างทาง หรือถูกจับจองด้วยรถจักรยานยนต์และเป็นพื้นที่ที่จอดรถในที่สุด
Sidewalk ทางเดินเท้า เคลื่อนย้ายคนได้เฉลี่ย 9,000 คนต่อชั่วโมง
การเดินทางด้วยการเดินเท้าเป็นรูปแบบการขนส่งซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นวิธีการขนส่งในระยะสั้นที่มีประสิทธิภาพและทุกคนเท่าเทียมกันหมด นอกจากนั้น ยังเป็นการเดินทางที่ถูก ง่าย ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น การมีทางเท้าดีๆ จะช่วยดึงดูดคนจากท้องถนนให้มาเดินบนทางเท้ามากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหารถติด ปัญหามลพิษทางอากาศ เรายังคงหวังว่ากรุงเทพฯ จะหันกลับมาให้ความสนใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางเดินเท้ามากขึ้น เพื่อให้เราทุกคนในเมืองได้เดินมองหน้ากัน มากกว่าการมองพื้นเพราะกลัวจะสะดุดเข้ากับท่อระบายน้ำหรือชนเสาไฟฟ้าเข้าสักวัน
Transiteway ช่องทางสำหรับขนส่งสาธารณะ เคลื่อนย้ายคนได้เฉลี่ย 10,000 – 25,000 คนต่อชั่วโมง
ถนนสำหรับรถเมล์หรือระบบรถรางโดยเฉพาะ เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้คนมากที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวกับขนส่งสาธารณะ จะเห็นได้ว่าตัวเลขความสามารถในการขนส่งของรถสาธารณะมีตัวเลขสูงกว่ารถยนต์ส่วนตัวถึง 15 เท่า และที่สำคัญไปกว่านั้น เพราะเป็นรูปแบบการบริการสาธารณะที่มีเส้นทาง ตารางการเดินทางแน่นอน ทำให้ง่ายต่อการคิดคำนวณระยะทางและเวลาเดินทางของผู้ใช้งาน เหมาะกับการเป็นการเดินทางหลักในเมืองหลวงซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเดินทางในเมืองไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งไม่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ช่วยให้เมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย และยังเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคนในสังคม
เมื่อมีรูปแบบการขนส่งดี คุณภาพชีวิตก็จะดีเช่นกัน
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการขนส่งประเภทต่างๆ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของระบบขนส่ง และมันคงจะดีหากถนนหนทางในกรุงเทพฯ ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันที่หลากหลายมากไปกว่าการเป็นถนนหนทางสำหรับรถยนต์ส่วนตัว และเมื่อระบบขนส่งที่เป็นดั่งหลอดเลือดในร่างกายดี ย่อมมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาในด้านอื่นอย่างพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไป โครงสร้างพื้นฐานที่กล่าวมาก็จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ที่มีชื่อว่า ‘กรุงเทพมหานคร’
Sources:
Bangkok | https://bit.ly/38TqqOM
NACTO | https://nacto.org/
Surames | https://bit.ly/39DEQli